xs
xsm
sm
md
lg

“พิมพ์ภัทรา” ชูสมดุล 3 เสาหลักขับเคลื่อนความยั่งยืนเศรษฐกิจไทย

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



“พิมพ์ภัทรา” รมว.อุตสาหกรรม ส่งสัญญาณให้ภาคเอกชนเร่งรับมือกติกาโลกมุ่งการพัฒนาสู่ความยั่งยืน ชูนโยบายสร้างสมดุลภาคท่องเที่ยว อุตสาหกรรม และเกษตร ให้โรงงานต้องอยู่คู่กับชุมชนและสิ่งแวดล้อม ขณะที่ "ส.อ.ท." แนะรัฐดูแลค่าไฟฟ้าทั้งระบบแบบยั่งยืน

นางสาวพิมพ์ภัทรา วิชัยกุล รัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม
เป็นประธานและแสดงปาฐกถาพิเศษในงานประจำปี OIE FORUM 2566 “MIND : Set for Sustainability ปรับมุมคิด พลิกอุตสาหกรรมไทยสู่ความยั่งยืน” หัวข้อ “ขับเคลื่อนอุตสาหกรรมไทย สู่เศรษฐกิจไทยที่ยั่งยืน” จัดโดยสำนักงานเศรษฐกิจอุตสาหกรรม (สศอ.) กระทรวงอุตสาหกรรม ว่า ไทยเติบโตมาได้ด้วยเสาหลักทั้งภาคการท่องเที่ยวบริการ การส่งออกคือภาคอุตสาหกรรม และภาคเกษตร ซึ่งทั้งหมดต้องมีรากฐานที่เข้มแข็งและไม่เน้นน้ำหนักไปที่เสาใดเสาหนึ่งเพื่อความสมดุล ในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจผ่านการทำงานอย่างบูรณาการเพื่อรองรับการเปลี่ยนแปลงต่างๆ

“เราจะเห็นว่าเสาที่มั่นคงหลังจากที่เกิดผลกระทบต่อโควิด-19 แม้จะชะงักไปบ้างแต่ภาคอุตสาหกรรมก็ยังคงเป็นเสาหลักสำคัญของเศรษฐกิจไทย กระทรวงอุตสาหกรรมที่ผ่านมาภาพอาจจะไม่เป็นบวกมากนักทั้งภาพการลอบทิ้งขยะ การขออนุญาตที่ล่าช้า แต่อยากให้กลับมามองการทำงานข้าราชการที่ทำงานอย่างหนัก ซึ่งนโยบายของกระทรวงอุตสาหกรรมมุ่งเน้นการจัดตั้งโรงงานจะต้องพูดคุยกับชุมชนดูแลซึ่งกันและกันก็จะทำให้อุตสาหกรรมไทยมีความยั่งยืน” รมว.อุตสาหกรรมกล่าว

นอกจากนี้ กติกาของโลกโดยเฉพาะให้สอดรับกับสิ่งแวดล้อมและอื่นๆ ล้วนต้องใช้เงินลงทุนทั้งสิ้น โดยทางธนาคารเพื่อการพัฒนาวิสาหกิจขนาดกลางและย่อม (เอสเอ็มอี) ก็ได้เข้ามาดูแลธุรกิจเอสเอ็มอีเช่นกัน รวมถึงกองทุนพัฒนาเอสเอ็มอีตามแนวประชารัฐ จึงทำให้มีแหล่งทุนควบคู่ไปกับการสร้างองค์ความรู้ เหล่านี้สามารถปรับเปลี่ยนรับเทรนด์ใหม่ในภายภาคหน้า เช่น ยานยนต์ไฟฟ้า (อีวี) ที่ยังคงดูแลควบคู่ไปกับรถยนต์สันดาป ภาคเกษตรก็จะต้องดูแลให้มั่นคงโดยมีแนวคิดการพัฒนานิคมอุตสาหกรรมฮาลาล ที่เปิดไปยังประเทศต่างๆ มีตลาดใหญ่กว่าเดิมเพื่อส่งเสริมให้พี่น้องประชาชน เกษตรกรที่มีช่องทางการสร้างรายได้มากขึ้นโดยจะยกระดับขึ้นมาเป็นกรม

นายเกรียงไกร เธียรนุกุล ประธานสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท. ) กล่าวว่า ส.อ.ท.ได้นำเสนอนายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรีและ รมว.คลังไปแล้วในการขับเคลื่อน 3 เป้าหมาย คือ การเพิ่มขีดแข่งขัน การขับเคลื่อนการเติบโตของ GDP และการพัฒนาที่ยั่งยืน (SDGs) และ 8 แนวทางการยกระดับการพัฒนาอุตสาหกรรม เช่น ปรับปรุงกฎหมาย การพัฒนาบุคลากร การบริหารจัดการต้นทุนพลังงาน ซึ่งแน่นอนว่าเป็นปัจจัยสำคัญต่อการแข่งขันของภาคอุตสาหกรรมไทย เป็นต้น

“ต้องขอบคุณนายกฯ ที่เข้ามาก็ได้ดูแลด้วยการลดต้นทุนให้กับภาคอุตสาหกรรมโดยลดค่าไฟฟ้างวดก.ย.-ธ.ค. 66 เหลือ 3.99 บาท/หน่วยต่ำกว่าที่เราคาดไว้ แต่ล่าสุดจะมีการปรับขึ้นอีกในงวดใหม่ เห็นว่าควรจะดูกันทั้งระบบเพื่อความยั่งยืน ทำไมเวียดนามถึงอยู่ที่ 2.70 บาท/หน่วยได้ ทำไมอินโดนีเซียอยู่ที่ 3.30 บาท/หน่วยได้ ดังนั้นเราอยากเห็นค่าไฟอยู่ระหว่าง 2.70-3.30 บาท/หน่วยในระยะยาว ซึ่งเป็นเรื่องที่เราคงจะต้องหารือกัน” นายเกรียงไกรกล่าว

นางวรวรรณ ชิตอรุณ ผู้อำนวยการสำนักงานเศรษฐกิจอุตสาหกรรม (สศอ.) กล่าวว่า 2-3 ปีนี้กฎระเบียบของโลกเปลี่ยนไปมาก มีมาตรการปรับคาร์บอนก่อนเข้าพรมแดน (CBAM) ของสหภาพยุโรปที่นำร่อง 6 กลุ่มก่อน และ 1 ม.ค. 69 จะเต็มรูปแบบ และขณะนี้สหรัฐฯ ก็เตรียมจะออกมาลักษณะคล้ายกัน ดังนั้น การพัฒนาแบบยั่งยืนจะเป็นเทรนด์ รวมไปถึงการกำหนดมาตรฐานต่างๆ ที่จะมากดดันต่อการค้าและส่งออกของไทยที่จำเป็นต้องปรับตัว เช่น ISO 50001 ด้านการจัดการพลังงาน ฯลฯ
กำลังโหลดความคิดเห็น