xs
xsm
sm
md
lg

ปัญหารุมรถไฟ "ไทย-จีน" ก่อสร้างดีเลย์หนัก ทับซ้อน 3 สนามบิน-ปรับแบบโคราช งบบานเกือบ 5 พันล้าน

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



โครงการรถไฟความเร็วสูง (ไฮสปีดเทรน) ของไทยมี 4 เส้นทาง ได้เริ่มดำเนินการสายแรก คือ โครงการความร่วมมือรถไฟ "ไทย-จีน" เส้นทางกรุงเทพฯ-นครราชสีมา ระยะทาง 250.77 กม. วงเงินลงทุน 179,412.21 ล้านบาท โดยรัฐบาลไทย และจีนมีการลงนามบันทึกความเข้าใจ ( MOU) เมื่อวันที่ 19 ธ.ค. 2557 หรือเกือบ 9 ปีแล้ว ส่วนสายที่ 2 คือ โครงการรถไฟความเร็วสูงเชื่อมสามสนามบิน (ดอนเมือง-สุวรรณภูมิ-อู่ตะเภา) ระยะทาง 220 กม. วงเงินลงทุนสูงถึง 224,544 ล้านบาท เซ็นสัญญาร่วมทุนฯ เอกชนเมื่อวันที่ 24 ต.ค. 2564 ถึงวันนี้ยังไม่ได้เริ่มสร้าง แต่ยังคาดหวังว่าทั้ง 2 โครงการจะเปิดบริการในปี 2570

@ รถไฟ "ไทย-จีน" ก่อสร้าง 6 ปี ผลงานแค่ 21.69% 

ในการพัฒนาระบบรถไฟความเร็วสูงภายใต้ความร่วมมือระหว่างรัฐบาลแห่งราชอาณาจักรไทยกับรัฐบาลแห่งสาธารณรัฐประชาชนจีน ระยะที่ 1 ช่วงกรุงเทพฯ-นครราชสีมา ระยะทาง 250.77 กม. มีงานที่เกี่ยวข้องประกอบด้วย

 1. สัญญา 2.1 (ออกแบบฯ งานโยธา) ปัจจุบันงานแล้วเสร็จ

2. สัญญา 2.2 (ควบคุมงานโยธา) เริ่มงานเมื่อ 21 ธ.ค. 2560 อยู่ระหว่างดำเนินงานตามสัญญา โดยได้มีการลงนามแก้ไขแนบท้ายสัญญา 2.2 เมื่อวันที่ 15 มีนาคม 2565 ณ สถานเอกอัครราชทูตสาธารณรัฐประชาชนจีนประจำประเทศไทย และสถานเอกอัครราชทูตไทย ณ กรุงปักกิ่ง

3. สัญญา 2.3 (ราง ระบบไฟฟ้าและเครื่องกล จัดหาขบวนรถไฟ และจัดฝึกอบรมบุคลากร) ลงนามสัญญาเมื่อวันที่ 28 ต.ค. 2563 วงเงิน 50,633.50 ล้านบาท เริ่มงานออกแบบวันที่ 22 ธ.ค. 2563 โดยผู้รับจ้างดำเนินงานออกแบบตามสัญญาเบื้องต้นเสร็จแล้ว อยู่ระหว่างฝ่ายไทยตรวจสอบ ก่อนแจ้งผู้รับจ้างต่อไป ปัจจุบันผู้รับจ้างอยู่ระหว่างดำเนินการจัดหาวัสดุ อุปกรณ์งานระบบฯ

4. การก่อสร้างงานโยธา ระยะทาง 250.77 กม. แบ่งออกเป็น 14 สัญญา โดยก่อสร้างเสร็จไปเพียงสัญญาเดียว คือ สัญญา 1-1 ช่วงกลางดง-ปางอโศก ระยะทาง 3.5 กม. ซึ่งเริ่มก่อสร้างเมื่อวันที่ 21 ธ.ค. 2560 มีกรมทางหลวง (ทล.) เป็นผู้ก่อสร้าง ใช้เวลากว่า 2 ปี 6 เดือน กว่าจะเสร็จ

ปัจจุบันอยู่ระหว่างก่อสร้าง 10 สัญญา ส่วนอีก 3 สัญญายังติดปัญหาระหว่างดำเนินการจัดซื้อจัดจ้าง โดยงานโยธา ณ วันที่ 25 พ.ค. 2566 มีความก้าวหน้าภาพรวมอยู่ที่  21.691% ล่าช้า 40.072% (แผนงาน 61.763%) 


