ดร.วิโรจน์ ณ ระนอง ผู้อำนวยการวิจัยด้านนโยบายสาธารณสุขและการเกษตร สถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย (TDRI) ให้ความเห็นกรณีที่ประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) วันที่ 31 ต.ค. เห็นชอบให้เพิ่มน้ำตาลทรายเป็นสินค้าควบคุมตาม พ.ร.บ.ว่าด้วยราคาสินค้าและบริการ พ.ศ. 2542 ตามมติคณะกรรมการกลางว่าด้วยราคาสินค้าและบริการ (กกร.) ว่าเป็นการดำเนินนโยบายที่ถอยหลังเข้าคลองครั้งใหญ่ในรอบหลายสิบปี เพราะหลังจากที่ทำให้ชาวไร่อ้อยเสียประโยชน์ที่ควรได้แล้ว รัฐกลับจะต้องใช้เงินภาษีมหาศาลมายกราคาอ้อยซึ่งมีความเสี่ยงที่ผิดกติกาการค้าโลก ในขณะที่มีผลต่อค่าครองชีพของประชาชนเพียงเล็กน้อย
ทั้งนี้ เนื่องจากระบบอุตสาหกรรมอ้อยและน้ำตาลทรายของไทยเดิมได้มีการคุมราคาบริโภคภายในประเทศเอาไว้ แต่ต่อมาบราซิลได้แจ้งกล่าวหาไทยไปยังองค์การการค้าโลก (WTO) ว่าไทยมีการอุดหนุนอุตสาหกรรมอ้อยและน้ำตาล จนนำมาสู่การเจรจาและมีการปรับโครงสร้างต่างๆ รวมทั้งเกิดการลอยตัวราคาน้ำตาลทรายในปี 2561
“บราซิลกล่าวหาว่าไทยอุดหนุนราคาน้ำตาลในประเทศทำให้ไทยสามารถไปดัมป์ราคาส่งออก เลยแจ้ง WTO ว่าจะฟ้องไทยที่ทำผิดกติกาการค้าของ WTO ทำให้เกิดการเจรจาและนำมาสู่ข้อตกลงการปรับโครงสร้างอุตสาหกรรมนี้ เช่น เลิกคุมราคาน้ำตาล เลิกระบบโควตา และมีการแก้ไข พ.ร.บ.อ้อยและน้ำตาลทรายฯ ใน 3-4 ประเด็น ซึ่งทำให้บราซิลชะลอหยุดฟ้องมาเฝ้าดูเราก่อน แต่เรากำลังจะกลับไปอยู่จุดเดิม จากที่รัฐประกาศควบคุมราคาและจะนำเงินงบประมาณมาอุดหนุนช่วยชาวไร่ ซึ่งก็เสี่ยงจะผิดกติกา WTO อีก ถึงแม้ว่าจะอ้างเรื่องสิ่งแวดล้อมด้วย และถ้ารัฐบาลจะช่วยให้ชาวไร่ได้ราคาอ้อยในระดับเดียวกับที่จะได้จากการปรับราคาน้ำตาลทรายนั้น เงินช่วยเหลือก็จะต้องสูงกว่าที่จ่ายเป็นค่าตัดอ้อยสด 120 บาทต่อตันในหลายปีนี้มาก และมีความเสี่ยงที่จะเกินวงเงินอุดหนุนเบ็ดเตล็ด (de minimis) ที่เป็นข้อยกเว้นของ WTO ที่เราเคยใช้อ้างในอดีต” ดร.วิโรจน์กล่าว
ทั้งนี้ แม้ว่ารัฐจะคุมราคาน้ำตาลทรายขาวและขาวบริสุทธิ์หน้าโรงงานไว้เช่นเดิมที่ 19-20 บาทต่อกิโลกรัม (กก.) ราคาขายปลีกจริงก็ไม่ได้เท่าเดิมแล้ว และแม้ว่า กกร.จะกำหนดให้การส่งออกน้ำตาลทรายเกิน 1 ตันต้องรายงานเพื่อป้องกันไม่ให้ส่งออกมากจนขาดแคลนก็ตาม แต่ข้อเท็จจริงที่ราคาน้ำตาลทรายในตลาดล่วงหน้าที่อังกฤษขึ้นไปถึง 27 บาทกว่าต่อ กก. ก็ทำให้ราคาขายหน้าโรงงานและราคาปลีกที่ถึงมือผู้บริโภค (ยกเว้นน้ำตาลถุง 1 กก.ในโมเดิร์นเทรด) ได้ปรับขึ้นไปแล้วตั้งแต่ 2-3 สัปดาห์ก่อนหน้า และเมื่อราคาในประเทศต่ำกว่าประเทศเพื่อนบ้านมากก็ยิ่งจูงใจให้เกิดการลักลอบนำน้ำตาลออกนอกประเทศมากขึ้น รวมทั้งอาจเกิดกองทัพมดที่ยังขนได้ครั้งละไม่เกิน 1 ตัน ก็จะทำให้น้ำตาลในประเทศค่อยๆ ตึงตัวและขาดแคลนในที่สุด การขวางไม่ให้สำนักงานคณะกรรมการอ้อยและน้ำตาลทราย (สอน.) ประกาศขึ้นราคาหน้าโรงงานที่สะท้อนราคาจริงเพื่อนำไปคำนวณราคาอ้อยปี 2566/67 ตามระเบียบที่กำหนด แล้วให้กลับไปควบคุมให้เป็นราคาเดิมก็ทำให้ชาวไร่อ้อยเสียประโยชน์ที่ควรได้ส่วนแบ่งตามราคาจริงที่โรงงานขายได้ในช่วงที่ผ่านมา
“การกลับไปควบคุมราคายังขัดกับนโยบายรัฐที่กำหนดภาษีความหวานเป็นขั้นบันไดเพื่อลดผลกระทบด้านสุขภาพต่อประชาชน การเบรกไม่ให้ขึ้นราคาน้ำตาลเท่ากับลงโทษชาวไร่อ้อย และในภาพรวมเมื่อต้องหาเงินมาช่วยเหลือชาวไร่อ้อยเพิ่มก็ต้องใช้เงินภาษีประชาชนจำนวนมาก ผลลัพธ์ที่ได้น้อยกว่าเสียมาก และการขึ้นราคา 4 บาท/กก.นั้น ผลกระทบจากการบริโภคทั้งทางตรงของครัวเรือนที่เฉลี่ยไม่เกิน 1 กก.ต่อเดือน และทางอ้อมที่ผ่านขนมและเครื่องดื่มต่างๆ นั้น ถ้าคิดคำนวณออกมาจริงๆ แล้ว ก็ไม่ได้มีผลกระทบที่สูงมากอย่างที่คนมักรู้สึกกัน” ดร.วิโรจน์กล่าว