xs
xsm
sm
md
lg

ส่งออกอัญมณี พ.ย.66 เพิ่ม 2.98% ฟื้นตัว 3 เดือนติด

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



ส่งออกอัญมณีและเครื่องประดับเดือน พ.ย.66 มูลค่า 708.44 ล้านเหรียญสหรัฐ เพิ่ม 2.98% ฟื้นตัวต่อเนื่อง 3 เดือนติดต่อกัน หากรวมทองคำมีมูลค่า 958.24 ล้านเหรียญสหรัฐ เพิ่ม 10.27% ยอด 11 เดือน ไม่รวมทองคำ เพิ่ม 8.51% รวมทองคำ ลด 5.73% เผยยังเห็นสัญญาณฟื้นตัว แต่ต้องจับตาเงินเฟ้อในคู่ค้า ผลกระทบสงคราม แนะผู้ประกอบการใช้เอไอช่วยทำตลาด ทั้งตอบแชท ทำภาพ คลิปวิดีโอ เพื่อใกล้ชิดลูกค้าในยุคดิจิทัล

นายสุเมธ ประสงค์พงษ์ชัย ผู้อำนวยการสถาบันวิจัยและพัฒนาอัญมณีและเครื่องประดับแห่งชาติ (องค์การมหาชน) หรือ GIT เปิดเผยว่า การส่งออกอัญมณีและเครื่องประดับ ไม่รวมทองคำ เดือน พ.ย.2566 มีมูลค่า 708.44 ล้านเหรียญสหรัฐ เพิ่มขึ้น 2.98% ฟื้นตัวต่อเนื่อง 3 เดือนติดต่อกัน หากรวมทองคำ มีมูลค่า 958.24 ล้านเหรียญสหรัฐ เพิ่มขึ้น 10.27% และรวม 11 เดือน ของปี 2566 (ม.ค.-พ.ย.) การส่งออก ไม่รวมทองคำ มีมูลค่า 7,101.45 ล้านเหรียญสหรัฐ เพิ่ม 8.51% และรวมทองคำ มูลค่า 13,664.59 ล้านเหรียญสหรัฐ ลดลง 5.73%

สำหรับตลาดส่งออกสำคัญ พบว่า มีทั้งเพิ่มขึ้นและลดลง โดยฮ่องกง เพิ่ม 153.52% อิตาลี เพิ่ม 29.83% สหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ เพิ่ม 9.55% ส่วนสหรัฐฯ ลด 11.09% อินเดีย ลด 48.29% เยอรมนี ลด 10.82% สหราชอาณาจักร ลด 4.09% สวิตเซอร์แลนด์ ลด 5.76% สิงคโปร์ ลด 28.90% และเบลเยียม ลด 2.18%

ส่วนสินค้าส่งออกสำคัญ มีทั้งเพิ่มขึ้นและลดลง โดยเครื่องประดับทอง เพิ่ม 25.14% พลอยก้อน เพิ่ม 6% พลอยเนื้อแข็งเจียระไน เพิ่ม 71.95% พลอยเนื้ออ่อนเจียระไน เพิ่ม 94.47% อัญมณีสงเคราะห์ เพิ่ม 52.41%
ส่วนเครื่องประดับเงิน ลด 9.89% เครื่องประดับแพลทินัม ลด 2.95% เพชรก้อน ลด 27.49% เพชรเจียระไน ลด 26.86% เครื่องประดับเทียม ลด 4.70% และทองคำ ลด 20.86%

นายสุเมธกล่าวว่า การส่งออกอัญมณีและเครื่องประดับ เริ่มฟื้นตัวดีขึ้น เพราะคู่ค้าหลักหลายประเทศสามารถกลับมาจัดงานแสดงอัญมณีและเครื่องประดับ และมีการบริโภคเพิ่มมากขึ้น ร่วมกับค่าเงินบาทอ่อนค่าในจังหวะที่เหมาะสม เป็นปัจจัยส่งเสริมให้สินค้าไทยแข่งขันได้ดีขึ้น แต่ยังต้องจับตาการคาดการณ์การขยายตัวของเศรษฐกิจโลก ที่มีการคาดว่าจะลดลง หลังจากที่ธนาคารกลางทั่วโลกพากันใช้นโยบายคุมเข้มด้านการเงินเพื่อสกัดเงินเฟ้อ และยังมีผลกระทบจากสงคราม ที่ยังมีต่อเนื่อง ซึ่งยังส่งผลกระทบต่อการฟื้นตัวของการบริโภคอัญมณีและเครื่องประดับ

ส่วนข้อเสนอแนะในการทำตลาดส่งออกอัญมณีและเครื่องประดับจากนี้ไป GIT มองว่า ปัจจุบันด้วยความก้าวล้ำทางเทคโนโลยี ทำให้เอไอถูกพัฒนาไปในหลายรูปแบบและสามารถตอบโจทย์การใช้ได้มากขึ้น ไม่ว่าจะเป็นการนำมาใช้เพื่อวิเคราะห์ข้อมูลทางการตลาด ช่วยตัดสินใจในการทำโฆษณา และวิเคราะห์ผลลัพธ์ให้เหมาะกับกลุ่มเป้าหมายและพฤติกรรมผู้บริโภค การใช้เพื่อปฏิสัมพันธ์กับลูกค้าโดยตรงอย่างแชทบอท หรือการใช้เอไอเพื่อสร้างสรรค์การออกแบบภาพหรือวีดิโอ เหล่านี้มีส่วนสำคัญในการช่วยสร้างภาพลักษณ์ที่ดีและสร้างความใกล้ชิดกับผู้บริโภคในยุคดิจิทัลได้ง่ายขึ้น

นอกจากนี้ Kantar บริษัทที่ปรึกษาด้านการตลาด ในลอนดอน อังกฤษ ได้ให้ความเห็นซึ่งผู้ประกอบการสามารถนำมาประยุกต์ใช้ในปี 2567 ได้ คือ แบรนด์ที่มีภาพลักษณ์ล้ำสมัย รวมทั้งการนำเอไอมาใช้ จะสร้างข้อได้เปรียบทางนวัตกรรมแก่สินค้าและการตลาด ทั้งยังมีโอกาสเติบโตได้ดีกว่าแบรนด์อื่น ซึ่งการสร้างข้อได้เปรียบดังกล่าว ต้องประกอบด้วยองค์ประกอบ 5 อย่าง คือ 1.ยึดลูกค้าเป็นศูนย์กลาง 2.การสร้างพื้นฐานแบรนด์ให้แข็งแรงและต่อยอดนวัตกรรมจากพื้นฐานนั้น 3.สร้างอนาคตของผลิตภัณฑ์ในหมวดของตัวเอง 4.นำหน้าในการสร้างความยั่งยืน 5.เป็นแบรนด์ที่กล้าเสี่ยงทดลองและเรียนรู้สิ่งใหม่ ๆ ดังนั้น เอไอจึงไม่ใช่เรื่องไกลตัว แต่เป็นสิ่งที่ต้องเรียนรู้และทำความเข้าใจในยุคเศรษฐกิจดิจิทัลเติบโตได้ดีกว่าแบรนด์อื่น


กำลังโหลดความคิดเห็น