@10 สัญญาดีเลย์อ่วม อีก 3 สัญญาเร่งปิดดีลเริ่มสร้างในปี 66

สำหรับงานโยธา 10 สัญญาที่อยู่ระหว่างก่อสร้าง ประกอบด้วย

- สัญญา 2-1 ช่วงสีคิ้ว-กุดจิก ระยะทาง 11 กม. วงเงิน 3,114.98 ล้านบาท มี บจ.ซีวิลเอ็นจีเนียริง เป็นผู้ก่อสร้าง คืบหน้า 98.36% ล่าช้า 1.64%

- สัญญา 3-2 อุโมงค์มวกเหล็กและลำตะคอง ระยะทาง 12.23 กม. วงเงิน 4,279 ล้านบาท มี บมจ.เนาวรัตน์ พัฒนาการ เป็นผู้ก่อสร้าง คืบหน้า 24.13 % ล่าช้า 47.67%

- สัญญา 3-3 ช่วงบันไดม้า-ลำตะคอง ระยะทาง 26.10 กม. วงเงิน 9,838 ล้านบาท มี บจ.ไทย เอ็นยิเนียร์ และอุตสาหกรรมเป็นผู้ก่อสร้าง คืบหน้า 25.55% ล่าช้า 65.55%

- สัญญา 3-4 ช่วงลำตะคอง-สีคิ้ว และช่วงกุดจิก-โคกกรวด ระยะทาง 37.45 กม. วงเงิน 9,848 ล้านบาท มี บมจ.อิตาเลียนไทย ดีเวล๊อปเมนต์ เป็นผู้ก่อสร้าง คืบหน้า 56.65% ล่าช้า 29.86%

- สัญญา 3-5 ช่วงโคกกรวด-นครราชสีมา ระยะทาง 12.38 กม. วงเงิน 7,750 ล้านบาท มีกิจการร่วมค้า SPTK (นภาก่อสร้าง ร่วมกับรับเหมาประเทศมาเลเซีย) เป็นผู้ก่อสร้าง คืบหน้า 4.20% ล่าช้า 78.88%

- สัญญา 4-2 ช่วงดอนเมือง-นวนคร ระยะทาง 21.80 กม. วงเงิน10,570 ล้านบาท มี บมจ.ยูนิค เอ็นจิเนียริ่งแอนด์ คอนสตรัคชั่นเป็นผู้ก่อสร้าง คืบหน้า 0.17% ล่าช้า 9.72%

- สัญญา 4-3 ช่วงนวนคร-บ้านโพ ระยะทาง 23 กม. วงเงิน 11,525.35 ล้านบาท มีกิจการร่วมค้า CAN (บจ.เอ.เอสแอสโซศซิเอท เอนยิเนียริ่ง (1964), บมจ.เนาวรัตน์พัฒนาการ และ บริษัท ไชน่า สเตท คอนสตรัคชั่น เอนยิเนียริ่ง คอร์ปอเรชั่น ลิมิเต็ด เป็นผู้ก่อสร้าง คืบหน้า 12.34% ล่าช้า 65.92%

- สัญญา 4-4 งานศูนย์ซ่อมบำรุงเชียงรากน้อย วงเงิน 6,573 ล้านบาท มี บมจ.อิตาเลียนไทย ดีเวล๊อปเมนต์ เป็นผู้ก่อสร้าง คืบหน้า 0.07% ล่าช้า 12.32%

- สัญญา 4-6 ช่วงพระแก้ว-สระบุรี ระยะทาง 31.60 กม. วงเงิน 9,429 ล้านบาท มี บมจ.ยูนิค เอ็นจิเนียริ่ง แอนด์ คอนสตรัคชั่น เป็นผู้ก่อสร้าง คืบหน้า 0.28% ล่าช้า 22.13%

- สัญญา 4-7 ช่วงสระบุรี-แก่งคอย ระยะทาง 12.99 กม. วงเงิน 8,560 ล้านบาท มี บมจ.ซีวิลเอนจีเนียริง เป็นผู้ก่อสร้าง คืบหน้า 40.01% ล่าช้า 42.45%


ส่วนอีก 3 สัญญานั้น มี 2 สัญญาที่ประกวดราคาแล้วแต่ยังไม่สามารถลงนามได้ คือ สัญญา 4-5 ช่วงบ้านโพ-พระแก้ว ระยะทาง 13.30 กม. วงเงิน 9,913 ล้านบาท เนื่องจากสถานีอยุธยาติดมรดกโลก โดยเมื่อวันที่ 23 มี.ค. 2566 คณะกรรมการ (บอร์ด) การรถไฟแห่งประเทศไทย (รฟท.) อนุมัติการสั่งจ้างบริษัท บุญชัยพาณิชย์ (1979) จำกัด ลงนามจ้างผู้รับเหมาแบบมีเงื่อนไขในช่วงรอ EIA ฉบับปรับปรุง

