xs
xsm
sm
md
lg

เผยความจริงผู้ชนะประมูลทางยกระดับลาดกระบัง เสนอต่ำกว่าราคากลาง 4.5 แสน

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



เผยข้อเท็จจริง กิจการร่วมค้า ธาราวัญ-นภา ชนะประกวดราคา “ทางยกระดับ อ่อนนุช-ลาดกระบัง” เสนอต่ำกว่าราคากลาง 4.5 แสนบาท จากโครงการ 1,665 ล้านบาท

รายงานพิเศษ

เหตุทางยกระดับอ่อนนุช-ลาดกระบัง ที่อยู่ระหว่างการก่อสร้างเกิดถล่มลงมาเมื่อช่วงเย็นวันที่ 10 กรกฎาคม 2566 เป็นแนวยาวประมาณ 600 เมตร จากโครงการที่มีความยาว 3,500 เมตร ทำให้เกิดความเสียหายอย่างมาก มีผู้เสียชีวิตแล้ว 2 ราย บาดเจ็บอย่างน้อย 16 ราย และทำให้มีคำถามเกิดขึ้นมากมายเกี่ยวกับความปลอดภัยของประชาชนที่ต้องเดินทมางผ่านพื้นที่ก่อสร้างสะพานหรือทางยกระดับเช่นนี้ รวมทั้งทำให้เกิดคำถามต่อมาตรฐานการก่อสร้างและความโปร่งใสในกระบวนการจัดซื้อจัดข้างของกรุงเทพมหานครด้วย

เมื่อตรวจสอบเอกสารบางส่วนในกระบวนการจัดจ้างโครงการนี้ พบเอกสาร “ประกาศเชิญชวน” ซึ่งกรุงเทพมหานคร ออกประกาศเชิญชวนให้ผู้รับเหมาเข้ามาร่วมประกวดราคาเพื่อก่อสร้างทางยกระดับเส้นนี้ เมื่อวันที่ 13 มกราคม 2563 โดยใช้วิธีประกวดราคาอิเล็กทรอนิกส์ (e-bidding)


โดยเนื้อหาในประกาศเชิญชวน ระบุว่า โครงการนี้มีงาน 2 ส่วน คือ งานก่อสร้างทางยกระดับอ่อนนุช-ลาดกระบัง และ งานระบบไฟฟ้า ซึ่งการไฟฟ้านครหลวงร่วมประกวดราคาด้วย “ราคากลาง” รวม 1,938,808,720 บาท

แยกเป็นราคากลาง งานของการไฟฟ้านครหลวง 273,808,720 บาท ... และเป็น ราคากลางงานก่อสร้างทางยกระดับในส่วนของกรุงเทพมหานคร 1,665,000,000 (หนึ่งพันหกร้อยหกสิบห้าล้านบาทถ้วน)


ต่อมากรุงเทพมหานครออกประกาศผู้ชนะการประกวดราคา เมื่อวันที่ 24 มิถุนายน 2563 โดยมี “กิจการร่วมค้า ธาราวัญ-นภา”เป็นผู้เสนอราคาต่ำที่สุด คือ 1,938,300,000 บาท ซึ่งเป็นวงเงินที่ต่ำกว่าราคากลาง 508,720 บาท จากโครงการกว่า 1,900 ล้านบาท

เมื่อมาดูเฉพาะราคาในส่วนของงานก่อสร้างทางยกระดับ “กิจการร่วมค้า ธาราวัญ-นภา” ผู้ชนะการประกวดราคา เสนอราคามาที่ 1,664,550,000 บาท ต่ำกว่าราคากลางที่กรุงเทพมหานครตั้งไว้ 450,000 (สี่แสนห้าหมื่นบาท)

