เปิดวิชัน “วิชาค รามัน” (Vishak Raman) ผู้ดูแลงานขายในโซนเอเชียให้บริษัทรักษาความปลอดภัยไซเบอร์รายใหญ่อย่างฟอร์ติเน็ต (Fortinet) ย้ำเห็นดีมานด์ในตลาดสูงมากหลังเศรษฐกิจดิจิทัลไทยส่งสัญญาณเติบโตโดดเด่น มั่นใจเงินสะพัดใช้จ่ายคล่อง แม้ที่ผ่านมาไทยจะมีสัดส่วนการลงทุนไซเบอร์ซิเคียวริตีต่อจีดีพีต่ำกว่าประเทศอย่างสิงคโปร์และออสเตรเลีย ชี้ภัยไซเบอร์ไม่ใช่ปัญหาไวรัสที่ทำเครื่องคอมพิวเตอร์แฮงก์อีกต่อไปแล้ว แต่เป็นปัญหาระดับชาติที่ทุกฝ่ายในประเทศต้องร่วมมือและมองไปที่เป้าหมายเดียวกัน
นายวิชาค รามัน รองประธานฝ่ายขายของฟอร์ติเน็ต (Fortinet) ผู้ดูแลธุรกิจบริการรักษาความปลอดภัยไซเบอร์ในตลาดอินเดีย เอเชียใต้ เอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ฮ่องกง ออสเตรเลียและนิวซีแลนด์ กล่าวให้สัมภาษณ์ในงาน Accelerate Asia 2023 ว่าธุรกิจฟอร์ติเน็ตในตลาดไซเบอร์ซิเคียวริตีไทยยังคงมีสัญญาณขยายตัวต่อเนื่อง ขณะเดียวกัน น่าตื่นเต้น และเร่งความเร็วขึ้นอย่างชัดเจน เนื่องจากแนวโน้มภัยโจมตีไซเบอร์ในปัจจุบันที่เปลี่ยนไป ทำให้เกิดการตื่นตัวที่มากขึ้นกว่าปีที่ผ่านมา
“การโจมตีไซเบอร์วันนี้เปลี่ยนไปแล้ว ไม่ใช่การหวังขโมยข้อมูลอีกต่อไป แต่เป็นภัยแบบองค์รวมที่กลับมาที่เราได้ การที่อาชญากรไซเบอร์รวมกลุ่มกันมากขึ้น และบริการรับจ้างปล่อยแรมซัมแวร์นั้นเพิ่งแพร่หลายในช่วงไม่กี่ปีที่ผ่านมา ไม่ได้มีมานานแล้ว แต่เป็นการทรานส์ฟอร์มจากการโจมตีแบบกว้างๆ มาเป็นการเจาะจงเฉพาะคน มีเทคนิคมากขึ้น ทั้งหมดนี้เป็นปัญหาในยุคที่ทุกอย่างเชื่อมถึงกันได้หมด ดังนั้นระบบดิจิทัลจึงจำเป็นต้องปลอดภัย และต้องมีการร่วมมือกันทุกส่วน ทั้งตำรวจ ภาครัฐ เอกชนจะต้องมีเป้าหมายเดียวกัน"
วิชาค อธิบายเพิ่มว่าภาพรวมภัยคุกคามที่เปลี่ยนแปลงไป การขาดแคลนคนที่มีทักษะด้านความปลอดภัยในโลกไซเบอร์ และความนิยมทำงานจากทุกที่ ล้วนทำให้เครือข่ายและการรักษาความปลอดภัยแบบเดิมไม่สามารถใช้งานได้กับธุรกิจดิจิทัลในปัจจุบันอีกต่อไป องค์กรต่างๆ ต้องหาวิธีการแบบผสมผสานที่ต้องรวมเครือข่ายและการรักษาความปลอดภัยเข้าด้วยกัน เพื่อลดความซับซ้อนในการควบคุม ขณะเดียวกัน ยังรักษาความปลอดภัยขั้นสูงและเชื่อมต่อผู้ใช้แบบไฮบริด ได้ด้วยประสิทธิภาพที่เหนือกว่า
