xs
xsm
sm
md
lg

รัฐบาล “เศรษฐา” เพิ่มค่าครองชีพ ไฟเขียวขึ้นน้ำตาล 4 บาท-ขายปลีกพุ่ง กก.ละ 28-29 บาท คนไทยรับกรรม “เครื่องดื่ม-ขนม” จ่อขยับ

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



ช่วงปลายสัปดาห์ที่ผ่านมามีการปล่อยข่าวออกสู่สื่อมวลชนว่าน้ำตาลทรายจะปรับขึ้นราคาอีกกิโลกรัม (กก.) ละ 4 บาท เพื่อให้เป็นไปตามราคาตลาดโลกที่ปรับตัวสูงขึ้น และหน่วยงานที่กำกับดูแลอย่างกระทรวงอุตสาหกรรม ก็ไม่ได้ออกมาปฏิเสธ มีแต่โรงงานน้ำตาลทรายที่ได้ยืนยันว่าจะต้องมีการปรับขึ้นราคาเพื่อไม่ให้ผลกระทบตกไปอยู่แก่ชาวไร่อ้อย และเกิดการลักลอบน้ำตาลทรายออกนอกประเทศ ขณะที่กระทรวงพาณิชย์ ที่กำกับดูแลราคาสินค้า ได้แสดงความไม่เห็นด้วยหากจะมีการปรับขึ้นราคาในระดับดังกล่าว เพราะเกรงผลกระทบจะตกแก่ประชาชนทั้งประเทศ

แต่หลังจากมีความไม่ชัดเจนได้ไม่นาน เมื่อวันที่ 27 ต.ค. 2566 ที่ผ่านมา สำนักงานคณะกรรมการอ้อยและน้ำตาลทราย (สอน.) กระทรวงอุตสาหกรรม ได้ออกประกาศเรื่อง ราคาน้ำตาลทรายภายในราชอาณาจักร เพื่อใช้ประกอบในการคำนวณราคาอ้อยและผลตอบแทนการผลิตและจำหน่ายน้ำตาลทราย ประจำฤดูการผลิตปี 2566/2567 ไม่รวมภาษีมูลค่าเพิ่ม ลงนามโดย นายฤทธิ์ วิเศษสินธุ์ รองเลขาธิการคณะกรรมการอ้อยและน้ำตาลทราย (กอน.) และรักษาราชการแทนเลขาธิการ กอน.

โดยกำหนดราคาน้ำตาลทรายหน้าโรงงานใหม่ ดังนี้ 1. จากเดิมน้ำตาลทรายขาวอยู่ที่ กก. ละ 19 บาท เป็นราคา กก.ละ 23 บาท 2. น้ำตาลทรายขาวบริสุทธิ์จากเดิม กก.ละ 20 บาท เป็น กก.ละ 24 บาท มีผลตั้งแต่วันที่ 28 ต.ค. 2566 เป็นต้นไป

ยกเหตุผลช่วยชาวไร่-กันทะลักเพื่อนบ้าน

สำหรับเหตุผลที่ สอน.ต้องออกประกาศ เพื่อให้เป็นไปตามมติของ กอน.ที่ได้เห็นชอบหลักการร่วมกันไปแล้วเพื่อให้ราคาน้ำตาลทรายหน้าโรงงานในครั้งนี้ได้สะท้อนกับราคาขายปลีกที่ฝ่ายโรงงาน ยี่ปั๊ว ซาปั๊ว ได้ปรับขึ้นไปก่อนแล้ว เพราะรายได้ที่จะเกิดขึ้นจากการปรับขึ้นราคา จะมีการนำไปคำนวณราคาอ้อยขั้นต้น และผลตอบแทนการผลิตและจำหน่าย ปี 2566/67 ที่มีการประเมินปริมาณอ้อยบริโภคภายในประเทศอยู่ที่ราว 25 ล้านกระสอบ คิดเป็นรายได้จากการปรับขึ้นราว 10,000 ล้านบาท โดยจะนำรายได้ดังกล่าวราว 5,000 ล้านบาท ส่งผ่านกองทุนอ้อยและน้ำตาลทราย (กท.) หรือคิดเป็นราคาน้ำตาลทรายจำนวน 2 บาทต่อ กก. เพื่อใช้ในการบริหารจัดการด้านสิ่งแวดล้อม เช่น การสนับสนุนชาวไร่อ้อยที่ปลูกอ้อยแล้วตัดอ้อยสดลดผลกระทบฝุ่น PM 2.5 เป็นต้น โดยกระทรวงอุตสาหกรรมคาดหวังว่า กท.จะมีเงินสะสมเพื่อที่จะดูแลระบบกันเองโดยไม่ต้องหวังพึ่งพิงงบประมาณจากภาครัฐในระยะข้างหน้า

