สินค้าอัญมณีและเครื่องประดับเป็นหนึ่งในสินค้าที่มีมูลค่าการส่งออกสูงติด 1 ใน 5 ของสินค้าส่งออกของไทยมาอย่างยาวนาน และในปี 2566 ที่ผ่านมาก็ยังส่งออกมูลค่าสูงสุดเป็นอันดับที่ 3 ของส่งออกสินค้าของไทย และยังมีความสำคัญต่อเศรษฐกิจของประเทศ เพราะทำรายได้ปีละไม่ต่ำกว่า 1 ล้านล้านบาท ทั้งการค้าในประเทศ การส่งออก การจ้างงาน และมีแรงงานที่เกี่ยวข้องในอุตสาหกรรมเป็นล้านคน ตั้งแต่คนคัดพลอย ช่างเจียระไนอัญมณี ช่างฝีมือผลิตเครื่องประดับ คนขายอัญมณีและเครื่องประดับ ยังไม่รวมอุตสาหกรรมที่เกี่ยวเนื่อง ทั้งการผลิตบรรจุภัณฑ์ ประกันภัย โลจิสติกส์ และการท่องเที่ยว
ทั้งนี้ รัฐบาลยังประกาศเป้าหมายในการผลักดันให้ไทยเป็นศูนย์กลางการค้าอัญมณีและเครื่องประดับของโลก เพราะมั่นใจในขีดความสามารถของไทย ทั้งการเป็นแหล่งผลิตและการค้าพลอยที่สำคัญของโลก เป็นแหล่งผลิตเครื่องประดับที่มีคุณภาพมาตรฐาน และยังเป็นประเทศที่ได้รับการยอมรับในการจัดงานแสดงสินค้า ไม่ว่าจะเป็นงานพลอยนานาชาติ และบางกอก เจมส์ จนคนในวงการ เมื่อนึกถึงพลอย นึกถึงเครื่องประดับ ก็ต้องมีชื่อไทยอยู่ในนั้น
สถานการณ์ส่งออกปัจจุบัน
สำหรับสถานการณ์การส่งออกอัญมณีและเครื่องประดับล่าสุด มีตัวเลขของเดือน พ.ย. 2566 ออกมาแล้ว โดยการส่งออกไม่รวมทองคำ มีมูลค่า 708.44 ล้านเหรียญสหรัฐ เพิ่มขึ้น 2.98% เป็นการฟื้นตัวต่อเนื่อง 3 เดือนติดต่อกัน แต่หากรวมทองคำ มีมูลค่า 958.24 ล้านเหรียญสหรัฐ เพิ่มขึ้น 10.27% และยอดรวม 11 เดือนของปี 2566 (ม.ค.-พ.ย.) การส่งออก ไม่รวมทองคำ มีมูลค่า 7,101.45 ล้านเหรียญสหรัฐ เพิ่ม 8.51% และรวมทองคำ มูลค่า 13,664.59 ล้านเหรียญสหรัฐ ลดลง 5.73%
นั่นหมายความว่า การส่งออกอัญมณีและเครื่องประดับเริ่มมีสัญญาณการฟื้นตัวดีขึ้น เพราะคู่ค้าหลักหลายประเทศสามารถกลับมาจัดงานแสดงอัญมณีและเครื่องประดับ และมีการบริโภคเพิ่มมากขึ้น ร่วมกับค่าเงินบาทอ่อนค่าในจังหวะที่เหมาะสม เป็นปัจจัยส่งเสริมให้สินค้าไทยแข่งขันได้ดีขึ้น และสถาบันวิจัยและพัฒนาอัญมณีและเครื่องประดับแห่งชาติ (องค์การมหาชน) หรือ GIT ก็ยังประเมินว่าทิศทางน่าจะดีขึ้นต่อเนื่อง แต่ก็มีประเด็นที่ต้องจับตา คือ การขยายตัวของเศรษฐกิจโลก ที่มีการคาดว่าจะลดลง หลังจากที่ธนาคารกลางทั่วโลกพากันใช้นโยบายคุมเข้มด้านการเงินเพื่อสกัดเงินเฟ้อ และยังมีผลกระทบจากสงครามที่ยังมีต่อเนื่อง ซึ่งยังส่งผลกระทบต่อการฟื้นตัวของการบริโภคอัญมณีและเครื่องประดับได้