ในอีกด้าน ไซเบอร์ซิเคียวริตียังกลายเป็นปัญหาของชุมชน ไม่ใช่ปัญหาไวรัสที่ทำให้คอมพิวเตอร์ใช้งานไม่ได้อีกต่อไปแล้ว ทำให้ทุกประเทศควรต้องมีการตื่นตัวที่ดีขึ้นจากอดีต ทั้งกลุ่มประชาชน ชุมชน และรัฐ ที่เริ่มเข้าใจว่าไซเบอร์ซิเคียวริตีเป็นปัญหาแห่งชาติ อย่างไรก็ตาม สถิติปี 2019 ชี้ว่าไทยมีสัดส่วนค่าใช้จ่ายด้านความปลอดภัยทางไซเบอร์คิดเป็น 0.06% ของผลิตภัณฑ์มวลรวม ถือว่ายังต่ำเมื่อเทียบกับประเทศอื่นในภูมิภาค เช่น สิงคโปร์ และออสเตรเลีย
วิชาคมองว่านอกจากไทยควรจะใช้จ่ายเงินมากขึ้นเพื่อป้องกันความเสี่ยงและสร้างความมั่นใจให้ประชาชน ประเทศไทยยังควรมีการร่วมมือระหว่างภาคเอกชนและภาครัฐที่มากขึ้น โดยเฉพาะการแบ่งปันด้านนโยบายที่จะทำให้เกิดความร่วมมือที่เหนียวแน่นกว่าเดิม
จากการพบปะกับลูกค้าและพันธมิตรในประเทศไทย วิชาค พบว่า ตลาดไทยมีความต้องการการรักษาความปลอดภัยไซเบอร์สูงมากในองค์กรทุกขนาด โดยเฉพาะกลุ่มภาครัฐ เอกชน และผู้ให้บริการโทรคมนาคม เบื้องต้น ได้วางเป้าหมายธุรกิจในไทยปีนี้ไว้ที่ 3 ส่วน ได้แก่ การมุ่งให้บริการรักษาความปลอดภัยไซเบอร์ที่รองรับกับอุปกรณ์ทุกค่ายและทุกเส้นทางที่ลูกค้าใช้งาน (แพลตฟอร์มเจอร์นี่) การให้ความสำคัญกับทีมงานไทยที่มีคุณภาพดีมากอยู่แล้ว และการรักษาความเป็นผู้นำในตลาด ให้ฟอร์ติเน็ตเป็นตัวเลือกแรกของตลาดไทยต่อไป
ในภาพรวม วิชาคเห็นแนวโน้มของตลาดและอุตสาหกรรมซิเคียวริตีไทยที่สำคัญ 3 ส่วน ได้แก่ การบรรจบกันและการรวม (convergence และ consolidation) ของระบบรักษาความปลอดภัยทุกอุปกรณ์ในเครือข่ายจะเป็นตัวขับเคลื่อนการเติบโตในระยะยาวของตลาดรักษาความปลอดภัยไซเบอร์ จุดนี้ สถาปัตยกรรมเครือข่ายและความปลอดภัยแบบดั้งเดิมจะใช้ไม่ได้อีกต่อไป ส่วนที่ 2 คือการระเบิดของเอดจ์และคลาวด์คอมพิวติ้ง เมื่อรวมกับการเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็วไปสู่การทำงานจากทุกที่ ทำให้ต้องใช้วิธีการแบบผสมผสานที่รวมเอาเครือข่ายและความปลอดภัยเข้าไว้ด้วยกัน สิ่งนี้ทำให้เกิดบริการกลุ่ม Secure SD-WAN ที่จะเน้นสร้างการเชื่อมต่อมีประสิทธิภาพสูงและปลอดภัย รองรับปริมาณงานได้คล่องตัว แบบที่องค์กรในปัจจุบันต้องการ