ทั้งนี้ หากไม่ประกาศราคา จะทำให้ชาวไร่อ้อยเสียประโยชน์จากต้องใช้ราคาหน้าโรงงานเดิมที่ 19-20 บาทต่อ กก.ในการนำไปคำนวณราคาอ้อย ท่ามกลางการปรับขึ้นราคาขายปลีกจากฟากโรงงาน ยี่ปั๊ว และซาปั๊ว ที่ดำเนินการทยอยปรับขึ้นไปแล้ว ซึ่งบางแห่งมีการปรับขึ้นเกินกว่า 4 บาทต่อ กก.ด้วยซ้ำไป เพราะขณะนี้ราคาน้ำตาลทรายไม่ใช่สินค้าควบคุม และหากไม่รีบปรับราคา ก็จะยิ่งทำให้มีน้ำตาลบริโภคในประเทศ อาจไหลไปสู่ตลาดส่งออกโดยเฉพาะเพื่อนบ้านที่ราคาสูงได้ จากราคาน้ำตาลส่งออกปัจจุบันที่เฉลี่ยอยู่สูงราว 27 บาทกว่าต่อ กก. และการประกาศดังกล่าวยังจะทำให้เกิดความชัดเจนกับผู้ซื้อรายใหญ่ที่ใช้วัตถุดิบในการผลิต เช่น อาหาร เครื่องดื่ม ในการอ้างอิงต้นทุนได้อีกด้วย

ดันราคาขายปลีกพุ่งทันที 28-29 บาท

สำหรับการปรับราคาดังกล่าวจะมีผลให้ราคาหน้าโรงงาน น้ำตาลทรายขาวธรรมดาปรับขึ้นเป็น กก.ละ 23 บาท น้ำตาลทรายขาวบริสุทธิ์ปรับขึ้นเป็น กก.ละ 24 บาท ขณะที่ราคาขายปลีกจะปรับขึ้นไปเป็น กก.ละ 28 บาท และ กก.ละ 29 บาทตามลำดับ โดยราคาแต่ละพื้นที่จะต่างกันไปตามระยะทางขนส่ง หลังจากที่ราคาหน้าโรงงานเพิ่งปรับเพิ่มขึ้นครั้งล่าสุดเมื่อวันที่ 19 ม.ค. 2566 ที่ผ่านมา โดยปรับขึ้น กก.ละ 1.75 บาท เป็น กก.ละ 19 บาท และ กก.ละ 20 บาทตามลำดับ

โรงงานย้ำจำเป็นต้องปรับตามต้นทุน

นายรังสิต เฮียงราช เลขานุการ 3 สมาคมน้ำตาลทราย (TSMC) ยอมรับว่ามีการหารือร่วมกันระหว่างชาวไร่อ้อย โรงงานน้ำตาล และรัฐผ่าน กอน. ถึงการขอปรับขึ้นราคาน้ำตาลทรายหน้าโรงงานเมื่อ 28 ก.ย. 2566 เนื่องจากภาวะต้นทุนการผลิตที่สูงขึ้นและราคาอ้อยที่สูงจากปริมาณที่ลดต่ำจากภาวะภัยแล้ง โดยประเมินว่าฤดูหีบปี 66/67 ผลผลิตอาจเหลือเพียง 75-80 ล้านตัน หรือลดลง 10% จากปี 2565/66 ซึ่งจะส่งผลต่อปริมาณน้ำตาลที่ได้ก็จะลดลงเหลือประมาณ 8 ล้านตัน ขณะที่ราคาน้ำตาลในประเทศไม่ได้มีการปรับมาเป็นเวลานาน ประกอบกับราคาน้ำตาลในตลาดโลกปรับตัวสูงขึ้นมาก โดยราคาน้ำตาลทรายขาวพรีเมียมตลาดโลกวันนี้อยู่ที่ 771 เหรียญสหรัฐต่อตัน หรือคิดเป็น 27.85 บาทต่อ กก. ขณะที่ราคาน้ำตาลทรายขาวบริสุทธิ์หน้าโรงงานอยู่ที่ 20 บาทต่อ กก. ตั้งแต่ปีที่แล้วที่น้ำตาลในตลาดโลกเริ่มปรับตัวสูงขึ้น ทำให้ชาวไร่อ้อยและโรงงานสูญรายได้ส่วนต่างนับหมื่นล้านบาท

