xs
xsm
sm
md
lg

เปิดเส้นทางอุตฯ อ้อยน้ำตาล 2 แสนล้าน พลิกผัน 5 ปีลอยตัวสู่การควบคุมราคา

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



อุตสาหกรรมอ้อยและน้ำตาลทรายสร้างรายได้ให้ประเทศปีละประมาณ 2 แสนล้านบาท เกี่ยวข้องกับเกษตรกรผู้เพาะปลูกอีกราว 2 ล้านคน กลายเป็นอีกหนึ่งอุตสาหกรรมสำคัญต่อการขับเคลื่อนเศรษฐกิจไทยทั้งการป้อนน้ำตาลทางตรงผ่านการบริโภคในครัวเรือนและทางอ้อมผ่านการเป็นวัตถุดิบสำหรับโรงงานอุตสาหกรรมต่างๆ เช่น เครื่องดื่มบำรุงกำลัง น้ำอัดลม ขนม ลูกอม ฯลฯ นอกจากนี้ยังมีการส่งออกน้ำตาลที่ทำให้ไทยกลายเป็นประเทศผู้ส่งออกเป็นอันดับ 2 ของโลกในปัจจุบันรองจากบราซิล

อุตฯ นี้เติบโตและมีศักยภาพมาได้เพราะเป็นเพียงสินค้าเกษตรตัวเดียวที่มีกฎหมายดูภายใต้ พ.ร.บ.อ้อยและน้ำตาลฯ ซึ่ง พ.ร.บ.ฯ นี้ก็มีการปรับปรุงกันมาบ้างแต่ที่ทำให้ระบบต้องปั่นป่วนหนักคงหนีไม่พ้นการที่บราซิลยื่นขอหารือกับไทย (Consultation) ต่อองค์การการค้าโลก (WTO) เมื่อปี 2559 ในประเด็นไทยซึ่งเป็นผู้ส่งออกน้ำตาลเบอร์ 2 ของโลกรองจากบราซิล ใช้นโยบายอุดหนุนส่งออกน้ำตาล ในลักษณะที่อาจขัดกับข้อตกลง WTO และแสดงความกังวลต่อการแก้ไข พ.ร.บ.อ้อยฯ ปี 2527 การกำหนดระบบโควตาน้ำตาลของไทย ที่มีทั้งกำหนดปริมาณและราคา ตลอดจนโครงการช่วยเหลือชาวไร่ ด้วยการกำหนดราคารับซื้ออ้อย และการใช้เงินกองทุนอ้อยและน้ำตาลจูงใจให้ชาวไร่หันมาปลูกอ้อยมากขึ้น

ไทยเราส่งทีมไปเจรจาหลายหน มีการตั้งงบประมาณมาเพื่อการนี้ขึ้นมาโดยเฉพาะ ... แน่นอนว่าตัวแทนหลักๆ หนีไม่พ้นกระทรวงพาณิชย์ กระทรวงอุตสาหกรรม โรงงานและชาวไร่อ้อยแต่ดูเหมือนว่าเสียงจากส่วนใหญ่โดยเฉพาะจากรัฐเน้นไปที่การแก้ไขทุกอย่างให้ตอบโจทย์บราซิล …เพียงเพราะกังวลว่าหากแพ้บราซิลในการฟ้องร้อง WTO จะต้องจ่ายเงินชดเชยมหาศาล และเหตุผลนี้เองนำมาสู่การออกประกาศคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ที่ 1/2561 เมื่อวันที่ 15 มกราคม 2561 เรื่องการแก้ไขกฎหมายเพื่อรองรับการปรับโครงสร้างอุตสาหกรรมอ้อยและน้ำตาลทรายทั้งระบบ

