กรมการค้าต่างประเทศยกระดับมาตรการควบคุมสินค้าที่เกี่ยวข้องกับการแพร่ขยายอาวุธที่มีอานุภาพทำลายล้างสูง และสินค้าที่ใช้ได้สองทาง เตรียมนำมาตรการออกใบอนุญาตมาบังคับใช้ หลังจากก่อนหน้านี้ ให้เป็นเรื่องสมัครใจ แต่หลังจากเกิดความขัดแย้งในหลายพื้นที่ทั่วโลก จึงต้องคุมเข้ม หวังสร้างความเชื่อมั่นต่อสินค้าไทยให้กับนานาชาติ
นายรณรงค์ พูลพิพัฒน์ อธิบดีกรมการค้าต่างประเทศ เปิดเผยว่า ปัจจุบันมีเหตุการณ์ความไม่สงบเกิดขึ้นในหลายพื้นที่ทั่วโลก รวมทั้งความตึงเครียดระดับภูมิภาคเกิดจากหลายปัจจัย จนนำไปสู่สถานการณ์ความขัดแย้งที่รุนแรง ส่งผลต่อเศรษฐกิจและการค้าในหลายประเทศรวมถึงไทย ทำให้กรมต้องต้องยกระดับมาตรการควบคุมสินค้าที่เกี่ยวข้องกับการแพร่ขยายอาวุธที่มีอานุภาพทำลายล้างสูง (Weapons of Mass Destruction : WMD) และสินค้าที่ใช้ได้สองทาง (Dual-Use Items : DUI) ให้เข้มงวดมากยิ่งขึ้น เพื่อป้องกันสินค้าในทางพาณิชย์นำไปถูกปรับเปลี่ยนใช้ในการทำลายล้าง โดยเฉพาะในส่วนการสู้รบหรือก่อความไม่สงบในภูมิภาค
โดยปัจจุบันไทยมี พ.ร.บ.การควบคุมสินค้าที่เกี่ยวข้องกับการแพร่ขยายอาวุธที่มีอานุภาพทำลายล้างสูง พ.ศ. 2562 เป็นกฎหมายเฉพาะในการกำกับดูแลสินค้าที่เกี่ยวข้องกับการแพร่ขยาย WMD และสินค้า DUI ซึ่ง พ.ร.บ. ดังกล่าวได้ให้อำนาจกระทรวงพาณิชย์ในการพิจารณากำหนดมาตรการเพื่อการกำกับดูแลอย่างครบถ้วน ประกอบด้วย 1.มาตรการอนุญาต (Licensing) 2.มาตรการรับรองตนเอง (Self-Certification) และ 3.มาตรการอื่นใด
นายรณรงค์กล่าวว่า ไทยยังไม่ได้บังคับใช้มาตรการออกใบอนุญาต (Licensing) สำหรับสินค้า DUI ซึ่งถือเป็นมาตรการหลักสำคัญของ พ.ร.บ.ดังกล่าว เนื่องจากในช่วงเวลาก่อนหน้านี้ เป็นช่วงการใช้มาตรการสมัครใจ แต่จากสถานการณ์ความขัดแย้งที่ทวีความรุนแรงมากขึ้นในหลายพื้นที่ทั่วโลก กรมจึงเห็นว่า เพื่อให้การกำกับดูแลสินค้า DUI ของไทยมีความปลอดภัย และลดความเสี่ยงในการถูกใช้เป็นฐานการผลิตหรือการส่งผ่าน DUI ไปยังกลุ่มผู้ก่อการร้าย ไทยมีความจำเป็นอย่างยิ่งในการนำมาตรการ Licensing มาบังคับใช้ เนื่องจากเป็นมาตรการที่มีประสิทธิภาพสูง ได้รับการยอมรับจากนานาประเทศโดยเฉพาะประเทศคู่ค้าและการลงทุนสำคัญของไทย เช่น สหรัฐฯ สหภาพยุโรป ญี่ปุ่น สิงคโปร์ ไต้หวัน ฮ่องกง และออสเตรเลีย เป็นต้นว่าสามารถป้องกันการแพร่ขยาย WMD ได้อย่างเป็นรูปธรรม