ใครเป็นใครในอุตสาหกรรมอัญมณี
ทั้งนี้ จากข้อมูลเว็บไซต์ คิดค้า.com สามารถแบ่งกลุ่มธุรกิจการส่งออกอัญมณีและเครื่องประดับของไทยตามประเภทเจ้าของธุรกิจได้ 4 กลุ่ม คือ
กลุ่มที่ 1 ธุรกิจที่ชาวไทยเป็นเจ้าของทั้งหมด ซึ่งมีสัดส่วนมากที่สุดถึงร้อยละ 47.1 ของมูลค่าการส่งออกอัญมณีและเครื่องประดับของไทย รองลงมาได้แก่
กลุ่มที่ 2 ธุรกิจร่วมทุนไทย-ต่างชาติ โดยที่ไทยถือหุ้นข้างมาก มีสัดส่วนรวมร้อยละ 29.8
กลุ่มที่ 3 ธุรกิจที่ชาวต่างชาติเป็นเจ้าของทั้งหมด มีสัดส่วนรวมร้อยละ 20.3
กลุ่มที่ 4 ธุรกิจร่วมทุนไทย-ต่างชาติที่มีชาวต่างชาติถือหุ้นข้างมาก มีสัดส่วนรวมร้อยละ 2.8
จึงเห็นได้ว่าผู้ประกอบการไทยนับเป็นผู้เล่นสำคัญในอุตสาหกรรมอัญมณีและเครื่องประดับของไทยที่สร้างมูลค่าทางเศรษฐกิจให้ประเทศอย่างมากและมีขนาดธุรกิจที่ค่อนข้างใหญ่ ซึ่งเมื่อแบ่งสัดส่วนตามขนาดธุรกิจ SML พบว่าเป็นธุรกิจขนาดเล็ก (S) ร้อยละ 14.5 ธุรกิจขนาดกลาง (M) ร้อยละ 14.1 และธุรกิจขนาดใหญ่ (L) ร้อยละ 71.4
มีจุดแข็งเหนือประเทศอื่น
อย่างไรก็ตาม แม้ว่าประเทศไทยไม่ได้มีวัตถุดิบในประเทศเป็นจำนวนมากเช่นเดียวกับในอดีต แต่ไทยมีจุดแข็งและเป็นที่ยอมรับในอุตสาหกรรมอัญมณีและเครื่องประดับระดับโลก โดยเฉพาะหินสีจำพวกพลอย เครื่องประดับทองและเงิน รวมถึงจุดเด่นของช่างฝีมือที่มีชื่อเสียงในหลายมิติ เช่น ทักษะการออกแบบและขึ้นรูปเครื่องประดับ ฝีมือประณีตและคุณภาพในการเจียระไนพลอย และความสามารถในการเผาพลอยที่ทำให้เกิดความกลมกลืนสะอาดทั่วทั้งเม็ด ซึ่งช่วยเพิ่มมูลค่าและพัฒนาสินค้าจนเป็นที่ยอมรับในตลาดคู่ค้าสำคัญ และทำให้ไทยยังเป็นแหล่งซื้อขายอัญมณีระดับโลก อาทิ จังหวัดจันทบุรี
เทรนด์อัญมณีและเครื่องประดับปี 67
จากสถานการณ์การฟื้นตัวของอัญมณีและเครื่องประดับ นายนภินทร ศรีสรรพางค์ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงพาณิชย์ ได้สั่งการให้สำนักงานนโยบายและยุทธศาสตร์การค้า (สนค.) ทำการศึกษาและมองหาโอกาสทางการค้าให้แก่ผู้ประกอบการไทยจากเทรนด์แฟชั่นอัญมณีและเครื่องประดับของโลก เพื่อเตรียมความพร้อมและจะได้ผลิตสินค้าให้ตรงตามที่ตลาดต้องการ ซึ่งจะช่วยสนับสนุนให้การส่งออกขยายตัวได้ดีขึ้นต่อเนื่อง
