xs
xsm
sm
md
lg

"รัดเกล้า" ย้ำ ก.​อุตสาหกรรม​ เดินหน้าตั้งกรมอุตสาหกรรมฮาลาล​ หนุนยกระดับฮาลาลรองรับการท่องเที่ยวมุสลิมเต็มที่

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



"รัดเกล้า" ย้ำ รัฐบาล โดยกระทรวง​อุตสาหกรรม​ เดินหน้าตั้งกรมอุตสาหกรรมฮาลาล​ หนุนยกระดับฮาลาลรองรับการท่องเที่ยวมุสลิมเต็มที่ เพราะ​ "ฮาลาลเป็นยิ่งกว่าอาหาร​ ฮาลาลคือความศรัทธาและวิถีชีวิต"

วันนี้ (11 พ.ย.) นางรัดเกล้า อินทวงศ์ สุวรรณคีรี รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี กล่าวถึงอุตสาหกรรมอาหารฮาลาล เป็นอุตสาหกรรมเป้าหมายที่รัฐบาล โดยกระทรวงอุตสาหกรรมให้อุตสาหกรรม​ โดยรัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม​ พิมพ์ภัทรา วิชัยกุลสให้แนวทางไว้ว่า​ "อุตสาหกรรมฮาลาลมีมากกว่าเรื่องอาหาร​ แต่รวมถึงการผลิตหรือการบริการอื่น ที่ไม่ขัดต่อบัญญัติของศาสนาอิสลาม ได้แก่ เครื่องสำอางค์ เครื่องใช้ประจำวัน เครื่องนุ่งห่ม สาธารณูปโภค เป็นต้น​ การผลักดันให้ไทยได้เป็นศูนย์กลางอาหารฮาลาลในภูมิภาค หรือ ฮาลาลฮับ (Halal Hub) และเป็นครัวโลกนั้นเป็นเพียงจุดเริ่มต้น​ ฮาลาลเป็นยิ่งกว่าอาหาร​ ฮาลาลคือความศรัทธาและวิถีชีวิต เราจะไปให้ไกลกว่าแค่เรื่องอาหาร"

ในก้าวแรกนี้​ สำนักงานเศรษฐกิจอุตสาหกรรม (สศอ.) กระทรวงอุตสาหกรรมได้เตรียมมาตรการและแผนงาน รวมทั้งแก้ไขกฎระเบียบที่เป็นอุปสรรค เพื่อยกระดับอุตสาหกรรมอาหารฮาลาลสำหรับรองรับการท่องเที่ยวและผลักดันการส่งออกไปยังตลาดที่มีศักยภาพ เช่น ตะวันออกกลาง อาเซียน และเอเชียใต้ เป็นต้น นอกจากนี้จะมีการผลักดันกรมก่อตั้งกรมอุตสาหกรรมฮาลาล ขึ้นมาโดยเฉพาะ เพื่อยกระดับฮาลาลไทยสู่สากลอย่างเต็มที่ ​

ตลาดอาหารฮาลาลเป็นตลาดที่มีศักยภาพ ที่มีมูลค่ากว่า 2 ล้านล้านเหรียญสหรัฐฯ เติบโตเฉลี่ยร้อยละ 13.5 ตามสัดส่วนประชากรมุสลิมโลกที่เติบโตอย่างต่อเนื่อง ปัจจุบันประเทศไทยส่งออกสินค้าอาหารฮาลาลในปี 2566 เพียงครึ่งปีแรก (ม.ค.-ก.ค.) สามารถส่งออกมีมูลค่าถึง 136,503 ล้านบาท เติบโตเฉลี่ยร้อยละ 7 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน ส่วนใหญ่เป็นกลุ่มอาหารฮาลาลโดยธรรมชาติ เช่น ข้าว ธัญพืช น้ำตาลทราย ฯลฯ ในขณะที่กลุ่มอาหารที่ต้องผ่านการรับรอง เช่น เนื้อสัตว์-อาหารทะเล อาหารแปรรูป ฯลฯ มีอัตราการเติบโตลดลงร้อยละ 7.5 และ 10.3 ตามลำดับ ซึ่งไทยมีผู้ผลิตอาหารฮาลาลกว่า 15,043 ราย มีร้านอาหารฮาลาลมากกว่า 3,500 ร้าน ดังนั้น หากจะผลักดันให้อาหารฮาลาลของไทยขยายตลาดมากขึ้นและเป็นที่ยอมรับในตลาดโลก

"การผลักดันครั้งนี้​ เป็นโอกาสที่ดีมากสำหรับคนไทย​ โดยเฉพาะพี่น้องมุสลิม ซึ่งการที่ไทยมีพรหมแดนติดกับประเทศมาเลเซียนั้นเป็นจุดแข็งให้สามารถเป็นศูนย์กลางอาหารฮาลาลในภูมิภาค หรือ ฮาลาลฮับ (Halal Hub) เป็นฐานการผลิตที่ดีสำหรับทั้งชาวมุสลิมในประเทศเองและเพื่อส่งออกรองรับตลาดโลก สอดรับกับการเป็นครัวของโลกอย่างชัดเจน​ และที่น่าตื่นเต้นที่สุดคือนี่เป็นเพีบงแค่จุดเริ่มต้น" รัดเกล้าฯ กล่าว


กำลังโหลดความคิดเห็น