xs
xsm
sm
md
lg

ริชิ ซูนัค ทบทวนเลิกขายรถเครื่องยนต์สันดาป ทำตลาดรถอังกฤษเดือดค่ายรถสับสน

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



ช่วงของการเปลี่ยนผ่าน เรามักจะมีปัญหาที่เกิดจากความสับสน ความไม่มั่นใจ และอะไรต่อมิอะไรที่ประดังเข้ามา แต่ที่แน่ๆ ถ้าการสื่อสารมีความชัดเจนและมีจุดยืนที่แน่วแน่ ความสับสนวุ่นวายและความเสียหายในด้านต่างๆ ก็ยากที่จะเกิดขึ้น ซึ่งตอนนี้บรรดาบริษัทซัพพลายเออร์ในด้านต่างๆ ที่เกี่ยวข้องกับอุตสาหกรรมรถยนต์ในอังกฤษ กำลังออกอาการกุมขมับ เพราะความสับสนในการให้ข้อมูล และความแน่วแน่ในเชิงนโยบายของประเทศที่กำลังจะพาอุตสาหกรรมรถยนต์จากเครื่องยนต์สันดาปภายในไปสู่ยุคของพลังขับเคลื่อนด้วยไฟฟ้า

มีรายงานออกมาว่า ในประเทศอังกฤษ ซึ่งเป็นหนึ่งในกลุ่มประเทศที่กำลังจะขับเคลื่อนตัวเองเข้าสู่บยุคของรถยนต์พลังไฟฟ้า และมีการวางกรอบนโยบายในการเดินหน้าเข้าสู่ยุคนี้ด้วยการสั่งห้ามจำหน่ายรถยนต์ใหม่ที่ใช้เครื่องยนต์สันดาปภายในปี 2030 แต่สุดท้ายก็มีการยืนยันออกมาว่ารัฐบาลกำลังสั่งทบทวนแผนการนี้ และมีแนวโน้มว่าจะชะลอการบังคับใช้ข้อกำหนดนี้ออกไปอย่างไม่มีกำหนด

เรื่องนี้ถูกยืนยันหนักแน่นผ่านทางปากของ ริชิ ซูนัค นายกรัฐมนตรีของอังกฤษ ที่กล่าวเมื่อวันพุธที่ผ่านมาว่า เขากำลังวางแผนที่จะยืดข้อกำหนดนี้ออกไปอย่างน้อยก็อีก 5 ปีเพื่อลดปัญหาในเรื่องของการสร้างผลกระทบในด้านรายจ่ายของครัวเรือน เพราะหลายบ้านอาจจะต้องมีการเปลี่ยนรถยนต์ที่เป็นพาหนะในการใช้งาน โดยเชื่อว่า คำยืนยันนี้จะส่งผลให้การยกเลิกการห้ามจำหน่ายรถยนต์ใหม่ที่เป็นเครื่องยนต์สันดาปภายในถูกยืดออกไปจนถึงปี 2035

แน่นอนว่าเมื่อข่าวนี้หลุดออกมา สิ่งที่เกิดขึ้นตามมาคือ ความปั่นป่วนในระดับปานกลางของกลุ่มอุตสาหกรรมผลิตชิ้นส่วน และเทคโนโลยีด้านยานยนต์ ซึ่งหลายแห่งลงทุนไปแล้วในระดับพันล้านปอนด์เพื่อวางแผนในการรองรับกับการผลิตรถยนต์พลังไฟฟ้าภายในประเทศตามข้อกำหนดเดิมที่จะมีการบังคับใช้ในอีก 7 ปีข้างหน้า

แนวคิดของ ซูนัคในการนำเสนอการเปลี่ยนแปลงนโยบายดังกล่าวนี้ ก็เพื่อทำให้อังกฤษสอดคล้องกับการห้ามขายรถยนต์รุ่นใหม่ใช้เครื่องยนต์สันดาปภายในของสหภาพยุโรปในปี 2035 แต่นักวิเคราะห์ของ EY กล่าวว่าตลาดทั้งสองนั้น "ไม่เหมือนกัน"


บริษัทรถยนต์เรียงหน้าออกมาถล่มยับ

เกีย ซึ่งเป็นบริษัทผู้ผลิตรถยนต์จากเกาหลีใต้ และมีแผนในการลงทุนผลิตรถยนต์ในอังกฤษ รวมถึงการเตรียมเปิดตัวรถยนต์ใหม่ที่เป็นรถยนต์พลังไฟฟ้า หรือ BEV มากถึง 9 รุ่นเปิดเผยว่า รู้สึกผิดหวังกับการให้ข้อมูลในเรื่องนี้ และความเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นต่อนโยบายที่ถูกแจ้งออกมาแล้ว และทุกคนก็เริ่มออกสตาร์ทในการลงทุนและการทำงานไปแล้ว

‘การประกาศครั้งนี้สร้างผลกระทบอย่างมากไม่เฉพาะบริษัทรถยนต์เท่านั้น แต่รวมถึงบริษัทต่างๆ ที่อยู่ในห่วงโซ่ของการผลิต และขณะเดียวกันยังสร้างความสับสนในด้านการรับรู้และรับทราบข้อมูลอย่างมาก’