ผลการตรวจสอบแนวโน้มอัญมณีและเครื่องประดับในปี 2567 อ้างอิงจากนิตยสาร Vogue ของสหรัฐฯ ที่เผยแพร่เมื่อเดือน ต.ค. 2566 คาดการณ์ว่าจะเป็นการกลับมาในรอบ 18 ปีของเครื่องประดับสไตล์ Boho-Chic ที่มีความโดดเด่นและเอกลักษณ์ทางด้านความคิดสร้างสรรค์ อิสระ มีความยืดหยุ่น (flexible) และสีสันสดใส แต่ยังคงให้ความสำคัญต่อเครื่องประดับที่ทำจากวัสดุธรรมชาติและเครื่องเงิน
นอกจากนี้ นิตยสาร Cosmopolitan ของสหรัฐฯ ที่เผยแพร่เมื่อเดือน พ.ย. 2566 ยังคาดการณ์ว่าไข่มุกเป็นเครื่องประดับอีกประเภทหนึ่งที่มีแนวโน้มจะได้รับความนิยมในปัจจุบัน สอดคล้องกับความนิยมสวมใส่ไข่มุกของอินฟลูเอนเซอร์ จากทั้งฝั่งตะวันออกและตะวันตก ซึ่งถือเป็นตลาดคู่ค้าสำคัญของไทย
จี้ผลิตสินค้าตามเทรนด์-มีจุดเด่น
นายนภินทรกล่าวว่า ปัจจุบันไทยมีความพร้อมและความสามารถในอุตสาหกรรมอัญมณีและเครื่องประดับเป็นอย่างมาก แต่ผู้ประกอบการต้องติดตามแนวโน้ม ความนิยม และผลิตสินค้าให้ตอบโจทย์ความต้องการที่มีการเปลี่ยนแปลง ควบคู่กับการส่งเสริมอุตสาหกรรมอัญมณีและเครื่องประดับ เพื่อทำให้ประเทศก้าวสู่การเป็นศูนย์กลางการค้าอัญมณีและเครื่องประดับที่สำคัญของโลก
โดยมีข้อเสนอแนะให้ผู้ประกอบการอัญมณีและเครื่องประดับของไทยดำเนินการ ดังนี้ พัฒนาสินค้าให้มีเอกลักษณ์และมีเรื่องราวที่สะท้อนจุดเด่นของไทย ส่งเสริมให้เกิดความยั่งยืนด้วยการเปิดเผยกระบวนการจัดหาและผลิตสินค้า เพื่อแสดงถึงความโปร่งใสของห่วงโซ่อุปทาน ความยั่งยืนทางสิ่งแวดล้อมและความรับผิดชอบต่อสังคม ออกแบบสินค้าให้ตอบสนองความต้องการของตลาด โดยมีความยืดหยุ่น ไม่แบ่งแยกเพศ และสวมใส่ได้หลายโอกาส เลือกช่องทางการขายให้เข้าถึงกลุ่มผู้บริโภคที่หลากหลาย เพื่อผลักดันการค้าของผู้ประกอบการไทยในการเพิ่มรายได้และขยายโอกาสทางการค้า พร้อมทั้งศึกษา ทำความเข้าใจ และใช้สิทธิพิเศษทางภาษีจาก FTA รวมถึงหาพันธมิตรใหม่ ๆ เพื่อเพิ่มขีดความสามารถทางการค้า ทั้งในด้านการนำเข้าวัตถุดิบสำหรับนำมาใช้ในการผลิตและด้านการส่งออกสินค้าสำเร็จรูปให้มากขึ้น ซึ่งกระทรวงพาณิชย์พร้อมให้การช่วยเหลือสนับสนุนภาคเอกชนอย่างเต็มที่
ผลงานสนับสนุนที่ผ่านมา
