รฟท.หารือ สศช.ปรับแผนจัดซื้อรถโดยสาร 184 คัน 1.5 หมื่นล้านบาทจากรถดีเซลรางไฟฟ้าเป็นรถไฟฟ้า (อีวี) พร้อมยันจัดซื้อแคร่สินค้า 946 คัน 2.45 พันล้านบาท เร่งชง ครม.ชุดใหม่รองรับความต้องการขนส่งสินค้า
นายนิรุฒ มณีพันธ์ ผู้ว่าการการรถไฟแห่งประเทศไทย (รฟท.) เปิดเผยถึงความคืบหน้าโครงการจัดซื้อรถดีเซลรางปรับอากาศจำนวน 184 คัน วงเงินประมาณ 1.5 หมื่นล้านบาท ว่า ขณะนี้อยู่ในขั้นตอนการพิจารณาของสำนักงานสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) โดยรฟท.ได้ประสานข้อมูลอย่างต่อเนื่อง ซึ่งสภาพัฒน์ฯ ให้ความร่วมมือในการพิจารณา และล่าสุดได้มีการปรับเปลี่ยนจากรถดีเซลรางไฟฟ้าปรับอากาศ (DEMU) เป็นรถไฟขับเคลื่อนด้วยระบบไฟฟ้า (EV) แบบแบตเตอรี่ โดยยังอยู่ภายใต้กรอบวงเงินที่ได้รับอนุมัติ ส่วนการเสนอคณะรัฐมนตรี (ครม.) คงต้องรอรัฐบาลใหม่ต่อไป
นอกจากนี้ รฟท.ยังมีแผนโครงการจัดหารถโดยสารปรับอากาศจำนวน 182 คัน ซึ่งยังอยู่ในการศึกษาพิจารณารายละเอียดให้เกิดความรอบคอบและครอบคลุมในทุกมิติ โดยเฉพาะเทคโนโลยีในอนาคต ว่าจะเป็นแบบรถดีเซลรางไฮบริด (เชื้อเพลิงผสม) หรือเป็นรถพลังงานไฟฟ้า (EV) แบบใดมีความเป็นไปได้และเหมาะสม
รวมถึงยังต้องศึกษาพิจารณารูปแบบ และวิธีการจัดหาใหม่ๆ โดยที่รฟท.ไม่ต้องลงทุนเองเหมือนที่ผ่านมา ซึ่งวิธีการจัดหามีหลายวิธี ได้แก่ การซื้อ การเช่า ซึ่งเป็นวิธีที่รถไฟใช้มา แต่ยังมีวิธีเช่าซื้อ เช่าดำเนินการ (Operating Lease) หรือการเช่าแบบลีสซิ่ง (Financial Lease) ซึ่งรฟท.ไม่เคยใช้ แต่ใช้มากในอุตสาหกรรมการบิน สายการบินเช่าเครื่องบินโดยใช้สถาบันการเงิน
“รฟท.ได้หารือนอกรอบกับสำนักงานบริหารหนี้สาธารณะ (สบน.) เพื่อหาวิธีการจัดหารถโดยไม่ต้องกู้ เช่น การหาประโยชน์ร่วมกันกับผู้ผลิตและแหล่งเงิน แต่ยังไม่ถึงกับการร่วมทุน ซึ่งวิธีการจัดหามีหลายโมเดล ดังนั้นต้องศึกษาให้รอบคอบและเหมาะสมเพื่อสามารถตอบคำถามข้อสงสัยของฝ่ายนโยบายได้อย่างครบถ้วนสมบูรณ์ เพราะจากประสบการณ์ รฟท.พอเสนอโครงการไปแล้ว หากแนวทางไม่สอดคล้องกับนโยบายอาจทำให้โครงการล่าช้า ตอนนี้ยังมีเวลาในการศึกษาให้รอบคอบ”
ส่วนโครงการจัดหารถโบกี้บรรทุกตู้สินค้า (บทต.) จำนวน 946 คัน วงเงิน 2,459.97 ล้านบาท นายนิรุฒกล่าวว่า คณะกรรมการ (บอร์ด) รฟท. เมื่อวันที่ 18 พ.ค. 2566 มีมติเห็นชอบแนวทางการจัดซื้อ เนื่องจากมีความคุ้มค่าและเหมาะสมมากกว่าการเช่าดำเนินการ โดยให้ยืนยันข้อมูลไปที่กระทรวงคมนาคมต่อไปเนื่องจากก่อนหน้านี้ กระทรวงฯ มีความเห็นให้พิจารณาเปรียบเทียบแนวทางอื่นๆ
ทั้งนี้ บอร์ด รฟท.มีคำถาม 2 ประเด็นคือ 1. วงเงินเท่าเดิมแต่จำนวนลดลงจากเดิม 965 คัน เหลือ 946 คันที่เคยมีมติเมื่อปี 2563 เป็นผลมาจากอัตราเงินเฟ้อ ต้นทุนค่าวัสดุที่เพิ่มขึ้น 2. สามารถแบ่งการจัดซื้อหรือทยอยเป็นเฟสได้หรือไม่ ซึ่งตามแผนการจัดหาแคร่สินค้าของ รฟท.มีความต้องการรวมประมาณ 2,700 คัน ซึ่งขณะนี้เป็นการจัดหาในเฟสแรก จำนวน 946 คัน ส่วนเฟสที่ 2 และ 3 จะมีการศึกษาพิจารณารูปแบบการจัดหาที่เหมาะสมต่อไป
“รฟท.มีความจำเป็นเร่งด่วนในการจัดหาแคร่สินค้าเพื่อรองรับความต้องการในการขนส่งที่เพิ่มขึ้น แต่ไม่สามารถเพิ่มสัดส่วนการขนส่งทางรางได้เพราะ รฟท.ไม่มีเครื่องมือเครื่องจักรที่เพียงพอ โดยหลังจากนี้ จะสรุปข้อมูลรายละเอียดโครงการเสนอกลับไปที่กระทรวงคมนาคม และเสนอคณะรัฐมนตรี (ครม.) ชุดใหม่อนุมัติตามขั้นตอนต่อไป”