ปัจจุบันอ รฟท.อยู่ระหว่างรออัยการสูงสุดพิจารณาตรวจสอบร่างเงื่อนไขสัญญา

สัญญาที่ 3-1 ช่วงแก่งคอย-กลางดง และปางอโศก-บันไดม้า ระยะทาง 30.21 กม. วงเงิน 9,348 ล้านบาท ติดประเด็นเรื่องศาลปกครองโดยศาลปกครองสูงสุดได้มีคำสั่งชี้ขาดข้อพิพาทแล้ว โดยกิจการร่วมค้า ITD ได้แจ้งยืนราคาแล้ว คาดว่าจะลงนามในสัญญาได้ภายในเดือน ก.ค. 66

คงเหลือสัญญา 4-1 ช่วงบางซื่อ-ดอนเมือง ระยะทาง 15.21 กม.ซึ่งเป็นช่วงโครงสร้างร่วมกับรถไฟความเร็วสูงเชื่อม 3 สนามบิน (ดอนเมือง-สุวรรณภูมิ-อู่ตะเภา) ที่ยังต้องรอข้อสรุปแก้สัญญาสัมปทานกับ ซี.พี. โดยเมื่อวันที่ 1 มี.ค. 2566 คณะกรรมการนโยบายเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออกในคราวการประชุม ครั้งที่ 1/2566 ได้มีมติรับทราบปัญหาทับซ้อนโครงสร้างโยธาร่วม ช่วงบางซื่อ-ดอนเมือง และการแก้ไขปัญหาสถานะทางการเงินของโครงการฯ

ปัจจุบันอยู่ระหว่างสำนักงานคณะกรรมการนโยบายเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก รฟท.และเอกชนคู่สัญญา เจรจาหารือร่วมกันเพื่อหาข้อยุติ และแนวทางแก้ไขปัญหาร่วมกันต่อไป

โดยคาดว่าจะสามารถลงนามในสัญญาเพื่อเริ่มดำเนินการก่อสร้างงานโยธาได้ทั้งหมด 14 สัญญาภายในปี 2566


@ผู้ว่าฯ รฟท.ดันเซ็นรับเหมาสัญญา 4-5 และ 3-1 ใน ก.ค.นี้

“นิรุฒ มณีพันธ์” ผู้ว่าฯ รฟท. กล่าวถึงงานโยธา 3 สัญญาที่เหลือ ว่าในส่วนของ สัญญา 4-5 ที่ติดปัญหาสถานีอยุธยา บอร์ด รฟท.เห็นชอบให้ทำสัญญากับผู้รับจ้างก่อสร้างแบบมีเงื่อนไขได้ เพื่อเร่งการก่อสร้างส่วนของทางวิ่งที่ไม่เกี่ยวกับ สถานีอยุธยา โดยขณะนี้อยู่ระหว่างอัยการสูงสุดตรวจร่างสัญญา หากตอบกลับจะสามารถลงนามกับผู้รับเหมาได้ทันที โดยผู้รับเหมายืนราคาไปจนถึงสิ้นเดือน ก.ค. 2566

ส่วนสัญญา 3-1 ศาลปกครองสูงสุดได้ตัดสินแล้ว ซึ่งสอดคล้องกับที่บอร์ด รฟท.มีมติเห็นชอบ ขณะนี้กำลังเจรจากับผู้รับเหมาเพื่อนำไปสู่การลงนามสัญญา โดยผู้รับเหมายืนราคาจนถึงสิ้นเดือนก.ค. 2566 เช่นกัน

@ชาวโคราชร้องปรับแบบ ยกระดับสัญญา 3-5 ค่าก่อสร้างเพิ่มเกือบ 5 พันล้านบาท ล่าช้าอีก 28 เดือน

ผู้ว่าฯ รฟท.กล่าวว่า คาดว่า 2 สัญญาที่มีปัญหามานานจะยุติใน ก.ค.นี้ และเริ่มการก่อสร้างได้ แต่ตอนนี้ยอมรับว่ามีประเด็นที่น่ากังวลอีกเรื่องที่ต้องเร่งแก้ไข คือ สัญญา 3-5 ช่วงโคกกรวด-นครราชสีมาเนื่องจากมีประเด็นประชาชนในพื้นที่เรียกร้องให้ปรับรูปแบบการก่อสร้างเป็นทางยกระดับ ซึ่งทำให้มีค่าก่อสร้างเพิ่มเกือบ 5 พันล้านบาท และต้องล่าช้าออกไปอีกประมาณ 28 เดือน