หลังการประกวดราคา มีหนึ่งในผู้ร่วมแข่งขันประกวดราคา คือ บริษัท โชคดีวิศวภัณฑ์ก่อสร้าง ได้ยื่นอุทธรณ์คัดค้าน แต่กรุงเทพมหานครให้ข่าวเมื่อวันที่ 14 มกราคม 2564 โดยผู้อำนวยการสำนักการโยธาในขณะนั้น ยืนยันตรวจสอบแล้วพบว่า ไม่มีมูลตามเรื่องคัดค้าน จึงดำเนินการทำสัญญาว่าจ้างในเวลาต่อมา

และกรุงเทพมหานคร ทำสัญญาจ้างก่อสร้าง “กิจการร่วมค้า ธาราวัญ-นภา” เมื่อวันที่ 22 กุมภาพันธ์ 2564 มี “นางสุพัตรา พัฒนศิริ” ลงนามเป็นเป็นผู้รับจ้าง


โครงการนี้ใช้วิธี ประกวดราคาอิเล็กทรอนิกส์ (e-bidding) ซึ่งวิธีนี้ผู้เข้าเสนอราคาแต่ละรายที่ผ่านการตรวจสอบคุณสมบัติแล้ว จะเสนอราคาทางอิเล็กทรอนิกส์ ได้เพียงรายละ 1 ครั้งเท่านั้น และผู้ที่เสนอราคาต่ำที่สุด หรือหมายความว่า เป็นราคาที่หน่วยงานของรัฐต้องจ่ายเงินน้อยที่สุดตามแบบแปลนกลางที่หน่วยงานออกแบบไว้ ก็จะเป็นผู้ชนะประกวดราคาทันที ... ในกรณีเฉพาะโครงการก่อสร้างทางยกระดับอ่อนนุช-ลาดกระบัง พบว่า “กิจการร่วมค้า ธาราวัญ-นภา” เสนอราคาตามวิธี e-bidding ด้วยราคาที่ตำกว่าราคากลาง 4.5 แสนบาท จากมูลค่าโครงการ 1,665 ล้านบาท


ย้อนดูประกาศ กทม. ระบุคุณสมบัติผู้มีสิทธิเข้าเสนอราคา “ทางยกระดับอ่อนนุช-ลาดกระบัง” ต้องเป็นผู้รับจ้างเหมางานทางชั้น 1 และต้องเคยทำโครงการแบบเดียวกันในวงเงิน 500 ล้านบาท

กลับมาดูที่เอกสาร “ประกาศเชิญชวนเข้าร่วมประกวดราคา” วันที่ 13 มกาคม 2563 ซึ่งนอกจากการกำหนดราคากลาง (เฉพาะทางยกระดับ) ที่ 1,665 ล้านบาท ในเอกสารฉบับนี้ ยังระบุถึง “คุณสมบัติของผู้มีสิทธิเข้าร่วมประกวดราคา” ไว้ด้วย โดยส่วนใหญ่ เป็นคุณสมบัติทั่วไปเหมือนโครงการอื่นๆ เช่น ต้องไม่ติดแบล็กลิสต์ ไม่เคยทิ้งงาน ไม่มีลักษณะต้องห้าม ไม่มีผลประโยชน์ร่วมกับผู้เข้าเสนอราคารายอื่น แต่มีคุณสมบัติบางข้อ ที่ระบุถึง “ความสามารถในการก่อสร้าง” ไว้ด้วย คือ


ข้อ 10 ผู้เข้าเสนอ ต้องเป็นผู้ที่จดทะเบียนเป็นผู้รับจ้างเหมางานก่อสร้างของกรุงเทพมหานคร ในประเภท “งานทาง ชั้น 1”


ข้อ 11 ผู้เข้าเสนอ ต้องมีผลงานก่อสร้างประเภทเดียวกันกับงานที่ประกวดราคาจ้างก่อสร้าง สัญญาเดียวในราคาวงเงินที่ไม่น้อยกว่า 500 ล้านบาท และเป็นสัญญาที่เป็นคู่สัญญาโดยตรงกับหน่วยงานของรัฐ หรือหน่วยงานเอกชนที่กรุงเทพมหานครเชื่อถือ

นอกจากนี้ในเอกสารประกาศเชิญชวน ยังระบุถึงคุณสมบัติของเข้าเสนอราคา ในกรณีที่เป็นกิจการร่วมค้าด้วย