นอกจากนั้น อีกประเด็นที่ถูกพูดถึงและเป็นเรื่องที่ทางบริษัทรถยนต์พยายามจะผลักดันและแนะนำให้กับรัฐบาลอังกฤษพิจารณาคือ ก่อนที่จะมีการสั่งห้ามจำหน่ายรถยนต์ที่มีเครื่องยนต์สันดาปภายใน รัฐบาลควรพิจารณาถึงภาพรวมของรถยนต์ที่แล่นบนท้องถนนให้ดีก่อน ไม่ควรออกกฎหมายด้วยการกำหนดเวลา และมาเร่งให้บริษัทรถยนต์ต้องรีบดำเนินดำเนินการตามแผน

“เราต้องการกรอบการกำกับดูแลที่ชัดเจนและเชื่อถือได้อย่างเร่งด่วน ซึ่งจะสร้างความเชื่อมั่นของตลาดและความเชื่อมั่นของผู้บริโภค รวมถึงเป้าหมายที่มีผลผูกพันสำหรับการเปิดตัวโครงสร้างพื้นฐานและสิ่งจูงใจเพื่อให้มั่นใจในทิศทางของการเดินทาง” โฆษกของ Volkswagen UK กล่าว

อย่างไรก็ตาม ทางด้าน Toyota คือ ผู้ผลิตรถยนต์เพียงไม่กี่รายที่ออกความเชิงในเชิงสนับสนุนกับความเปลี่ยนแปลงในครั้งนี้ของนายกรัฐมนตรี Sunak เพราะช่วยให้อุตสาหกรรมและผู้บริโภคปรับตัวได้ และ "ตระหนักดีว่าเทคโนโลยีที่ปล่อยมลพิษต่ำและราคาไม่แพงทั้งหมด ก็ยังสามารถมีบทบาทในการเปลี่ยนแปลงยานยนต์ในทางปฏิบัติได้"

นั่นหมายความว่า เทคโนโลยีอย่างไฮบริด หรือเครื่องยนต์ลูกผสมในรูปแบบต่างๆ ยังเป็นตัวแปรที่มีความสำคัญในการช่วยเปลี่ยนผ่านได้เป็นอย่างดี



ความลังเลส่งผลมากกว่าตัวเลขที่เป็นเงิน

รถยนต์พลังไฟฟ้าเป็นของใหม่ที่จะส่งผลต่อพฤติกรรมการใช้รถยนต์ของคนในวงกว้าง และผู้คนจะต้องมีการปรับพฤติกรรมในการใช้รถยนต์ของตัวเองให้สอดคล้องต่อความเปลี่ยนแปลง ซึ่งถ้าทำได้เร็ว ก็จะยิ่งทำให้ความเปลี่ยนแปลงเกิดขึ้นได้เร็วตามไปด้วย แต่ทว่าสิ่งที่เกิดขึ้นมาในครั้งนี้บรรดานักวิเคราะห์และผู้บริหารด้านอุตสาหกรรมรถยนต์กล่าวว่า จะส่งกระทบเป็นวงกว้าง และอาจจะสร้างความเสียหายมากว่าตัวเลขที่เป็นตัวเงินเสียอีก

เพราะความล้มเหลวของรัฐบาลส่งผลให้อังกฤษเสี่ยงที่จะสูญเสียแรงผลักดันล่าสุดในการหันมาใช้การเดินทางที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมมากขึ้น ทำให้ผู้ซื้อรถยนต์เลิกคิดที่จะเปลี่ยนมาใช้รถยนต์พลังไฟฟ้า และขัดขวางแผนการของผู้ให้บริการจุดชาร์จไฟฟ้าที่เตรียมวางแผนขยายจุดชาร์จไฟสาธารณะเพื่อเพิ่มความสะดวกในการใช้งานของรถยนต์ประเภทนี้

“ความล่าช้านี้จะทำให้การลงทุนในโครงสร้างพื้นฐานที่เกี่ยวข้องกับรถยนต์พลังไฟฟ้าตกอยู่ในความเสี่ยง ทั้งในเรื่องของการขยายตัวของตลาดในด้านต่างๆ โครงการริเริ่มด้านแบตเตอรี่ พลังงานแสงอาทิตย์ และพลังงานสีเขียวในรูปแบบต่างๆ ” Adrian Keen ประธานเจ้าหน้าที่บริหารของเครือข่ายการชาร์จสาธารณะ InstaVolt กล่าว

คงต้องรอดูกันต่อไปว่า สุดท้ายการตัดสินที่จะเลื่อนการบังคับใช้ออกไปอีก 5 ปีของเรื่องนี้จะส่งผลในระยะสั้นให้กับประเทศอักฤษได้มากน้อยแค่ไหน แต่ที่แน่ๆ บรรดาผู้ที่ออกสตาร์ทก่อน ไม่ได้เปรียบผู้ที่มาทีหลังแล้วในตอนนี้


กำลังโหลดความคิดเห็น