ลอยตัว-ถอดน้ำตาลออกจากสินค้าควบคุม

นี่จึงเป็นจุดเริ่มต้นของการประกาศ “ลอยตัวราคาน้ำตาล” ของไทยอย่างเป็นทางการ ทำให้ไทยยกเลิกระบบโควตา และการกำหนดราคาขายน้ำตาลภายในประเทศ ส่วนวิธีการคำนวณราคาอ้อยให้ชาวไร่นั้น ได้อาศัยกลไกอิงราคาน้ำตาลโลก หรือลอนดอน No.5 บวกพรีเมียม และต่อมาที่ประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) เมื่อวันที่ 22 มกราคม 2562 มีมติเห็นชอบตามที่คณะกรรมการกลางว่าด้วยราคาสินค้าและบริการ (กกร.) ให้ถอดสินค้าน้ำตาลทรายออกจากบัญชีสินค้าควบคุม จากเดิมกระทรวงพาณิชย์กำหนดให้น้ำตาลเป็นสินค้าควบคุม และกำหนดให้จำหน่ายปลีกได้ในราคาไม่เกิน 23.50 บาท/กิโลกรัม(กก.)

หลังรัฐลอยตัวราคาน้ำตาลเป็นช่วงจังหวะที่ราคาน้ำตาลตลาดโลกตกต่ำส่งผลให้ราคาขายปลีกปรับลดลงมาราว 2-3 บาท/กก. และทำให้ราคาหน้าโรงงานยืนระยะราคาเดิมอยู่ที่ 17.25 บาท/กก. และน้ำตาลทรายขาวบริสุทธิ์ 18.25 บาท/กก.อยู่พักใหญ่ก่อนที่ราคาน้ำตาลตลาดโลกจะทยอยปรับขึ้นและโรงงานได้ปรับขึ้นน้ำตาลอีกครั้งประมาณ 1.75 บาท/กก.ก่อนที่ทางสำนักงานคณะกรรมการอ้อยและน้ำตาลทรายจะออกประกาศเพื่อนำมาคำนวณราคาอ้อยและผลตอบแทนการผลิตปี 2565/66 เมื่อ 20 ม.ค. 66 ราคาน้ำตาลหน้าโรงงานน้ำตาลทรายขาว เป็น 19 บาท/กก. และน้ำตาลทรายขาวบริสุทธิ์ เป็น 20 บาท/กก. นับเป็นการกลับไปยืนราคาเดิมก่อนลอยตัว

ดึงน้ำตาลกลับมาเป็นสินค้าควบคุม

ราคาน้ำตาลเริ่มขยับอีกครั้งหลังราคาตลาดโลกพุ่งสูงคิดกลับเป็นเงินไทยราว 26-27 บาท/กก. ทำให้ สอน.ต้องออกประกาศ เรื่อง ราคาน้ำตาลทรายภายในราชอาณาจักร เพื่อใช้ประกอบในการคำนวณราคาอ้อยและผลตอบแทนการผลิตและจำหน่ายน้ำตาลทราย ประจำฤดูการผลิตปี 2566/67 โดยขึ้นราคาหน้าโรงงาน 4 บาท/กก. เพื่อให้ประโยชน์นั้นตกถึงชาวไร่อ้อย ส่งผลให้ราคาน้ำตาลทรายขาวและขาวบริสุทธิ์หน้าโรงงานขยับเป็น 23 และ 24 บาท/กก. มีผลวันที่ 28 ตุลาคม 2566 ส่งผลให้พาณิชย์เต้นและวิจารณ์ว่าเป็นการผลักภาระให้ผู้บริโภคและจะส่งผลกระทบต่อต้นทุนราคาสินค้าที่ใช้น้ำตาลเป็นวัตถุดิบ