“แบบเดิมเป็นทางระดับดิน แต่ประชาชน ต.บ้านใหม่ โคราช อยากได้เป็นทางยกระดับ ซึ่ง รฟท.ส่งเรื่องหารือไปกระทรวงคมนาคม โดยทางกรมรางมีความเห็นอยากให้ปรับเป็นไปตาม MR-Map ซึ่งรฟท.รอหนังสือเป็นทางการจากกรมราง เพราะหากนโยบายต้องการปรับเปลี่ยนและประชาชนในพื้นที่ต้องการก็สามารถปรับเปลี่ยนได้ แต่เรื่องนี้ต้องพิจารณาโครงการรถไฟทางคู่ช่วงมาบกะเบา-ชุมทางถนนจิระด้วย เพราะอยู่ในแนวเดียวกันและออกแบบเป็นทางระดับดิน หากไฮสปีดยกระดับแต่ทางคู่เป็นระดับดินก็จะมีปัญหาอีก”

รายงานข่าวแจ้งว่า คณะอนุกรรมการจัดระบบการจราจรทางบกจังหวัด นครราชสีมามีมติรับทราบแก้ปัญหากรณีประชาชนในพื้นที่เสนอปรับรูปแบบก่อสร้างรถไฟไทย-จีน สัญญา 3-5 ช่วงโคกกรวด-นครราชสีมา และโครงการรถไฟทางคู่ ช่วงมาบกะเบา-ชุมทางถนนจิระ เป็นโครงสร้างยกระดับแบบเสาตอม่อแทนคันดิน ช่วงโคกกรวด-ภูเขาลาด ซึ่งเป็นไปตามแนวทางที่ 4 โดยช่วงปรับเป็นโครงสร้างยกระดับมีระยะทาง 7.85 กม. มีค่างานก่อสร้างเพิ่ม 4,791.45 ล้านบาท ซึ่งจะต้องนำเสนอ ครม.พิจารณาอนุมัติเพิ่มค่าก่อสร้างสัญญา 3-5 ที่ได้ลงนามกับผู้รับจ้างไปแล้ว


สำหรับสัญญา 4-1 ช่วงบางซื่อ-ดอนเมือง ประเด็นโครงสร้างร่วมกับโครงการรถไฟความเร็วสูงเชื่อม 3 สนามบินยังไม่คืบหน้า ที่ผ่านมา รฟท. สกพอ. และ บ.เอเชีย เอราวัน จำกัด (ผู้รับสัมปทานโครงการรถไฟความเร็วสูงเชื่อมสามสนามบิน) ได้เจรจากันต่อเนื่อง แต่ยังไม่ได้ข้อยุติ

“การก่อสร้างรถไฟไทย-จีน และรถไฟเชื่อม 3 สนามบิน ทับซ้อนในพื้นที่เดียวกัน มีประเด็นทางเทคนิค แต่เรื่องนี้ไม่ยาก ปัญหาอยู่ที่ค่าก่อสร้างเพิ่ม ที่มีการเจรจาปรับเงื่อนไขในการจ่ายเงินอุดหนุนรถไฟเชื่อม 3 สนามบิน ซึ่งต้องแก้ไขสัญญาร่วมลงทุนฯ...ที่ต้องรอรัฐบาลใหม่เข้ามาชี้ขาด”


@ก่อสร้างจริงหลุดเป้า จ่อปรับแผนใหม่ ขยับเปิดเป็นปี 71

แหล่งข่าวกล่าวว่า เมื่อเริ่มต้นก่อสร้างรถไฟไทย-จีน วันที่ 21 ธ.ค. 2560 ตอนนั้นคาดว่างานโยธาจะใช้เวลาก่อสร้าง 6 ปี แล้วเสร็จ และคาดหวังว่าจะเปิดบริการได้ในปี 2566 แต่โครงการมีปัญหาอุปสรรคมากมาย ทำให้มีการปรับแผนงานหลายครั้ง โดยแผนงานปัจจุบันกำหนดว่าจะแล้วเสร็จเปิดบริการได้ในปี 2569-2570 แต่หากประเมินจากการก่อสร้างจริงที่ก้าวหน้าเพียง 21.691% ล่าช้ากว่าแผนงานที่ปรับใหม่ถึง 40.072% ...อีกไม่นาน คงจะต้องมีการปรับแผนก่อสร้างใหม่อีกรอบ ซึ่งคาดว่าต้องเลื่อนกำหนดเปิดให้บริการออกไปเป็นปี 2571


กำลังโหลดความคิดเห็น