นายกฯ เผย มั่นใจการลงทุนในไทยกำลังจะเพิ่มมากขึ้น เอกชนรายใหญ่เตรียมสร้าง Data Center ในไทย พร้อมรับนักลงทุนรายใหญ่ทั่วโลก ด้วยมาตรการที่ยืดหยุ่นและการอำนวยความสะดวกนักลงทุนทุกด้าน
วันนี้ (13 พ.ย.) เวลา 17.30 น. (ตามเวลาท้องถิ่นนครซานฟรานซิสโก ซึ่งช้ากว่ากรุงเทพฯ 15 ชั่วโมง) ณ โรงแรม Ritz-Carlton นายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรี และ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง ร่วมกิจกรรมพบหารือภาคเอกชนไทย โดยนายชัย วัชรงค์ โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรีเปิดเผยสาระสำคัญจากกิจกรรมพบหารือ ดังนี้
นายวิกรม กรมดิษฐ์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหารและประธานกรรมการ บริษัท อมตะ คอร์ปอเรชัน จำกัด (มหาชน) เป็นตัวแทนภาคเอกชนกล่าวข้อเสนอแนะให้กับนายกรัฐมนตรี โดยอยากให้นำนโยบายประเทศที่ประสบความสำเร็จ อาทิ สิงคโปร์ ดูไบ เวียดนาม และ อินโดนีเซีย มาเป็นแนวทาง โดยเสนอให้รัฐบาล ปรับนโยบายสิทธิประโยชน์ทางภาษี ให้ทำศูนย์รวมบริการแบบครบวงจร หรือ all services center โดยเน้นย้ำธุรกิจประเภท เทคโนโลยีชั้นสูง เพื่อดึงดูดนักลงทุน และให้สามารถแข่งขันกับประเทศเพื่อนบ้านได้
โดยนายกรัฐมนตรีเห็นด้วยกับการนำนโยบายของประเทศที่ประสบความสำเร็จมาปรับใช้ แต่ประเทศไทยมีข้อจำกัด เพราะบางนโยบายต้องใช้เงิน และ 8-9 ปีที่ผ่านมา ประเทศไทยไม่มีการลงนามข้อตกลง FTA ทำให้เสียโอกาสด้านการลงทุน ซึ่งจะเห็นว่า การย้ายฐานการผลิตจากไทยไปประเทศเพื่อนบ้าน ไม่ได้เป็นประเด็นปัญหาเพียงเรื่องค่าแรง แต่เพราะไทยไม่มีความตกลง FTA ทั้งนี้ นายกรัฐมนตรียืนยันรัฐบาลนี้มีการผลักดันเจรจาความตกลง FTA อย่างจริงจัง
นายกรัฐมนตรี มั่นใจว่า ในอีก 5 ปีข้างหน้า จะเกิดการลงทุนเพิ่มมากขึ้น เพราะนโยบายหลักของรัฐบาลตลอด 2 เดือนที่ผ่านมา ได้เดินทางไปเชิญชวนนักลงทุนจากต่างประเทศให้รับทราบว่าประเทศไทยเปิดแล้ว เช่น ในวันนี้มีการหารือกับบริษัท Microsoft ซึ่งจะมีข่าวดีในเร็วๆ นี้ โดยจะมีเอกชนรายใหญ่เข้ามาสร้าง Data Center ในไทย พร้อมย้ำการเดินทางไปต่างประเทศ เพื่อเชิญชวนนักลงทุนยืนยันประเทศไทยพร้อมรับนักลงทุนจากทั่วโลก ด้วยมาตรการที่ยืดหยุ่นและการอำนวยความสะดวกกับนักลงทุนในทุกด้าน
นายกรัฐมนตรี ย้ำรัฐบาลพร้อมรับฟังข้อเสนอของเอกชนในทุกด้าน ยืนยันรัฐบาลไม่มีนโยบายขายฝันกับนักลงทุน และเห็นด้วยว่า เรื่องนโยบายเป็นเรื่องสำคัญที่นักลงทุนจะตัดสินใจเข้ามาลงทุนในประเทศไทย และหากแข่งขันกันประเทศไทยไม่แพ้ใครในภูมิภาค แต่ขอให้เจรจาความตกลง และลงนามในข้อตกลง FTA ให้ได้ เพราะเรื่องการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐาน การศึกษา และระบบการดูแลสุขภาพของไทยดีกว่า ซึ่งนโยบายเหล่านี้เอื้อต่อการเข้ามาลงทุน ยืนยันรัฐบาลจะดำเนินการอย่างเต็มที่อะไรทำได้จะทำก่อน เชื่อว่า ภายในระยะเวลาอันใกล้นี้จะได้เห็นความสำเร็จเป็นรูปธรรมเกิดขึ้น