คณะกรรมการกลางว่าด้วยราคาสินค้าและบริการ (กกร.) ที่มี นายภูมิธรรม เวชยชัย รองนายกรัฐมนตรีและ รมว.กระทรวงพาณิชย์ เป็นประธาน จึงประชุมด่วนวันที่ 30 ตุลาคม 66 มีมติกำหนดให้สินค้าน้ำตาลทรายกลับมาเป็น “สินค้าควบคุม” ตาม พ.ร.บ.ว่าด้วยราคาสินค้าและบริการ พ.ศ. 2542 และกำหนดให้คงราคาน้ำตาลหน้าโรงงานดังเดิมและ ครม.เมื่อ 31 ต.ค. 66 ได้เห็นชอบตามที่กระทรวงพาณิชย์เสนอ จากนั้น สอน.จึงต้องออกประกาศกลับไปใช้ราคาน้ำตาลหน้าโรงงานดังเดิม ซึ่งทำให้นักวิชาการออกมาติงว่านี่เป็นการดำเนินนโยบายแบบถอยหลังเข้าคลอง

เปิดที่มาปรับขึ้น 4 บาท/กก.

เหตุผลที่ทาง สอน.ต้องประกาศราคาเพราะเห็นว่าราคาประเทศเพื่อนบ้านและตลาดโลกนั้นสูงมากและโรงงานเองก็มีการปรับขึ้นราคาไปแล้วส่วนหนึ่ง โดยส่วนต่างนี้กลับไปตกอยู่กับผู้ขายหากไม่ประกาศให้สะท้อนความจริงไม่เพียงแต่ชาวไร่จะเสียประโยชน์ในการนำไปคำนวณราคา แต่ส่วนต่างที่ห่างกันเกินไปจะจูงใจให้เกิดการส่งออกไปยังประเทศเพื่อนบ้านที่อาจมาในรูปแบบกองทัพที่ไม่ใช่เล็กๆ แค่มดแต่อาจเป็นช้างได้ ประกอบกับน้ำตาลในประเทศที่จะเปิดหีบใหม่ (ปี 666/67) มีปริมาณต่ำเพราะเจอภัยแล้งอาจเกิดการตึงตัว ซึ่งประเด็นน้ำตาลโลกแพงนั้นกระทรวงพาณิชย์ทราบดีและเคยออกมาเตือนผ่านสื่ออย่างครึกโครม โดยหากไปดูข้อมูลจาก Globalproductprices.com เดือนกันยายน 2566 จะชี้ชัดว่าราคาน้ำตาลของไทย 21 บาท/กก. อยู่ที่ลำดับ 80 เป็นรองอันดับสุดท้ายจากการสำรวจ 81 ประเทศ

ทั้งนี้ การคำนวณราคาอ้อยขั้นต้นนั้นจะอิงต้นทุนการผลิตของทั้งฝ่ายโรงงานที่ระบุตัวเลขไว้ที่ 947 บาท/ตัน และชาวไร่อ้อยที่ 1,343 บาท/ตัน รวมไปถึงการกำหนดโครงสร้างราคาน้ำตาลทรายภายในประเทศให้สะท้อนต้นทุนที่แท้จริงตามสูตรราคาแบบ Cost Plus ประกอบกับจากนโยบายของรัฐที่ต้องการลดฝุ่น PM 2.5 จึงกำหนดให้ส่งเสริมการตัดอ้อยสด ทำให้ สอน.วางกรอบการใช้เงินจากการปรับราคาน้ำตาลเพิ่มขึ้น 4 บาท/ กก.เป็น 2 ส่วน ส่วนแรก 2 บาท/กก. ประมาณ 5,000 ล้านบาท จะใช้คำนวณราคาอ้อยขั้นต้นในฤดูการผลิตใหม่ 2566/67 ในระบบแบ่งปันผลประโยชน์ 70 (ชาวไร่) : 30 (โรงงาน) ส่วนสอง อีก 2 บาทต่อ กก.จะนำมาให้กองทุนอ้อยและน้ำตาลทราย (กท.) บริหารในการจูงใจชาวไร่ตัดสด เพื่อไม่ต้องใช้งบประมาณแผ่นดินมาแก้ปัญหาเหมือนที่ผ่านมาที่รัฐต้องสนับสนุนโดยการช่วยเพิ่มค่าตัดอ้อยสดอีกตันละ 120 บาท หรือคิดเป็นงบประมาณราว 8,000 ล้านบาท อย่างไรก็ตาม หากย้อนไปในอดีตในยุคของรัฐบาลสมัคร สุนทรเวช ได้มีการปรับขึ้นราคาน้ำตาลทรายหน้าโรงงาน 5 บาท/กก.นำมาใส่กองทุนอ้อยฯ ทั้งหมดและให้ชาวไร่ในการบริหารฝ่ายเดียว ซึ่งจากน้ำตาลที่ตกต่ำทำให้กองทุนฯ ใช้เงินเกือบหมดและเมื่อลอยตัวน้ำตาลทำให้รายได้ส่วนนี้สูญไป แถมปัจจุบันต้องตั้งงบประมาณปีละราว 300 กว่าล้านบาทมาชำระหนี้เก่าที่ค้างจ่าย