การเสนอราคาครั้งนั้น มีขึ้นในวันที่ 12 กุมภาพันธ์ 2563


ข้อมูลเพิ่มเติม การจัดจ้างก่อสร้างทางยกระดับอ่อนนุช-ลาดกระบัง ที่ถล่มลงมา

ไปพบข้อมูลเพิ่มเติม จาก actai.co (องค์กรต่อต้านคอรัปชั่น) ว่า โครงการนี้ เคยจัดประกวดราคามาก่อนแล้ว 2 ครั้งก่อนนี้


ครั้งที่ 1 ธาราวัญ-นภา ไม่ได้เข้าประกวดราคา โดยมี บ.โชคดีวิศวภัณฑ์ เสนอต่ำหว่าราคากลาง 6.1 ล้านบาท ... แต่เหมือนถูกยกเลิกไป


ครั้งที่ 2 ธาราวัญ-นภา เข้าร่วม แต่เสนอราคาเฉพาะระบบไฟฟ้า และโชคดีวิศวภัณฑ์ ก็เสนอต่ำกว่าราคากลาง 6.1 ล้านอีก แต่เหมือนถูกยกเลิกไปอีก


ครั้งที่ 3 มี กิจการร่สมค้า ธาราวัญ-นภา เข้าประกวดราคาเพียงรายเดียว ...จีงเสนอต่ำกว่าราคากลาง รวมทั้งทางยกระดับและระบบไฟฟ้า 5.8 แสนบาท และชนะไปเลย เพราะไม่มีคู่แข่ง

หลังจากนั้น บ.โชคดีวิศวภัณฑ์ ก็มาร้องเรียนกับ กทม. ก่อนที่ กทม.จะแถลงว่า คำร้องไม่มีมูล

ตรวจสอบเพิ่มกับเจ้าหน้าที่ สตง. ได้ข้อมูลว่า ถ้าการประกวดราคามาถึงรอบที่ 3 ระเบียบอนุญาตให้ไม่ต้องมีคู่เทียบมาแข่งขันได้

แต่ที่ต้องค้นหาต่อไป คือ เหตุผลในการยกเลิกผลของ 2 รอบแรก คืออะไร ... ทำไมถึงต้องประกวดราคาใหม่ และทำไมรอบที่ 3 ถึงเหลือผู้เข้าแข่งขันเพียงรายเดียว


* ตรวจสอบล่าสุด ได้ข้อมูลจากแหล่งข่าวว่า บ.โชคดีวิศวภัณฑ์ ที่เสนอต่ำกว่าราคากลาง 6.1 ล้านบาท ถูกตรวจสอบว่าไม่ผ่านคุณสมบัติ เพราะไม่เคยทำงานลักษณะนี้ที่มีมูลค่าสัญญาถึง 500 ล้านบาท เคยทำเพียง 400 กว่าล้านบาท

เพราะใน คุณสมบัติผู้มีสิทธิเข้าเสนอราคา ข้อ 11 เขียนไว้ว่า ผู้เข้าเสนอ ต้องมีผลงานก่อสร้างประเภทเดียวกันกับงานที่ประกวดราคาจ้างก่อสร้าง สัญญาเดียวในราคาวงเงินที่ไม่น้อยกว่า 500 ล้านบาท และเป็นสัญญาที่เป็นคู่สัญญาโดยตรงกับหน่วยงานของรัฐ หรือหน่วยงานเอกชนที่กรุงเทพมหานครเชื่อถือ

และใน ข้อที่ 10 ยังระบุด้วยว่า ข้อ 10 ผู้เข้าเสนอ ต้องเป็นผู้ที่จดทะเบียนเป็นผู้รับจ้างเหมางานก่อสร้างของกรุงเทพมหานคร ในประเภท “งานทาง ชั้น 1”

ในรอบที่ 3 จึงเหลือผู้เข้าเสนอราคาเพียงรายเดียว
กำลังโหลดความคิดเห็น