xs
xsm
sm
md
lg

เปิดสุ่มไก่ KFC 3 เล้า งัดเกมรบปี 2567

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



การตลาด - จับตาตลาดรวมไก่ทอดปี 67 เกมเดือดที่พลาดไม่ได้ จากผู้ถือสิทธิ์แบรนด์เคเอฟซี/KFC ทั้งสามราย “RD-CRG-QSA” หลังจากที่ค่าย RD เพิ่งเปลี่ยนแปลงการถือหุ้นใหม่ ส่งผลให้เกมรบจากนี้ไปเข้มข้นมากขึ้นแน่นอนจากทั้ง 3 เล้าไก่พันธ์ุเคเอฟซี


ตลาดไก่ทอดในไทยเป็นตลาดที่ใหญ่และคึกคัก และเติบโตมากที่สุดด้วยตัวเลขถึง 2 หลัก ด้วยมูลค่าตลาดรวมมากกว่า 20,000 ล้านบาท หรือคิดเป็นสัดส่วนที่มากที่สุดถึง 50% เลยทีเดียวจากมูลค่าตลาดรวมของตลาดอาหารจานด่วนหรือคิวเอสอาร์ (QSR / Quick Service Restaurante)

โดยที่ตลาดรวมธุรกิจอาหารคิวเอสอาร์นั้นมีมูลค่ารวมมากกว่า 45,000 ล้านบาท โดยมีเซกเมนต์ใหญ่ๆ คือ ไก่ทอด กว่า 20,000 ล้านบาท เซกเมนต์เบอร์เกอร์ และเซกเมนต์พิซซาเป็นตลาดที่ใหญ่รองลงมา ซึ่งในตลาดเบอร์เกอร์นั้นก็เป็นตลาดที่มีความคาบเกี่ยวด้วยเช่นกัน เนื่องจากบรรดาฟาสต์ฟูดหลายราย เช่น แมคโดนัลด์ก็มีเบอร์เกอร์ มีไก่ทอด หรือเคเอฟซีเองก็มีทั้งเบอร์เกอร์และไก่ทอดด้วยเช่นกัน

แต่ทั้งสามเซกเมนต์นี้คือ ไก่ทอด เบอร์เกอร์ และพิซซา ก็ถือเป็นฟาสต์ฟูดเซกเมนต์ที่ใหญ่สุดและยึดครองสัดส่วนตลาดฟาสตฟูดไปมากกว่า 80%-90% แล้ว

กลับมามองดูเฉพาะที่เซกเมนต์ไก่ทอด ซึ่งแน่นอนว่าแบรนด์ใหญ่ที่สุดในตลาดเมืองไทยไม่ใช่ใครที่ไหนย่อมต้องเป็นแบรนด์ เคเอฟซี แน่นอน แม้ว่าในตลาดรวมไก่ทอดจะมีหลายแบรนด์ที่พยายามจะก้าวขี้นมาเทียบชั้นเคเอฟซี และแข่งขันกันค่อนข้างรุนแรง แต่ก็ไม่มีแบรนด์ใดที่สามารถจะไล่บี้เคเอฟซีได้


อย่างไรก็ตาม แบรนด์เคเอฟซีเองนั้น ซึ่งเจ้าของ ผู้บริหารแบรนด์และแฟรนไชส์โดย บริษัท ยัม เรสเทอรองตส์ อินเตอร์เนชั่นแนล (ประเทศไทย) จำกัด ก็มีการทำตลาดในไทยผ่านผู้รับสิทธิ์หรือแฟรนไชซีมากรวมถึง 3 ราย ประกอบด้วย
1. บริษัท เซ็นทรัล เรสตอรองส์ กรุ๊ป จำกัด (CRG)
2. บริษัท เรสเทอรองตส์ ดีเวลลอปเม้นท์ จำกัด (RD)
3. บริษัท เดอะ คิวเอสอาร์ ออฟ เอเชีย จำกัด (QSA)

ปัจจุบันในไทยมีร้านเคเอฟซีเปิดบริการรวม 978 สาขาทั่วประเทศ (ณ ตุลาคม 2566) ล่าสุดเดือนธันวาคมมีประมาณ 1,040 สาขาแล้ว

นี่อาจจะเป็นเหตุผลหลักประการหนึ่งที่ทำให้เคเอฟซีมีความแข็งแกร่งในตลาด ไม่มีใครที่จะมาโค่นผู้นำตลาดลงได้ง่ายๆ เพราะการทำตลาดผ่าน 3 ราย ย่อมต้องทำให้มีการแข่งขันกันเองเพื่อแย่งชิงลูกค้าแล้วยังต้องแข่งกับฟาสต์ฟูดอื่นๆ ในตลาดรวมด้วย