 เจรจาต่อรองขึ้น 2 บาท/กก.

ท่าทีของกระทรวงพาณิชย์หลังมีการหารือกับชาวไร่อ้อยผ่านคณะทำงานบริหารความสมดุลในอุตสาหกรรมอ้อยและน้ำตาลทรายเริ่มมีการเช็กต้นทุนและรับทราบปัญหาต่างๆ ของชาวไร่ ดูเหมือนว่าทางฝ่ายการเมืองเริ่มรับรู้ปัญหามากขึ้นและเริ่มมีการต่อรองถึงความเป็นไปได้ที่จะให้ขึ้นราคา 2 บาท/กก.เท่านั้นเพื่อให้สะท้อนข้อเท็จจริงและให้รายได้กลับมาสู่ระบบแบ่งปันที่ชาวไร่อ้อยควรจะได้รับ ส่วนเงินที่จะหักเข้ากองทุนอ้อยฯ เป็นอีกเรื่องที่ไม่เกี่ยวกันเพราะมองว่าการตัดอ้อยสดน่าจะแยกออกมาก

ความชัดเจนคงจะต้องรอสรุปอีกครั้งในวันที่ 10 พ.ย.นี้ ว่าที่สุดรัฐจะเลือกขึ้นราคาหรือการหาเงินมาสนับสนุนแทนและการสนับสนุนจะต้องไม่ขัดหลักการ WTO ระยะยาวซึ่งพาณิชย์ยืนยันว่าราคาตลาดโลกที่สูงขณะนี้คงไม่มีปัญหาแต่อย่างใดซึ่งแน่นอนว่ายังไม่ได้พูดถึงกรณีที่ราคาในประเทศต่ำกว่าส่งออก ขณะเดียวกันชาวไร่อ้อยยังยืนยันถึงเงินค่าตัดอ้อยสดฤดูปี 66/67 ที่จะต้องแยกออกมาอีกด้วย ข้อสรุปต้องเร่งเพื่อนำไปคำนวณราคาอ้อยข้นต้นปี 2566/67 ก่อนการเปิดหีบที่คาดว่าจะไม่เกิน ธ.ค. 66 นี้

อย่างไรก็ตาม เมื่อราคาน้ำตาลกลายเป็นสินค้าควบคุมแต่ข้อเท็จจริงลองไปสำรวจราคาต่างจังหวัดที่ไม่ใช่โมเดิร์นเทรดจะราคาเกินควบคุมอยู่ดี เพราะนี่คือกลไกตลาดที่มันยากจะคุมไปแล้วเมื่อราคาเพื่อนบ้านสูงกว่าพ่อค้าคนกลางก็ย่อมฉวยโอกาส อันนี้คือข้อเท็จจริงที่ต้องยอมรับ และหากการควบคุมนี้ท่ามกลางกองทุนอ้อยยังคงไม่มีเงินสะสมไว้ดูแลสิ่งที่จะหวนกลับมาอย่างหลีกเลี่ยงได้ยากเมื่อราคาอ้อยตกต่ำเราก็คงจะได้เห็นม็อบชาวไร่อ้อยมาเรียกร้องจากรัฐบาลในการช่วยเหลือให้คุ้มกับต้นทุนการผลิต