ทั้งนี้ การใช้มาตรการออกใบอนุญาตในระยะแรก ผู้ส่งออกอาจต้องใช้เวลาในการเรียนรู้กฎระเบียบแนวทางปฏิบัติ แต่จากการประเมินสถานการณ์ กรมเชื่อว่าผู้ส่งออกจะได้รับประโยชน์จากการใช้มาตรการอย่างน้อยก็เป็นที่ยอมรับจากนานาประเทศในการทำการค้า ซึ่งกรมจะจัดให้มีประชาพิจารณ์และนำเสนอข้อมูลต่อระดับนโนบายต่อไป
“การที่ไทยได้ให้ความสำคัญกับการทำการค้าที่โปร่งใส ปลอดภัย ไม่นำไปสู่ความขัดแย้งหรือการสู้รบในภูมิภาค ซึ่งสร้างความเชื่อมั่นให้กับนานาประเทศว่าไทยมีความรับผิดชอบต่อสังคมโลก และสินค้าที่ส่งออกจากประเทศไทยจะมีความปลอดภัยไม่เกี่ยวข้องกับการก่อการร้ายและการแพร่ขยาย WMD และการใช้มาตรการ Licensing ยังจะช่วยส่งเสริมการลงทุนโดยตรงจากต่างประเทศมายังไทย โดยเฉพาะในกลุ่มเทคโนโลยีขั้นสูงที่เป็นเป้าหมายสำคัญตามนโยบายรัฐบาล เช่น อุตสาหกรรมยานยนต์ขั้นสูง อุตสาหกรรมอิเล็กทรอนิกส์ อุตสาหกรรมดิจิทัล และอุตสาหกรรมการผลิตเครื่องจักรที่ทันสมัย เนื่องจากนักลงทุนมีความเชื่อมั่นว่าประเทศไทยจะมีมาตรการที่มีประสิทธิภาพและปลอดภัยในการกำกับดูแลสินค้า เทคโนโลยี และเงินทุน อันจะนำมาซึ่งการลงทุนจากต่างชาติ การสร้างงาน สร้างรายได้ และการถ่ายทอดความรู้เชิงเทคนิคการผลิตซึ่งจะสร้างมูลค่าเพิ่มและต่อยอดให้อุตสาหกรรมภายในประเทศได้ต่อไป”นายรณรงค์กล่าว
ที่ผ่านมา กรมการค้าต่างประเทศได้อาศัยอำนาจตาม พ.ร.บ.ดังกล่าว ออกอนุบัญญัติกำหนดมาตรการอื่นใดเพื่อควบคุมสินค้า DUI ประกอบด้วย 1.มาตรการ End-use End-User Control : EUEUC ตามประกาศกระทรวงพาณิชย์ เรื่อง มาตรการเพื่อประโยชน์ในการควบคุมสินค้าที่เกี่ยวข้องกับการแพร่ขยายอาวุธที่มีอานุภาพทำลายล้างสูงและมาตรการเกี่ยวกับสินค้าที่มีเหตุอันควรสงสัยว่ามีการใช้สุดท้ายหรือผู้ใช้สุดท้ายที่เกี่ยวข้องกับการแพร่ขยายอาวุธที่มีอานุภาพทำลายล้างสูง พ.ศ.2564 และ 2.มาตรการการรับรองระบบงานควบคุมสินค้าภายในองค์กร (Internal Compliance Program : ICP) ตามประกาศกรมการค้าต่างประเทศ เรื่อง หลักเกณฑ์การรับรองระบบงานควบคุมสินค้าที่เกี่ยวข้องกับการแพร่ขยายอาวุธที่มีอานุภาพทำลายล้างสูง พ.ศ.2564