xs
xsm
sm
md
lg

ส.อ.ท.วอนรัฐแตะเบรกขึ้นค่าไฟงวดใหม่ เหตุสวนทางนโยบายรัฐลดค่าครองชีพ-ดึงลงทุน

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



ส.อ.ท.แนะรัฐควรพิจารณาตรึงค่าไฟงวด ม.ค.-เม.ย. 67 ชี้หากปล่อยขยับขึ้นทะลุ 4 บาท/หน่วยซ้ำเติมต้นทุนภาคการผลิตและค่าครองชีพประชาชน แถมสวนทางนโยบาย "เศรษฐา" ที่มุ่งลดค่าครองชีพประชาชน และมุ่งดึงการลงทุนเข้าประเทศ ระยะยาวต้องปรับโครงสร้างวางเป้าหมายค่าไฟ 2.70-3.30 บาท/หน่วย

นายเกรียงไกร เธียรนุกุล ประธานสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) กล่าวแสดงความคิดเห็นถึงกรณีที่ค่าไฟฟ้าผันแปรอัตโนมัติ (Ft) งวด ม.ค.-เม.ย. 67 ที่คณะกรรมการกำกับกิจการพลังงาน (กกพ.) ได้พิจารณาในการปรับขึ้น โดยกำลังเปิดรับฟังความเห็น 3 ทางเลือกซึ่งจะปรับขึ้นเป็น 5.95-4.93 และ 4.68 บาท/หน่วยจากงวด ก.ย.-ธ.ค. 66 เฉลี่ยที่ 3.99 บาท/หน่วย ว่า เป็นอีกเรื่องหนึ่งที่ภาคเอกชนกังวลต่อต้นทุนและค่าครองชีพประชาชนจะสูงขึ้น และที่สำคัญการปรับขึ้นนั้นถือว่าสวนทางหรือขัดกับนโยบายรัฐบาลที่มุ่งเน้นการลดค่าครองชีพประชาชน รวมไปถึงการที่นายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรีและ รมว.คลังเดินทางไปต่างประเทศเพื่อดึงการลงทุนมายังไทยเพราะค่าไฟที่สูงกว่าเพื่อนบ้านเป็นอีกปัจจัยหนึ่งต่อการตัดสินใจลงทุน ดังนั้นจึงเห็นว่ารัฐควรจะตรึงค่าไฟอยู่ที่ 3.99 บาท/หน่วย

นอกจากนี้ รัฐบาลควรจะพิจารณาปรับโครงสร้างค่าไฟฟ้าใหม่ระยะยาวเพื่อที่จะคำนึงถึงการขับเคลื่อนเศรษฐกิจ การลงทุนและการแข่งขันของประเทศซึ่งเห็นว่าจำเป็นอย่างยิ่งท่ามกลางการแข่งขันที่มีมากในปัจจุบัน โดยตัวอย่างค่าไฟฟ้าเวียดนามที่คงอัตรา 2.70 บาท/หน่วยมานานแล้ว ขณะที่อินโดนีเซียเองก็มีอัตราอยู่ที่เพียง 3.30 บาท/หน่วย แต่ค่าไฟฟ้าของไทยกำลังจะมองเป้าหมายในอนาคตที่ส่งสัญญาณว่าจะแตะระดับ 5 บาท/หน่วย จึงเห็นว่าควรปรับโครงสร้างที่ควรวางเป้าหมายให้ใกล้เคียงกับประเทศเพื่อนบ้านที่อยู่ระหว่าง 2.70-3.30 บาท/หน่วย

“ผมอยากให้ปรับโครงสร้างระยะยาวที่มีปัจจัยอะไรที่ควรนำมาลดได้ก็ควรพิจารณาไม่อยากจะต้องมานั่งลุ้นทุก 4 เดือนแล้วปรับขึ้น ทำไมเวียดนามเขายังคงอัตราเดียว 2.70 บาท/หน่วยได้ช้านาน เข้าใจว่าค่าไฟเวียดนามเมื่อเร็วๆ นี้มีการดับและต้องแบ่งปันในการผลิต แต่นั่นเพราะการลงทุนตรงจากต่างประเทศ (FDI) เข้าไปมากเกินกว่าที่คาดไว้ และแน่นอนว่าหนึ่งในนั้นคือค่าไฟของเขาถูกนั่นเอง” นายเกรียงไกรกล่าว
กำลังโหลดความคิดเห็น