หากราคาสูงแล้วไม่ได้ประกาศราคาหน้าโรงงานขึ้นให้สะท้อนกลไกตลาดนั่นก็หมายถึงม็อบอีกเช่นกัน และกรณีที่ปริมาณอ้อยต่ำจะพบว่าโรงงานก็จะแย่งซื้ออ้อยกันในราคาสูงลิ่วเกินกว่าราคาประกาศเพราะรายได้ของโรงงานมาจากหลายส่วนที่ต่อยอดเพิ่มมูลค่าเช่นเดียวกับฤดูหีบปี 66/67 ที่โรงงานส่งสัญญาณประกันราคาอ้อยที่ 1,400 บาท/ตันแล้ว....นี่จึงเป็นเหตุให้ชาวไร่อ้อยพยายามผลักดันการดึงกากอ้อยเข้ามาคำนวณราคาที่ยังคงทะเลาะกันจนถึงขณะนี้ไม่เลิกรา
 


แม้อ้อยจะมีกฎหมายที่ดีในการกำกับดูแลแต่ชาวไร่อ้อยส่วนใหญ่ก็ยังคงยากจนไม่ต่างจากพืชเกษตรตัวอื่นๆ ที่ ยังคงต้องเรียกร้องหาเงินงบประมาณในการสนับสนุนอยู่เรื่อยไป ท้ายสุดกลายเป็นการนำภาษีประชาชนมาจ่ายที่อาจไม่เป็นธรรมสำหรับคนที่ไม่ได้บริโภคน้ำตาล และขณะนี้ความจริงแล้วการบริโภคน้ำตาลประชาชนส่วนใหญ่ลดลงเพราะมุ่งเน้นดูแลสุขภาพมากขึ้น แถมรัฐยังห่วงผู้บริโภคถึงขั้นเก็บภาษีความหวานกันจนทำให้สารทดแทนความหวานเติบโตไม่น้อยในช่วงที่ผ่านมา

อย่างไรก็ตาม จากนี้ชาวไร่อ้อยควรจะพิจารณาทำไร่แบบผสมผสานลดพื้นที่ปลูกอ้อยลงจะดีกว่าหากอนาคตยังต้องออกมาเต้นแร้งเต้นกา เรียกเงินช่วยเหลือที่บางครั้งชาวไร่อ้อยตัวจริงที่เป็นขนาดกลางและย่อยอาจได้เงินไม่ได้เต็มเม็ดเต็มหน่วยเพราะโดนพ่อค้าคนกลางเอาไปรับประทานหมด .... ฝ่ายโรงงานน้ำตาลเองก็ไม่ควรจะคิดเล็กคิดน้อยเอาทุกเม็ดยามส่งออกราคาดีก็ดูแลชาวไร่กันหน่อย อย่าได้ชะล่าใจลอยตัวเหนือปัญหาในทุกๆเรื่องด้วยการถีบให้ชาวไร่ออกโรงแทนเพราะในข้อเท็จจริงชาวไร่กับโรงงานก็ขาดกันและกันไม่ได้อยู่ดีหรือไม่มีอ้อยก็ไม่มีโรงงานนั่นเอง

ประเทศจะพัฒนาได้ประชาชนต้องมีรายได้ที่ยั่งยืน เช่นเดียวกับเกษตรกรชาวไร่อ้อย โดยฝ่ายราชการและรัฐที่เป็นผู้กำกับดูแลต้องบริหารให้สมดุล ไม่ใช่ไปอิงกับทุนใหญ่ ...แน่นอนว่าการควบคุมราคาครั้งนี้ก็หวังว่าประโยชน์นั้นจะตกอยู่กับทุกภาคส่วนอย่างเหมาะสมทั้งชาวไร่อ้อย โรงงาน ผู้บริโภคทุกระดับ ไม่ใช่ไปกดอีกฝ่ายแล้วประโยชน์นั้นตกไปอยู่กับอีกฝ่ายหนึ่ง แบบนี้คงไม่เรียกว่า "สมดุล"
กำลังโหลดความคิดเห็น