xs
xsm
sm
md
lg

“ภัณฑิล” ถก รมช.การค้าตุรกี เห็นพ้องประชุมจัด JTC ร่วมมือฮาลาล

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



“ภัณฑิล” ร่วมประชุม COMCEC สมัยที่ 39 ที่นครอิสตันบูล ตามคำเชิญของรัฐบาลตุรกี ใช้โอกาสนี้หารือ รมช.กระทรวงการค้าตุรกี เห็นพ้องนัดประชุม JTC ครั้งแรก เพื่อเป็นเวทีขยายความร่วมมือการค้า การลงทุน และความร่วมมือทางเศรษฐกิจระหว่างกัน โดยเฉพาะด้านฮาลาล

นายภัณฑิล จงจิตรตระกูล ผู้ช่วยรัฐมนตรีประจำกระทรวงพาณิชย์ เปิดเผยว่า ได้รับมอบหมายจากนายภูมิธรรม เวชยชัย รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ ให้เข้าร่วมการประชุมคณะกรรมการบริหารด้านเศรษฐกิจและการค้าขององค์การความร่วมมืออิสลาม (the Standing Committee for Economic and Commercial Cooperation of the Organisation of the Islamic Cooperation : COMCEC) สมัยที่ 39 เมื่อวันที่ 4-5 ธ.ค. 2566 ที่ผ่านมา ณ นครอิสตันบูล สาธารณรัฐตุรกี ตามคำเชิญของรัฐบาลตุรกี ในฐานะประเทศผู้สังเกตการณ์ขององค์การความร่วมมืออิสลาม (Organisation of Islamic Cooperation : OIC) ซึ่งเป็นการประชุมประจำปีของประเทศสมาชิก OIC ในระดับรัฐมนตรี เพื่อหารือถึงความร่วมมือด้านเศรษฐกิจการค้าระหว่างประเทศสมาชิก

ในการไปประชุมครั้งนี้ได้มีโอกาสพบหารือกับนายมุสตาฟา ทุสจุ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงการค้าตุรกี เพื่อหาแนวทางส่งเสริมการค้าและการลงทุนระหว่างกัน โดยฝ่ายตุรกีได้แสดงความพร้อมที่จะเป็นเจ้าภาพจัดประชุมคณะกรรมการร่วมทางการค้า (Joint Trade Committee : JTC) ระดับรัฐมนตรี ครั้งที่ 1 ซึ่งเป็นเวทีที่จะหารือถึงแนวทางขับเคลื่อนความร่วมมือทางเศรษฐกิจการค้า และผลักดันการเจรจาความตกลงการค้าเสรี (FTA) ระหว่างไทย-ตุรกี ตลอดจนแก้ไขปัญหาและอุปสรรคทางการค้าและการลงทุน

ทั้งนี้ สองฝ่ายยังเห็นพ้องจะขยายความร่วมมือด้านเศรษฐกิจระหว่างกัน โดยเฉพาะด้านฮาลาล เนื่องจากไทยมีระบบตรวจสอบรับรองสินค้าฮาลาลที่มีประสิทธิภาพ และมีสินค้าเกษตรและอาหารฮาลาลคุณภาพมาตรฐานสูง จึงมีศักยภาพเติบโตในตลาดตุรกี

สำหรับกลุ่มประเทศ OIC ประกอบด้วย สมาชิก 57 ประเทศ ได้แก่ ตะวันออกกลาง แอฟริกา อเมริกาใต้ เอเชียกลาง เอเชียใต้ และอาเซียน ซึ่งนับเป็นตลาดใหม่ที่มีศักยภาพของไทย เนื่องจากสมาชิกส่วนใหญ่เป็นประเทศกำลังพัฒนาที่มีความต้องการสินค้าอุปโภคและบริโภคสูง โดยเฉพาะสินค้าเกษตรและอาหารฮาลาล จึงเป็นโอกาสของผู้ประกอบการไทยในการส่งออกสินค้าดังกล่าวไปยังกลุ่มประเทศ OIC มากขึ้น

ในช่วง 10 เดือนของปี 2566 (ม.ค.-ต.ค.) การค้าระหว่างไทยกับกลุ่มประเทศ OIC มีมูลค่า 76,388 ล้านดอลลาร์สหรัฐ โดยไทยส่งออกไปกลุ่ม OIC มูลค่า 30,557 ล้านดอลลาร์สหรัฐ และไทยนำเข้าจากกลุ่ม OIC มูลค่า 45,831 ล้านดอลลาร์สหรัฐ สินค้าส่งออกสำคัญ เช่น ยานยนต์และชิ้นส่วน เม็ดพลาสติก เคมีภัณฑ์ ข้าว และเครื่องจักรกลและส่วนประกอบ และสินค้านำเข้าสำคัญ เช่น น้ำมันดิบ ก๊าซธรรมชาติ น้ำมันสำเร็จรูป เคมีภัณฑ์ และถ่านหิน


กำลังโหลดความคิดเห็น