กรมการค้าต่างประเทศจัดทำร่างประกาศ เรื่อง การตรวจคุณสมบัติของสินค้าทางด้านถิ่นกำเนิดเพื่อการขอหนังสือรับรองถิ่นกำเนิดสินค้าที่ไม่ใช้สิทธิพิเศษทางภาษีศุลกากร สำหรับสินค้าเฝ้าระวัง พ.ศ. ... เพื่อกำหนดหลักเกณฑ์วิธีการยื่นคำขอตรวจคุณสมบัติผ่านระบบอิเล็กทรอนิกส์ และเพิ่มบัญชีสินค้าเฝ้าระวังไปสหรัฐฯ อีก 10 รายการ พร้อมเปิดรับฟังความคิดเห็นตั้งแต่วันนี้ ถึง 20 ธ.ค. 66
นายรณรงค์ พูลพิพัฒน์ อธิบดีกรมการค้าต่างประเทศ (คต.) เปิดเผยว่า กรมได้จัดทำ (ร่าง) ประกาศกรมการค้าต่างประเทศ เรื่อง การตรวจคุณสมบัติของสินค้าทางด้านถิ่นกำเนิดเพื่อการขอหนังสือรับรองถิ่นกำเนิดสินค้าที่ไม่ใช้สิทธิพิเศษทางภาษีศุลกากร สำหรับสินค้าเฝ้าระวัง พ.ศ. ... เพื่อกำหนดหลักเกณฑ์วิธีการยื่นคำขอตรวจคุณสมบัติให้สอดคล้องกับวิธีการทางอิเล็กทรอนิกส์ และปรับปรุงบัญชีรายการสินค้าเฝ้าระวังให้สอดคล้องกับมาตรการทางการค้าของประเทศผู้นำเข้า โดยเพิ่มเติมรายการสินค้าเฝ้าระวังกรณีการส่งออกสินค้าไปยังสหรัฐฯ จำนวน 10 รายการ ได้แก่ 1. ท่อเหล็ก 2. ลวดและเคเบิลทำจากอะลูมิเนียม 3. ล้อรถ 4. ส่วนประกอบรถ 5. ใบเลื่อย 6. พื้นไม้ 7. ผลิตภัณฑ์จากหินควอตซ์ 8. ไม้แขวนเสื้อ 9. สปริงด้านใน และ 10. ผลิตภัณฑ์จากไม้ ทั้งนี้ รวมรายการสินค้าเฝ้าระวังจากเดิม 48 รายการ เป็น 58 รายการ
ทั้งนี้ เพื่อเปิดโอกาสให้ทุกภาคส่วนได้ร่วมแสดงความเห็นต่อ (ร่าง) ประกาศดังกล่าว กรมขอเชิญหน่วยงานภาครัฐ ภาคเอกชน และผู้ที่สนใจ ร่วมแสดงความเห็นผ่านระบบกลางทางกฎหมายของสำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกา และเว็บไซต์กรมการค้าต่างประเทศ www.dft.go.th ตั้งแต่วันนี้ จนถึงวันที่ 4 ธ.ค. 2566 โดยสามารถติดต่อสอบถามข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่กองบริหารการนำเข้าและรับรองถิ่นกำเนิด หมายเลขโทรศัพท์ 0-2547-4808 หรืออีเมล dft.postverify.co@moc.go.th
ก่อนหน้านี้ กรมได้มีการพัฒนาระบบการให้บริการตรวจถิ่นกำเนิดสินค้า หรือ ROVERs Plus โดยระบบดังกล่าวสามารถรองรับการให้บริการตรวจถิ่นกำเนิดสินค้าได้เพิ่มขึ้น โดยสามารถรองรับการตรวจถิ่นกำเนิดสินค้า สำหรับสินค้าเฝ้าระวัง เพื่อใช้ประกอบการขอหนังสือรับรองถิ่นกำเนิดสินค้าที่ไม่ใช้สิทธิพิเศษทางภาษีศุลกากร (Form CO ทั่วไป) ซึ่งจากเดิมผู้ส่งออกต้องยื่นคำขอและรับผลการตรวจด้วยตนเองทางไปรษณีย์ หรือทาง E-mail เป็นสามารถยื่นคำขอและรับผลการตรวจผ่านระบบอิเล็กทรอนิกส์ ROVERs Plus เพื่อเป็นการอำนวยความสะดวก และปรับลดขั้นตอนการยื่นคำขอให้กับผู้ส่งออกมากยิ่งขึ้น