อย่างไรก็ตาม เมื่อปลายปีที่แล้วเกิดการเปลี่ยนแปลงในบริษัท เรสเทอรองตส์ ดีเวลลอปเม้นท์ จำกัด (RD) ซึ่งเป็นแฟรนไชซีรายหนึ่งของเคเอฟซี เมื่อทาง RD เปิดทางให้
“Devyani International DMCC” ซึ่งเป็นบริษัทในเครือ Devyani International Limited (DIL) เข้าเซ็นสัญญาลงทุนในบริษัท Restaurants Development Co., Ltd. (RD) ซึ่งเป็นหนึ่งในแฟรนไชส์ของ KFC ในประเทศไทย โดยระบุว่าเพื่อเป็นการร่วมมือเชิงกลยุทธ์เพื่อทำให้องค์กรมีความแข็งแกร่งมากยิ่งขึ้น ผ่านการขับเคลื่อนกันทั้งจาก RD และ DIL การทำธุรกรรมดังกล่าวยังอยู่ภายใต้การอนุมัติตามกฎระเบียบและการอนุมัติอื่นๆ ที่เกี่ยวข้องทั้งหมด และคาดว่าจะแล้วเสร็จภายในเดือนมีนาคม 2567

ทั้งนี้ RD ได้เริ่มเข้ามาเป็นแฟรนไชส์ร้าน KFC เมื่อปี 2559 ช่วงแรกมีสาขารวม 127 แห่ง ภายในระยะเวลา 7 ปี RD สามารถขยายร้าน KFC ได้ถึง 274 แห่งเมื่อถึงเดือนกันยายน 2566 ซึ่งการขยายสาขาของ RD ส่งผลให้เกิดการสร้างงานและโอกาสให้คนไทยกว่า 4,500 ชีวิต

“การเปลี่ยนแปลงนี้เองที่ทำให้การแข่งขันของเคเอฟซีในนาม 3 ผู้รับสิทธิ์เป็นที่จับตามองขึ้นมาอีกครั้งหนึ่งว่าจะรุนแรงมากขึ้นอย่างไร เพราะแต่ละรายนอกจากจะต้องต่อสู้กับฟาสต์ฟูดเซกเมนต์อื่นๆ หรืออาหารอื่นๆ ที่เป็นตัวเลือกมากมายของผู้บริโภคในท้องตลาดแล้ว ก็ยังต้องมาแข่งขันช่วงชิงกันเองอีกในการเข้าถึงผู้บริโภคแฟนพันธุ์แท้ของเคเอฟซีอีกด้วย”


*** RD เกมรบจากนี้เข้มข้นแน่
เริ่มกันที่ค่าย RD แม้ว่ากระบวนการต่างๆ ของการเปลี่ยนการถือหุ้นยังไม่แล้วเสร็จในแง่รายละเอียด และยังไม่มีการเปิดเผยแผนงานรายละเอียดออกมาว่าจะเดินกลยุทธ์ และลงทุนอย่างไรต่อไป

แต่เชื่อแน่ว่าเกมรบของ RD จากนี้จะต้องเข้มข้นกว่าเดิมแน่นอน

เนื่องจากผู้ร่วมทุนรายใหม่นี้ไม่ใช่ย่อยๆ เอาเสียเลย

ทั้งนี้ บริษัท DIL เป็นที่รู้จักกันดีในฐานะผู้บริหารของกลุ่มธุรกิจ Quick Service Restaurants/Limited Service Restaurants (QSR/LSR) ในประเทศอินเดีย เนปาล และไนจีเรีย

สำหรับกลุ่มบริษัท DIL ในประเทศอินเดียเป็นกลุ่มบริหารจัดการขนาดใหญ่ในสายธุรกิจ QSR/LSR ให้กับแบรนด์ชั้นนำระดับโลก อย่าง KFC, Pizza Hut, Costa Coffee และกลุ่มธุรกิจในเครือด้วยเครือข่ายสาขาที่มีมากกว่า 1,350 แห่งทั่วโลก รวมไปถึง ความสามารถในการบริหารจัดการอย่างเข้มแข็ง ส่งผลให้ DIL มุ่งมั่นที่จะก้าวขึ้นเป็นหนึ่งในกลุ่มบริหารจัดการสายธุรกิจ QSR/LSR ที่ใหญ่ที่สุดในภูมิภาค เพื่อบรรลุเป้าหมายในการเสริมสร้างการเติบโตอย่างต่อเนื่อง รวมไปถึงการต่อยอดความสำเร็จในทุกพื้นที่ที่บริษัทเข้าไปบริหารจัดการธุรกิจ

