ชาวไร่อ้อยทั่วประเทศเกาะติดหลัง ก.พาณิชย์ถกด่วนดึงน้ำตาลเป็นสินค้าควบคุม สกัดขึ้นราคา 4 บาท/กก. ขู่เคลื่อนไหวใหญ่ชี้ที่ผ่านมาลอยตัวก็เพราะ ม.44 เพราะโดนบราซิลฟ้องร้อง พอราคาสูงกลับจะไปคุมเหมือนเดิมอีกถามแล้วจะเอาอย่างไรกับบราซิล เตือนน้ำตาลส่อขาดหากทำตลาดโลกสูงแต่ยังกดราคาในประเทศต่ำ
นายนราธิป อนันตสุข หัวหน้าสำนักงานสหพันธ์ชาวไร่อ้อยแห่งประเทศไทย กล่าวว่า ชาวไร่อ้อยทั่วประเทศกำลังพิจารณามาตรการที่จะออกมาเคลื่อนไหวใหญ่กับแนวทางที่กระทรวงพาณิชย์ไม่ให้มีการปรับขึ้นราคาน้ำตาลทรายหน้าโรงงานทั้งที่ภายใต้กฎหมายปัจจุบันราคาน้ำตาลไม่ได้เป็นสินค้าควบคุมและกำหนดราคาลอยตัวไปแล้ว ซึ่งสาเหตุหลักมาจากการที่ไทยถูกบราซิลฟ้องร้องว่ามีการอุดหนุนอุตสาหกรรมอ้อยและน้ำตาลทรายภายในประเทศขัดกติกาขององค์การการค้าโลก (WTO) หากย้อนกลับมาดำเนินการเช่นเดิมจะทำอย่างไรกับปัญหาดังกล่าว
“หัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ได้มีคำสั่ง ม.44 ในการลอยตัวน้ำตาลตั้งแต่ปี 2561 จากนั้นก็ได้มีการปรับกฎหมายต่างๆ ให้สอดรับเพราะบราซิลเตรียมจะฟ้องร้องไทย แม้ชาวไร่อ้อยจะคัดค้านแต่ก็ไม่ได้ผล ขณะเดียวกันราคาน้ำตาลทรายมีการปรับตัวลดลง 2-3 บาท/กก. และทรงตัวระดับต่ำต่อเนื่องสินค้าที่ใช้น้ำตาลทรายเป็นวัตถุดิบไม่เห็นปรับลดราคาลงเลย แต่ตอนนี้ราคาตลาดโลกปรับตัวสูงกลับจะมาควบคุมทั้งที่ราคาที่ประกาศเป็นการประกาศเพื่อคำนวณราคาอ้อยและผลตอบแทนการผลิตและจำหน่ายปี 2566/67 เพื่อให้ประโยชน์ตกแก่ชาวไร่ ส่วนราคานั้นได้ทยอยปรับขึ้นไปแล้วในท้องตลาด” นายนราธิปกล่าว
ระวังน้ำตาลในประเทศขาดแคลน
ปัจจุบันราคาน้ำตาลทรายในตลาดโลกราคาขยับไป 26-27 เซ็นต์ต่อปอนด์ คิดกลับราว 27-28 บาท/กิโลกรัม (กก.) ส่วนต่างราคาหน้าโรงงานกับราคาในตลาดที่ต่างกันมากเหตุใดพาณิชย์ไม่คุมหรือดูแลเพื่อให้ประโยชน์นั้นตกแก่ชาวไร่ และตัวแทนพาณิชย์ก็อยู่ในคณะกรรมการอ้อยและน้ำตาลทราย (กอน.) และข้อเท็จจริงราคาขายปลีกในต่างจังหวัดได้ปรับขึ้นไปแล้ว บางพื้นที่สูงถึง 28 บาท/กก.ด้วยซ้ำไป และการกำหนดแนวทางดังกล่าวจะยิ่งทำให้ปริมาณน้ำตาลทรายไหลออกต่างประเทศและจะส่งผลให้น้ำตาลทรายตึงตัวและอาจขาดแคลนในที่สุด รัฐพึงต้องระวังด้วยเช่นกัน