ทั้งนี้ ในส่วนของการสนับสนุนผู้ประกอบการของกระทรวงพาณิชย์ในช่วงที่ผ่านมา ได้ให้การสนับสนุนโดยการช่วยเพิ่มโอกาสและศักยภาพของผู้ประกอบการไทยหลากหลายรูปแบบ อาทิ สถาบันวิจัยและพัฒนาอัญมณีและเครื่องประดับแห่งชาติ (องค์การมหาชน) หรือ GIT จัดโครงการเพื่อพัฒนาศักยภาพผู้ประกอบการรายภูมิภาค เช่น โครงการมาเหนือ โครงการอีสานมอร์เดิ้น โครงการเสน่ห์ใต้ เพื่อฝึกอบรมพัฒนาเทคนิคการผลิตและการตลาดเครื่องประดับ โดยนำเอกลักษณ์ท้องถิ่นมาเป็นจุดขาย รวมถึงสร้างความเชื่อมั่นแก่สินค้าอัญมณีและเครื่องประดับผ่านมาตรฐาน GIT STANDARD และยังมีโครงการซื้อด้วยความมั่นใจ (Buy With Confidence) ที่ออกใบรับรองมาตรฐานและตราสัญลักษณ์ให้แก่ร้านค้าเพื่อสร้างความมั่นใจให้ผู้บริโภค เป็นต้น
หนุนใช้ AI ทำตลาดยุคดิจิทัล
นายสุเมธ ประสงค์พงษ์ชัย ผู้อำนวยการสถาบันวิจัยและพัฒนาอัญมณีและเครื่องประดับแห่งชาติ (องค์การมหาชน) หรือ GIT กล่าวว่า ในการทำตลาดจากนี้ไป GIT มีข้อเสนอแนะให้ผู้ประกอบการ โดยมองว่าปัจจุบันด้วยความก้าวล้ำทางเทคโนโลยี ทำให้เอไอถูกพัฒนาไปในหลายรูปแบบและสามารถตอบโจทย์การใช้ได้มากขึ้น ไม่ว่าจะเป็นการนำมาใช้เพื่อวิเคราะห์ข้อมูลทางการตลาด ช่วยตัดสินใจในการทำโฆษณา และวิเคราะห์ผลลัพธ์ให้เหมาะกับกลุ่มเป้าหมายและพฤติกรรมผู้บริโภค การใช้เพื่อปฏิสัมพันธ์กับลูกค้าโดยตรงอย่างแชตบอต หรือการใช้เอไอเพื่อสร้างสรรค์การออกแบบภาพหรือวิดีโอ เหล่านี้มีส่วนสำคัญในการช่วยสร้างภาพลักษณ์ที่ดีและสร้างความใกล้ชิดกับผู้บริโภคในยุคดิจิทัลได้ง่ายขึ้น
นอกจากนี้ Kantar บริษัทที่ปรึกษาด้านการตลาด ในลอนดอน อังกฤษ ได้ให้ความเห็นซึ่งผู้ประกอบการสามารถนำมาประยุกต์ใช้ในปี 2567 ได้ คือ แบรนด์ที่มีภาพลักษณ์ล้ำสมัย รวมทั้งการนำเอไอมาใช้จะสร้างข้อได้เปรียบทางนวัตกรรมแก่สินค้าและการตลาด ทั้งยังมีโอกาสเติบโตได้ดีกว่าแบรนด์อื่น ซึ่งการสร้างข้อได้เปรียบดังกล่าวต้องประกอบด้วยองค์ประกอบ 5 อย่าง คือ 1. ยึดลูกค้าเป็นศูนย์กลาง 2. การสร้างพื้นฐานแบรนด์ให้แข็งแรงและต่อยอดนวัตกรรมจากพื้นฐานนั้น 3. สร้างอนาคตของผลิตภัณฑ์ในหมวดของตัวเอง 4. นำหน้าในการสร้างความยั่งยืน 5. เป็นแบรนด์ที่กล้าเสี่ยงทดลองและเรียนรู้สิ่งใหม่ๆ ดังนั้น เอไอจึงไม่ใช่เรื่องไกลตัว แต่เป็นสิ่งที่ต้องเรียนรู้และทำความเข้าใจในยุคเศรษฐกิจดิจิทัลเติบโตได้ดีกว่าแบรนด์อื่น