เคเอฟซี ก็เป็นแบรนด์ที่ผู้ร่วมทุนรายใหม่นี้บริหารจัดการมาแล้วเช่นกัน


*** CRG เดินหน้าดิจิทัลแพลตฟอร์ม
นายปิยะพงศ์ จิตต์จำนงค์ ผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการใหญ่อาวุโส QSR & Western Cuisine ผู้บริหารแบรนด์ เคเอฟซี ภายใต้การบริหารโดย บริษัท เซ็นทรัล เรสตอรองส์ กรุ๊ป จำกัด เปิดเผยว่า ในปีนี้ ซีอาร์จี ก็ยังคงมีแผนการขยายธุรกิจแบรนด์เคเอฟซีอย่างต่อเนื่อง ทั้งทางด้านการตลาด การขยายสาขา การพัฒนาบริการใหม่ๆ รวมทั้งการนำเสนอเมนูใหม่ๆด้วย

โดยปี 2567 นี้ตั้งงบประมาณเบื้องต้นไว้ที่ 500 ล้านบาท เพื่อทำการขยายสาขาใหม่ที่เป็นรูปแบบดิจิทัลสโตร์แพลตฟอร์ม ประมาณ 20 สาขา รวมไปถึงการรีโนเวตร้านสาขาเดิมให้เป็นดิจิทัลแพลตฟอร์มอีกประมาณ 20 สาขา จากปัจจุบันมีประมาณ 335 สาขา และคาดว่าภายในสิ้นปี 2567 นี้จะมีสาขารวมไม่ต่ำกว่า 350 สาขา โดยปี 2566 ที่ผ่านมาเปิดสาขาใหม่รวม 20 แห่ง ปีที่แล้วซีอาร์จีคาดว่าจะมีรายได้เคเอฟซีประมาณ 7,000 ล้านบาท เติบโตจากปี 2565 ที่มียอดขายประมาณ 6,300 ล้านบาท หรือประมาณ 11%


ปีนี้ซีอาร์จีจะบุกหนักดิจิทัลสโตร์แพลตฟอร์ม เพื่อตอบรับกับไลฟ์สไตล์ของผู้บริโภคยุคใหม่หลังจากที่ปีที่แล้วประเดิมแฟลกชิปสโตร์ (Flagship Store) สาขาแรกไปแล้ว ด้วยงบลงทุนกว่า 17 ล้านบาทในการปรับโฉมใหม่ที่สาขาเซ็นทรัลเวิลด์ เพื่อนำเสนอประสบการณ์ที่เหนือชั้น โดยร้านเคเอฟซี Flagship Store โฉมใหม่ที่เซ็นทรัลเวิลด์มาในคอนเซ็ปต์ “KFC Digital Lifestyle Hub” ที่เน้นประสบการณ์การรับประทานที่สนุกขึ้นกว่าเดิม ด้วยดีไซน์ใหม่ล้ำสมัย ในบรรยากาศที่ดีที่สุด ทันสมัยที่สุด พร้อมเปิดตัวบริการ Bucket Kiosk จุดสั่งอาหารผ่านเครื่องสั่งอาหารและชำระเงินอัตโนมัติรองรับวิถีชีวิตคนรุ่นใหม่ เพื่อให้สนุกกับการเลือกและสั่งอาหารด้วยตนเองได้มากยิ่งขึ้น ซึ่งจะช่วยให้สามารถสัมผัสประสบการณ์การรับประทานที่สนุกขึ้นกว่าเดิม แต่ยังคงเอกลักษณ์รสชาติความอร่อยแบบดั้งเดิมตามแบบฉบับของ เคเอฟซี พร้อมทั้งยังเปิดจุด Photo Spot ภายในร้านด้วยภาพ “Bucket Crew Space” ที่ถ่ายทอดเรื่องราวของ KFC ผ่านมุมมองของศิลปินกราฟฟิตีชาวไทย JECKS BKK (ธัชกร ศิรวัชรเดช) และบริการ KFC Café by Arigato Coffee Bar มุมกาแฟใหม่ในร้าน

การเปลี่ยนโฉมร้านเคเอฟซีในครั้งนี้ จุดมุ่งหมายเพื่อให้สอดรับกับพฤติกรรมคนรุ่นใหม่ที่ใช้เทคโนโลยีเป็นส่วนหนึ่งของชีวิต ชอบทดลองอะไรใหม่ๆ ต้องการความอร่อย สะดวกและราคาที่เข้าถึงง่าย จึงคาดว่าจะได้รับการตอบรับที่ดี สามารถสร้าง Engagement กับกลุ่มคนรุ่นใหม่ กลุ่มคนทำงาน และผู้มาใช้บริการที่ศูนย์การค้าเซ็นทรัลเวิลด์ และช่วยสร้าง Top of Mind ได้