นอกจากนี้ การปรับขึ้นยังเพื่อไม่ให้น้ำตาลในประเทศขาดแคลน เนื่องจากการไหลออกไปต่างประเทศมากเกินไป จึงจำเป็นต้องปรับขึ้นราคาน้ำตาลทรายหน้าโรงงานอีก กก.ละ 4 บาท ซึ่งจะเป็นการแบ่งรายได้จากการขึ้นราคาส่วน 2 บาทต่อ กก. ตามต้นทุน และรายได้ 2 บาทต่อ กก.เก็บเงินเข้ากองทุนอ้อยและน้ำตาลทราย (กท.) เพื่อนำไปช่วยเหลือชาวไร่อ้อยที่ตัดอ้อยสดส่งเข้าโรงงานน้ำตาลโดยไม่เผาอ้อยก่อนตัดเพื่อลดฝุ่น PM 2.5 ซึ่งจะส่งผลให้ราคาขายปลีกในประเทศปรับขึ้นตาม

“ที่ผ่านมาสินค้าอื่นๆ ที่ใช้น้ำตาลเป็นวัตถุดิบต่างก็ขึ้นราคา แต่น้ำตาลทรายไม่ได้ขึ้นราคาให้สะท้อนต้นทุนจริง ขณะที่ต้นทุนการผลิตทั้งชาวไร่และโรงงานต่างเพิ่มสูงขึ้นมากอย่างต่อเนื่อง ที่ผ่านมาเราพยายามทำให้มีน้ำตาลทรายในประเทศไม่ขาดแคลน แต่หากไม่ปรับขึ้นราคา โรงงานอาจจะหันไปจำหน่ายต่างประเทศมากขึ้น เพราะขายได้เงินมากกว่า ขณะที่ปัจจุบันน้ำตาลบ้านเราขายถูกกว่าประเทศอื่นๆ มาก ดังนั้น จึงขอความเห็นใจให้กับชาวไร่และโรงงานด้วย” นายรังสิตกล่าว

ชาวไร่อ้อยคาดหวัง 120 บาท/ตันจะชัดเจน

นายปารเมศ โพธารากุล ประธานสหพันธ์ชาวไร่อ้อยแห่งประเทศไทย กล่าวว่า การปรับขึ้นราคาน้ำตาลทรายดังกล่าวเป็นไปตามข้อเสนอที่ชาวไร่ผลักดันไปก่อนหน้านั้น และ กอน.เมื่อวันที่ 28 ก.ย. 2566 ก็เห็นชอบในหลักการไปแล้ว โดยปัจจัยหลักมาจากราคาตลาดโลกปรับขึ้นสูง อย่างไรก็ตาม หากการปรับขึ้นราคาโดยนำเงินรายได้คิดเป็น 2 บาท/กก.เข้าใส่กองทุนอ้อยฯ เพื่อดูแลสนับสนุนชาวไร่ปลูกอ้อยเพื่อตัดอ้อยสดนั้นชาวไร่เองก็รับได้หากรัฐมีเป้าหมายที่จะลดการพึ่งพิงงบประมาณจากภาครัฐโดยเฉพาะการส่งเสริมการตัดอ้อยสด แต่อยากให้รัฐชัดเจนว่าเงินสนับสนุนการตัดอ้อยสด 120 บาท/ตันที่รัฐสัญญาจะช่วยเหลือเพิ่มเติมคิดเป็นมูลค่าราว 8,000 ล้านบาทที่ค้างจ่ายในฤดูการผลิตปี 2565/66 เห็นว่าเป็นสิ่งที่ชาวไร่ควรจะต้องได้รับ

“การตัดอ้อยสด ชาวไร่ยืนยันว่าเป็นนโยบายรัฐบาลที่ทำให้ชาวไร่อ้อยมีต้นทุนเพิ่มขึ้นมาก รัฐบาลที่ผ่านมาจึงได้สนับสนุนเงินมาช่วยเหลือ 120 บาทต่อตันซึ่งเพราะปีที่ผ่านมาไม่มีความชัดเจนปัญหาการตัดอ้อยไฟไหม้จึงมีปริมาณเพิ่มขึ้น เพราะแน่นอนว่าการตัดอ้อยสดเป็นภาระที่สูง และการหารือล่าสุดชาวไร่อ้อยยืนยันว่ายังคงใช้หลักเกณฑ์เดิม คือ การส่งอ้อยไฟไหม้จะถูกหักเงินเข้ากองทุนตันละ 30 บาทเท่านั้น ไม่รับข้อเสนอรัฐที่ต้องการหักถึง 90 บาทที่มันสูงเกินไปเหมือนเราเป็นผู้ร้าย ทั้งที่รถยนต์ปล่อยมลพิษมากกว่าเราเยอะ” นายปารเมศกล่าว

