“พิมพ์ภัทรา วิชัยกุล” รัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม เผยที่ประชุมคณะกรรมการขับเคลื่อนและติดตามนโยบายการส่งเสริมและพัฒนาอุตสาหกรรมฮาลาลฯ นัดแรก เร่งพิจารณาแนวทางการขับเคลื่อนการพัฒนาอุตสาหกรรมฮาลาลของประเทศไทย ผ่านกลไกคณะกรรมการอุตสาหกรรมฮาลาลแห่งชาติ (กอฮช.) และการจัดตั้งศูนย์อุตสาหกรรมฮาลาล เพื่อเพิ่มโอกาสในการส่งออกของผู้ประกอบการอุตสาหกรรมฮาลาลไทยในระดับสากล
นางสาวพิมพ์ภัทรา วิชัยกุล รัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม เปิดเผยว่า คณะกรรมการขับเคลื่อนและติดตามนโยบายการส่งเสริมและพัฒนาอุตสาหกรรมฮาลาลในพื้นที่ระเบียงเศรษฐกิจภาคใต้ (Southern Economic Corridor: SEC) ได้มีการประชุม ครั้งที่ 1/2566 เมื่อวันที่ 17 พฤศจิกายน 2566 ได้เล็งเห็นโอกาสการเติบโตของอุตสาหกรรมฮาลาลของไทยไปยังตลาดโลก โดยจากข้อมูลในปี 2564 ตลาดอุตสาหกรรมฮาลาลโลกมีมูลค่าสูงถึง 2.1 ล้านล้านเหรียญสหรัฐ ซึ่งคาดว่าในปี 2567 จะมีมูลค่าตลาดเพิ่มขึ้นเป็น 2.325 ล้านล้านเหรียญสหรัฐ โดยเติบโตเฉลี่ยร้อยละ 7.5 ต่อปี และในปี 2565 มูลค่าการส่งออกอาหารฮาลาลของไทยมีมูลค่า 213,816 ล้านบาท โดยมีส่วนแบ่งในตลาดโลกร้อยละ 2.7 เป็นอันดับที่ 11 ของโลก ซึ่งอาหารฮาลาลส่งออกของไทยส่วนใหญ่ ร้อยละ 78 เป็นฮาลาลโดยธรรมชาติ ส่วนที่เหลือร้อยละ 22 ต้องผ่านการรับรองฮาลาล โดยเฉพาะกลุ่มเนื้อสัตว์และอาหารพร้อมรับประทาน
ทั้งนี้ ที่ประชุมคณะกรรมการฯ ได้พิจารณาแนวทางการขับเคลื่อนการพัฒนาอุตสาหกรรมฮาลาลของประเทศไทย ผ่านกลไกคณะกรรมการอุตสาหกรรมฮาลาลแห่งชาติ (กอฮช.) และการจัดตั้งศูนย์อุตสาหกรรมฮาลาล ซึ่งภารกิจของศูนย์ดังกล่าวครอบคลุมทั้งด้านการส่งเสริมการค้าระหว่างประเทศ โดยเร่งรัดจัดทำข้อตกลงทางการค้าเพื่อเปิดตลาด ส่งเสริมการขยายตลาดการค้าระหว่างประเทศ และประสานความร่วมมือระหว่างหน่วยงานภาครัฐ ภาคเอกชนทั้งในและต่างประเทศ (National Focal Point) และด้านพัฒนาการผลิตและมาตรฐาน ซึ่งเน้นการทำวิจัยนวัตกรรมเทคโนโลยีและผลิตภัณฑ์ฮาลาล โดยกำหนดสินค้าฮาลาลเป้าหมายในแต่ละปี พัฒนาโครงสร้างพื้นฐานด้านโลจิสติกส์ฮาลาล ให้คำปรึกษาและแนะนำทางวิชาการ และเป็นศูนย์กลางบูรณาการข้อมูลด้านการผลิตอุตสาหกรรมฮาลาล ซึ่งที่ประชุมมีมติเห็นชอบในหลักการของเรื่องดังกล่าว เพื่อนำเสนอต่อนายกรัฐมนตรี/คณะรัฐมนตรี ต่อไป ทั้งนี้ ศูนย์ฯ จะช่วยสนับสนุนและส่งเสริมการดำเนินงานของสำนักงานคณะกรรมการกลางอิสลามแห่งประเทศไทย รวมทั้งอำนวยความสะดวกให้กับผู้ประกอบการอุตสาหกรรมฮาลาลในการขอรับรองมาตรฐานฮาลาลทั่วประเทศต่อไป
นอกจากนี้ กรอบการดำเนินงานของศูนย์อุตสาหกรรมฮาลาล ประกอบด้วย ด้านการขยายตลาดการค้าอุตสาหกรรมฮาลาลใหม่ๆ ในต่างประเทศ ได้แก่ อาเซียน OIC/ GCC (เช่น สหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ ซาอุดีอาระเบีย) แอฟริกา จีน ผ่านการเจรจาจัดทำกรอบความร่วมมือในการขยายตลาดสินค้าและบริการฮาลาล สร้างความร่วมมือกับหน่วยงานเครือข่ายฮาลาล (Thai Halal Network) ส่งเสริมและขยายตลาดผ่านกิจกรรมจัดงาน Halal Expo 2024 และกิจกรรมทางการทูต เช่น งาน Thai Night เพื่อเผยแพร่สินค้าฮาลาลไทย ส่งเสริมประชาสัมพันธ์ และสร้างภาพลักษณ์ สินค้าและบริการฮาลาลไทยในภารกิจ MICE รวมทั้งด้านการพัฒนาผลิตภัณฑ์ฮาลาลต้นแบบเพื่อผู้บริโภคมุสลิม ได้แก่ การจัดอบรม การวิจัยและพัฒนา (R&D) การยกระดับบุคลากร และการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐาน พัฒนาและจัดทำต้นแบบ (Role Model) เพื่อยกระดับผู้ประกอบการอุตสาหกรรมฮาลาลเพื่อการส่งออก เช่น โรงงานแปรรูป โรงฆ่าสัตว์ โดยผ่านการให้คำปรึกษา ตรวจประเมิน โดยกำหนดสินค้าฮาลาลเป้าหมายในระยะแรก เช่น เนื้อสัตว์/อาหารทะเล อาหารแปรรูปพร้อมรับประทาน อาหารฮาลาลโดยธรรมชาติ อาหารมุสลิมรุ่นใหม่ แฟชั่นฮาลาล เครื่องสำอาง ยา/สมุนไพร ท่องเที่ยว เป็นต้น ทั้งนี้ การดำเนินงานภายใต้ศูนย์ฯ คาดว่าจะทำให้ GDP ภาคอุตสาหกรรมขยายตัวได้ร้อยละ 1.2 ภายในระยะเวลา 3 ปี