“ธุรกิจร้านอาหารเป็นที่น่าจับตามอง และมีการแข่งขันกันอย่างดุเดือด ด้วยมีผู้เล่นในตลาดหลากหลาย ทั้งรายเก่า รายใหม่ ที่มีการเปลี่ยนแปลงอยู่ตลอดเวลา โดยเฉพาะอย่างยิ่งในกลุ่มของเชนธุรกิจร้านอาหาร QSR จึงถือเป็นความท้าทายสำหรับผู้เล่นหลักในการพัฒนาและปรับตัวให้สอดคล้องกับพฤติกรรมของผู้บริโภคที่เปลี่ยนแปลงไป ทั้งในแง่ของการปรับกลยุทธ์ต่างๆ เพื่อบริหารจัดการต้นทุนในการรับมือกับภาวะเงินเฟ้อที่เกิดขึ้น ในขณะเดียวกันก็ยังสามารถสร้างยอดขายได้”


*** QSA สร้างนวัตกรรมและลงทุนต่อเนื่อง
ส่วนฟากไทยเบฟ ที่มีบริษัท เดอะ คิวเอสอาร์ ออฟ เอเชีย จำกัด (QSA) เป็นหัวหอกหลักของเคเอฟซี ก็เป็นอีกค่ายที่มีความพร้อมไม่แพ้ใครโดยเฉพาะเรื่องเงินทุนและทำเลสถานที่
นางนงนุช บูรณะเศรษฐกุล ผู้ช่วยกรรมการผู้อำนวยการใหญ่ ผู้บริหารสูงสุด สายธุรกิจอาหาร ประเทศไทย กล่าวไว้ก่อนหน้านี้ว่า คิวเอสเอมีความพร้อมที่จะผลักดันแบรนด์เคเอฟซีอย่างเต็มที่ โดยวางแผนที่จะต้องมีการทำอะไรใหม่ๆ ต่อเนื่องเพื่อสร้างนวัตกรรมให้กับตลาดคิวเอสอาร์โดยเฉพาะไก่ทอดที่เราทำอยู่

สิ่งสำคัญก็คือ การเข้าถึงผู้บริโภคให้มากที่สุด และตอบสนองความต้องการของผู้บริโภคได้ตรงจุด การขยายสาขาย่อมต้องมีรูปแบบโมเดลใหม่ๆ เช่น การเปิดสาขาที่บริการเพิ่มเช่นจุดชาร์จไฟฟ้ารถอีวี หรือบริการใหม่ๆ ที่สร้างความสะดวก เช่น วิธีการซื้อ การส่ง การรับสินค้า เป็นต้น หรือการพัฒนาเมนูใหม่ๆ ที่ต้องสร้างความดึงดูดความแปลกใหม่ เพราะในตลาดอาหารผู้บริโภคมีทางเลือกมากมาย หรือแม้แต่การทำตลาดด้วยแคมเปญแปลกๆ การสร้างไวรัลทางด้านสื่อโซเชียล สิ่งเหล่านี้ก็มีความสำคัญมองข้ามไม่ได้เช่นกัน


เมื่อปีที่แล้ว บริษัท เดอะ คิว เอส อาร์ ออฟ เอเชีย จำกัด ได้เริ่มทดลองเปิดร้าน ‘KFC Green Store’ ตามแนวคิด Zero Waste เพื่อรณรงค์ลดขยะตั้งแต่ต้นทาง รวมถึงการออกแบบร้าน สร้าง และตกแต่งร้านด้วยวัสดุรีไซเคิล ตลอดจนติดตั้ง Solar Rooftop เพื่อช่วยประหยัดการใช้พลังงานไฟฟ้า อีกทั้งยังได้ร่วมมือกับ การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย เปิดสถานีชาร์จ ‘EleX by EGAT’ สำหรับชาร์จรถยนต์ไฟฟ้าเป็นแห่งแรกของร้าน KFC ในประเทศไทย ที่สาขาดีโป บาย วนชัย นอกจากนี้ยังมีสถานีชาร์จที่ร้าน KFC อีก 2 แห่ง ได้แก่ ที่สาขาราชพฤกษ์ และสาขานวมินทร์ 70 กรุงเทพฯ

“เรายังมีแผนขยายสาขาเคเอฟซีใหม่ๆ โดยเฉพาะโมเดลคอนเซ็ปต์ใหม่ๆ และปรับปรุงสาขาเดิม รวมทั้งการนำเสนอบริการและนวัตกรรมที่ตอบสนองชีวิตคนยุคใหม่นี้อย่างเต็มที่” นางนงนุชกล่าวย้ำ








กำลังโหลดความคิดเห็น