xs
xsm
sm
md
lg

“เกรียงศักดิ์” ยื่นลาออก ผอ.อคส. เปิดผลงาน 3 ปีเร่งสางทุจริต-หารายได้

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



“เกรียงศักดิ์” ยื่นหนังสือลาออกจากตำแหน่งผู้อำนวยการ อคส.แล้ว มีผลวันที่ 1 มี.ค. 67 ส่วนบอร์ด อคส.ลาออกหมดแล้ว เหลือแค่ตัวแทนหน่วยงานรัฐ เปิดทางสรรหาใหม่ ทั้งตัว ผอ. และบอร์ด เผยกว่า 2 ปีที่ทำงานมีผลงานเพียบ เร่งดำเนินคดีทุจริตข้าว มัน ข้าวโพด มากกว่า 1,000 คดี จัดการทุจริตถุงมือยาง 2,000 ล้าน เร่งหารายได้ ทำขาดทุนลด ส่วนรายได้คลังเพิ่มสูงสุดในรอบ 25 ปี และยังลดความเสี่ยงทำธุรกิจแบบเดิม ทำขาดทุนลด

นายเกรียงศักดิ์ ประทีปวิศรุต ผู้อำนวยการองค์การคลังสินค้า (อคส.) เปิดเผยว่า เมื่อวันที่ 10 ม.ค. 2567 ที่ผ่านมา ได้ยื่นหนังสือลาออกจากตำแหน่งต่อนายภูมิธรรม เวชยชัย รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ เป็นที่เรียบร้อยแล้ว หลังจากอยู่ในตำแหน่งนี้มานานกว่า 3 ปี หรือตั้งแต่เดือน ก.ย. 2563 เพื่อพักผ่อนและเปิดทางให้บุคคลอื่น ที่มีความรู้ความสามารถเข้ามาดำรงตำแหน่งแทน โดยการลาออกจะมีผลวันที่ 1 มี.ค. 2567 ส่วนคณะกรรมการ อคส. หรือบอร์ด อคส. ทั้ง 11 คน ที่ประกอบด้วยประธาน รองประธาน และกรรมการผู้ทรงคุณวุฒิ รวม 7 คน ได้ทยอยลาออกตั้งแต่เดือน มิ.ย. 2566 และรายสุดท้ายลาออกเมื่อเดือน ต.ค. 2566 คงเหลือเพียงตัวแทนจากกระทรวงพาณิชย์ กระทรวงการคลัง กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ และตน ส่งผลให้หลังจากนี้ อคส.ต้องประกาศสรรหาบอร์ด และผู้อำนวยการคนใหม่

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า การลาออกของนายเกรียงศักดิ์ และบอร์ด อคส. เป็นการเปิดทางให้ฝ่ายการเมืองสรรหาบุคคลใหม่เข้ามาดำรงตำแหน่งแทน เพราะถือเป็นธรรมเนียมปฏิบัติ ที่เมื่อเปลี่ยนรัฐบาลแล้ว ผู้นำสูงสุด และบอร์ดของรัฐวิสาหกิจที่แต่งตั้งโดยรัฐบาลชุดเก่า ต้องลาออก เพราะมาจากคนละพรรคการเมือง อาจเกิดความไม่ไว้วางใจในการทำงาน และหากอยู่ในตำแหน่งต่อไป อาจไม่สามารถเดินหน้าทำงานได้

ทั้งนี้ กว่า 3 ปีที่นายเกรียงศักดิ์เป็นผู้อำนวยการ อคส. ได้สะสางปัญหาต่างๆ ของ อคส.ที่สะสมมานานได้เป็นจำนวนมาก โดยเฉพาะการเร่งรัดด้านคดีความที่เกิดจากการทุจริตในโครงการรับจำนำสินค้าเกษตรของรัฐบาลที่ผ่าน ๆ มา ทั้งจำนำข้าวเปลือก มันสำปะหลัง ข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ ตั้งแต่ก่อนปี 2551 และหลังปี 2551 รวมมากกว่า 1,000 คดี รวมถึงคดีใหม่ คือ ทุจริตจัดซื้อถุงมือยาง ที่ทำให้ อคส. เสียหายมากถึง 2,000 ล้านบาท และเกิดขึ้นก่อนที่นายเกรียงศักดิ์จะรับตำแหน่งได้เพียงไม่กี่วัน โดยคดีต่าง ๆ มีความคืบหน้าเป็นลำดับ รวมถึงระบายสินค้าเกษตรค้างสต๊อกมานานจนหมด ทั้งข้าว มันสำปะหลัง และข้าวโพด