ส่วนที่ 3 คือการปกป้องระบบปฏิบัติงานหรือ OT ที่จะต้องรวมกับระบบไอที IT ความท้าทายขององค์กรวันนี้คือปัญหาเรื่องระบบการปกป้องแยกจากกัน ทำให้ยากต่อการดูแล ดังนั้นจึงต้องมีการปรับใช้เฟรมเวิร์กใหม่ที่สร้างความมั่นใจได้ว่าจะไม่มีช่องโหว่ ความท้าทายของเรื่องนี้อยู่ในระดับสูงมากเพราะระบบ OT ดั้งเดิมไม่มีแอนติไวรัส และการสำรวจพบว่า 75% ของระบบ OT ในองค์กรทั่วโลกเคยถูกโจมตีอย่างน้อย 1 ครั้ง ดังนั้นเครือข่ายจึงต้องมีไฟร์วอลล์ที่ดี ต้องบอกได้ว่าธุรกรรมไหนมีภัยอย่างไม่มีการประนีประนอม ดังนั้นองค์กรในปัจจุบันจึงต้องมีเฟรมเวิร์กใหม่ที่ระบบเน็ตเวิร์กและซิเคียวริตีทำงานไปด้วยกัน
นอกจาก OT ในงาน Accelerate Asia 2023 ฟอร์ติเน็ตยังได้เปิดเผยผลสำรวจล่าสุดในภูมิภาคเอเชีย-แปซิฟิกที่ตอกย้ำความท้าทายความปลอดภัยเน็ตเวิร์กในยุคการทำงานจากทุกที่ หรือไฮบริดเวิร์กขององค์กรไทยด้วย โดยฟอร์ติเน็ตพบว่า 30% ของอุปกรณ์ที่เชื่อมต่อกับเครือข่ายในประเทศไทยยังไม่ได้รับการจัดการ ส่งผลต่อความเป็นไปได้ในการละเมิดด้านความปลอดภัย และผู้ตอบแบบสำรวจในประเทศไทยคาดว่าตัวเลขนี้จะเพิ่มขึ้น โดย 64% คาดการณ์ว่าจะเพิ่มขึ้น 50% ภายในปี 2025
ในอีกด้าน ไฮบริดเวิร์กยังทำให้พนักงานขององค์กรไทยต้องการการเชื่อมต่อกับคลาวด์แอปพลิเคชันของบริษัทอื่น (Third-Party) มากกว่า 40 รายการ ซึ่งเพิ่มความเสี่ยงต่อการถูกละเมิดด้านความปลอดภัย และในอีก 2 ปีข้างหน้า 100% ของผู้ตอบแบบสอบถามในประเทศคาดว่าตัวเลขดังกล่าวจะเพิ่มขึ้นถึง 2 เท่า ในขณะที่ผู้ตอบมากกว่า 60% เชื่อว่าตัวเลขนี้จะเพิ่มขึ้นเป็น 3 เท่า ซึ่งมีผลต่อความเสี่ยงที่จะรุนแรงยิ่งขึ้น ทำให้การดูแลรักษาความปลอดภัยของเครือข่ายไปพร้อมกับการสร้างความมั่นใจในการเชื่อมต่อของพนักงานไปยังบุคคลที่สาม และบริการบนคลาวด์เป็นความท้าทายที่สำคัญ เนื่องจากมาตรการรักษาความปลอดภัยแบบเดิมยังไม่เพียงพอ
ขณะเดียวกัน 34% ขององค์กรที่ตอบรับการสำรวจในประเทศไทยระบุว่า พบการละเมิดมากกว่าถึง 3 เท่า และจากการสำรวจพบว่า 72% ของผู้ตอบแบบสอบถามในประเทศไทยเคยประสบกับการโจมตีด้านความปลอดภัยที่เพิ่มขึ้นอย่างน้อย 2 เท่า โดยรูปแบบการโจมตีซิเคียวริตีที่อยู่ในอันดับต้นๆ คือ การทำฟิชชิง การโจรกรรมข้อมูล แรนซัมแวร์ และการสูญหายของข้อมูล
ทั้งหมดนี้ล้วนเป็นสัญญาณว่า ตลาดไซเบอร์ซิเคียวริตีไทยปีนี้ฉลุยต่อเนื่องแน่นอน