รฟท.เผยซ่อมหัวรถจักร “อุลตร้าแมน” 3 คันเสร็จใน ก.ค.นี้หลังต้องขนเครื่องยนต์กลับไปซ่อมที่จีน เผยเครื่องยนต์รับประกัน 3 ปีเอกชนต้องรับผิดชอบค่าใช้จ่ายทั้งหมด ขณะที่ล็อตสุดท้าย 15 คัน ทดสอบใกล้จบ คาดนำออกวิ่งใช้งานครบทั้ง 50 คัน ก.ค.นี้
นายวัชรชาญ สิริสุวรรณทัศน์ รองผู้ว่าการการรถไฟแห่งประเทศไทย (รฟท.) เปิดเผยว่า จากที่รถจักรดีเซลไฟฟ้า (Diesel Electric Locomotive) หรือหัวรถจักร “อุลตร้าแมน”จำนวน 3 คันเกิดปัญหาขัดข้องในส่วนของเครื่องยนต์ซึ่งทีมวิศวกรของจีน และ รฟท.ได้ตกลงนำเครื่องยนต์กลับไปซ่อมที่ประเทศจีนนั้น ความคืบหน้าในการซ่อมหัวรถจักร “อุลตร้าแมน”จำนวน 3 คันได้ดำเนินการใกล้แล้วเสร็จทั้งหมดแล้ว โดยจะทยอยนำกลับมาประเทศไทยเพื่อทดสอบอีกครั้ง คาดว่าหัวรถจักรทั้ง 3 คันจะนำกลับมาใช้งานได้ภายในเดือน ก.ค. 2566 นี้
ทั้งนี้ หัวรถจักรดังกล่าวยังอยู่ในระยะการรับประกัน ทางเอกชนต้องเป็นผู้รับผิดชอบแก้ปัญหาและค่าใช้จ่ายทั้งหมด โดยส่วนของเครื่องยนต์มีระยะเวลารับประกัน 3 ปี ส่วนโบกี้มีระยะเวลารับประกัน 5 ปี
สำหรับโครงการจัดหารถจักรดีเซลไฟฟ้าจำนวน 50 คัน น้ำหนักกดเพลา 16 ตัน/เพลา พร้อมอะไหล่ วงเงิน 6,525 ล้านบาท รฟท.ได้ทำสัญญากับกิจการร่วมค้า เอสเอฟอาร์ (ความร่วมมือระหว่างบริษัท ซานโฟโก อินเตอร์เนชั่นแนล จำกัด และบริษัท ริเวอร์เอ็นจิเนียริ่ง จำกัด) ซึ่งผลิตด้วยเทคโนโลยีทันสมัยจากบริษัท ซีอาร์อาร์ซี ซิชูเยียน (CRRC Qishuyan) หรือ (QSY) รถจักรที่เครื่องยนต์มีปัญหา 3 คันดังกล่าว อยู่ในกลุ่ม 20 คัน ที่ได้มีการรับมอบล็อตแรกเมื่อวันที่ 4 ก.พ. 2565
ขณะที่ปัจจุบันได้มีการส่งมอบรถจักรครบทั้ง 50 คันแล้ว โดยล็อตสุดท้ายจำนวน 15 คันอยู่ระหว่างทดสอบและตรวจรับ ซึ่งคาดว่าจะแล้วเสร็จและนำบรรจุเข้าใช้งานในเดือน ก.ค. 2566 ซึ่งจะทำให้ รฟท.มีรกจักรรุ่น “อุลตร้าแมน” ใช้งานครบ 50 คัน เป็นครั้งแรก ช่วยเพิ่มขีดความสามารถในการให้บริการการโดยสารและสินค้า โดย เป็นรถจักรที่สามารถทำความเร็วสูงสุดของรถไฟไม่น้อยกว่า 120 กิโลเมตร/ชั่วโมง
@เร่งทบทวน TOR ประมูลซ่อมรถจักร "ฮิตาชิ" 21 คัน ภายใต้งบ 777 ล้านบาท
ส่วนความคืบหน้าในการซ่อมปรับปรุงรถจักร HID (HITACHI 8FA-36C) จำนวน 21 คัน วงเงิน 777 ล้านบาท นั้น นายวัชรชาญกล่าวว่า หลังจากประกวดราคาจัดจ้างฯ มีเอกชนซื้อซอง 4 ราย แต่ไม่มีรายใดยื่นเสนอราคา คณะกรรมการพิจารณาผลประกวดราคาฯ จะมีการพิจารณาและเสนอผู้ว่าฯ รฟท.ยกเลิกการประมูลตามขั้นตอนก่อน โดยแนวทางหลังจาก รฟท.จะทบทวน TOR อีกครั้ง ซึ่งจากการสอบถามเอกชนพบว่าสาเหตุที่ไม่ยื่นเสนอราคาเนื่องจากกังวลเรื่องต้นทุนที่ปรับเพิ่มขึ้น อาจทำให้ไม่สามารถดำเนินงานได้ตามเป้าหมาย ดังนั้น รฟท.อาจจะมีการปรับปรุง เช่น ปรับลดเนื้องานที่ไม่จำเป็นเร่งด่วนออกไปก่อน เพื่อให้โครงการอยู่ภายใต้กรอบวงเงินที่ได้รับอนุมัติ และเร่งปรับปรุง TOR เปิดประมูลใหม่เพื่อไม่ให้โครงการต้องล่าช้า เพราะหากคงเนื้องานทั้งหมดเท่าเดิม คาดว่าราคาจะเพิ่มขึ้นจากกรอบวงเงินที่ได้รับอนุมัติ จะต้องเริ่มนำเสนอโครงการใหม่ตั้งแต่ต้น ซึ่งจะทำให้ต้องใช้เวลามากขึ้นและล่าช้ากว่าแผน ในขณะที่รถจักร "ฮิตาชิ" ที่มีสภาพเก่าและอายุใช้งานนาน จำเป็นต้องเร่งซ่อมแซม