ขณะเดียวกัน ยังเร่งหารายได้ ทำให้ผลประกอบการดีขึ้นเป็นลำดับ ล่าสุดปี 2565 มีรายได้รวม 707 ล้านบาท จากปี 2562 ที่ 306 ล้านบาท ขาดทุน 99 ล้านบาท ลดจาก 157 ล้านบาทในปี 2562 เป็นผลจากการลดรายจ่าย และเน้นธุรกิจคลังสินค้าที่มีอัตรากำไรสูงมาก ทำให้มีรายได้จากการให้เช่าคลังสินค้ากว่า 73 ล้านบาท สูงสุดในรอบ 25 ปี ส่วนปี 2566 คาดขาดทุน 70 ล้านบาท มีรายได้รวม 718 ล้าน และรายได้คลังสินค้า 79 ล้านบาท เป็นสถิติสูงสุดใหม่ในรอบ 25 ปีอีกครั้ง ขณะที่ปี 2567 ตั้งเป้ารายได้จากค่าเช่าคลัง 85 ล้านบาท ทำสถิติสูงสุดใหม่อีกครั้ง

นอกจากนี้ ยังลดความเสี่ยงจากการทำธุรกิจแบบเดิมของ อคส. ที่ซื้อสินค้าด้วยเงินสดแล้วนำมาขายต่อแบบเงินเชื่อ กำไรต่ำ ความเสี่ยงสูง และเก็บเงินจากลูกค้าไม่ได้ ซึ่งปี 2563 เก็บเงินไม่ได้ถึง 146 ล้านบาท ส่วนผลประกอบการรวมงานโครงการของรัฐบาล ปี 2565 ขาดทุน 305 ล้านบาท จากปี 2562 ที่ขาดทุนสูงถึง 11,793 ล้านบาท และขาดทุนสะสมรวมทุกโครงการ 584,337 ล้านบาท แต่ปี 2566 คาดว่าจะขาดทุนลดลงเหลือ 442 ล้านบาท อีกทั้งยังส่งเงินคืนกองทุนช่วยเหลือเกษตรกร 4,305 ล้านบาท และยังได้ริเริ่มโครงการใหม่ ๆ แต่ยังไม่ทันได้เริ่มดำเนินการ เช่น ลงนามบันทึกความเข้าใจ (เอ็มโอยู) ร่วมกับจีน และเมียนมา ในการทำคลังสินค้าพาณิชย์อิเล็กทรอนิกส์ข้ามพรมแดนใน 2 ประเทศ เป็นต้น

สำหรับผลจากการเร่งรัดดำเนินคดี ทำให้ตั้งแต่ปี 2564-66 อคส.มีคะแนน ITA ที่ประเมินโดยสำนักงานคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) สูงกว่า 93% ติดต่อกัน 3 ปีซ้อน และติด 1 ใน 3 หน่วยงานของกระทรวงพาณิชย์ที่ได้คะแนนสูงสุด โดยปี ปี 2564 มีคะแนน 93.59 , ปี 2565 มีคะแนน 94.69 และ ปี 2566 อคส. มีคะแนน 94.61 โดย อคส.เข้ารับการประเมินมาตั้งแต่ปี 2557 แต่ได้คะแนนไม่ผ่านเกณฑ์มาตลอด

ทางด้านการดำเนินคดีทุจริต แบ่งเป็น 5 กลุ่ม คือ 1.ทุจริตถุงมือยาง 2,000 ล้านบาท สำนักงานคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) ชี้มูลความผิดผู้กระทำผิดแล้วตั้งแต่เดือน พ.ค.2566 และกำลังพิจารณาสั่งฟ้องโดยสำนักงานอัยการสูงสุด ส่วนคดีความรับผิดทางละเมิดเจ้าหน้าที่ อคส. 7 รายที่ถูกชี้มูลความผิด อคส.ได้ออกคำสั่งให้ชดใช้ความเสียหายแล้ว อยู่ระหว่างเสนออัยการให้ดำเนินคดีทางแพ่ง สำหรับคดีอาญาฟอกเงิน อคส. ประสานงานสำนักงานป้องกันและปราบปรามการฟอกเงิน (ปปง.) ฟ้องแล้ว 2.คดีปกครอง (แพ่ง) ทุจริตจำนำข้าว 483 คดี ศาลปกครองกลางตัดสินให้ อคส. ชนะ 45 คดี ทุนทรัพย์ได้มา 3,395 ล้านบาท และแพ้คดี 38 คดี ทุนทรัพย์ที่ต้องจ่าย 1,317 ล้านบาท 3.มันสำปะหลัง 205 คดี อคส. ชนะ 92 คดี ทุนทรัพย์ได้มา 6,257 ล้านบาท และแพ้ 5 คดี ต้องจ่าย 62 ล้านบาท 4.ข้าวโพด 12 คดี อคส.ชนะ 3 คดี ทุนทรัพย์ได้มา 278 ล้านบาท และไม่แพ้คดีเลย 5.โครงการรัฐก่อนปี 2551 จำนวน 49 คดี อคส.ชนะ 12 คดี ทุนทรัพย์ได้มา 43 ล้านบาท และแพ้ 1 คดี ทุนทรัพย์ที่ต้องจ่าย 39 ล้านบาท


กำลังโหลดความคิดเห็น