“พาณิชย์” ส่งหนังสือค้านสุดตัว

ร.ต.จักรา ยอดมณี รองอธิบดีกรมการค้าภายใน กล่าวว่า กรมได้ทำหนังสือถึง สอน. ในฐานะที่กำกับดูแลสินค้าน้ำตาลทราย โดยเห็นว่าการปรับขึ้นราคาน้ำตาลทราย ไม่ควรจะใช้เหตุผลราคาน้ำตาลทรายตลาดโลก ที่ปัจจุบันอยู่ที่ กก.ละ 26.50 บาท เพราะไทยเป็นประเทศผู้ผลิตและส่งออกน้ำตาลทรายรายใหญ่ แต่ละปีมีผลผลิตประมาณ 10 ล้านตัน บริโภคในประเทศทั้งใช้ในอุตสาหกรรมและครัวเรือน 2.5 ล้านตัน เหลือส่งออก 7.5 ล้านตัน จึงต้องคำนึงถึงผลกระทบต่อผู้บริโภค และผลกระทบเกี่ยวเนื่องจากการปรับขึ้นราคาน้ำตาลทราย หากจะปรับขึ้นราคา

ทั้งนี้ ยังเห็นอีกว่าการปรับราคา 4 บาทต่อกก. เพื่อจัดสรรผลประโยชน์ 2 บาทต่อกก. เข้าอุตสาหกรรมอ้อยและน้ำตาลทราย โดยแบ่งให้ชาวไร่และโรงงาน และอีก 2 บาทต่อ กก. นำส่งเข้ากองทุนอ้อยและน้ำตาลทราย เพื่อดูแลสิ่งแวดล้อมและฝุ่น PM 2.5 ส่วนนี้เป็นการผลักภาระให้ผู้บริโภค อยากให้ใช้วิธีการเสนอต่อรัฐบาลสนับสนุนงบประมาณในการแก้ไขปัญหาเรื่องนี้ จะเหมาะสมกว่าที่จะผลักภาระให้ประชาชนต้องบริโภคน้ำตาลทรายในราคาสูงขึ้น

ส่งเจ้าหน้าที่ตรวจสอบการจำหน่าย

ร.ต.จักรากล่าวอีกว่า กรมไม่ได้นิ่งนอนใจ ได้มีการจัดส่งเจ้าหน้าที่ออกตรวจสอบการจำหน่ายน้ำตาลทรายอย่างใกล้ชิด โดยเฉพาะในห้างค้าส่งค้าปลีก พบว่าราคายังเป็นปกติ ปริมาณมีเพียงพอ และได้มีการตรวจสอบกับฝ่ายจัดซื้อของห้างต่างๆ พบว่าไม่มีปัญหาการจัดส่ง ยังมีสินค้าจัดส่งตามปกติ โดยราคาขายปลีกอยู่ที่ 24-25 บาท ขึ้นอยู่กับว่าเป็นน้ำตาลทรายขาว หรือน้ำตาลทรายขาวบริสุทธิ์ ส่วนร้านค้าทั่วไปราคาอาจจะสูงกว่านี้เล็กน้อย แล้วแต่ช่วงการค้า ที่อาจจะรับมาหลายต่อ หรือขึ้นอยู่กับการขนส่งใกล้ไกล

ไม่ทันได้ตรวจ รัฐตีตรารับรองให้

อย่างไรก็ตาม กรมการค้าภายในยังไม่ทันได้ตรวจสอบจริงจัง สอน.ก็ประกาศปรับขึ้นราคา มีผลตั้งแต่วันที่ 28 ต.ค. 2566 ทำให้การปรับขึ้นราคาชอบธรรมขึ้นมาทันที และ พ.ร.บ.ว่าด้วยราคาสินค้าและบริการ พ.ศ. 2542 ที่จะเข้าไปดูแลเรื่องการค้ากำไรเกินควร ก็ไม่สามารถเข้าไปจัดการได้ เพราะรัฐบาลตีตรารับประกันให้แล้ว ทำให้ต้องแก้เกมด้วยการขอความร่วมมือไปยังห้างค้าส่งค้าปลีก ผู้จำหน่ายน้ำตาลทรายทุกราย ให้จำหน่ายน้ำตาลทรายที่มีอยู่ในสต๊อกในราคาเดิมจนกว่าสต๊อกเก่าจะหมด และจัดให้มีสินค้าเพียงพอต่อความต้องการ และเติมสินค้าบนชั้นวางอย่างสม่ำเสมอเพื่อให้ผู้บริโภคมั่นใจได้ว่าสินค้ามีเพียงพอ ของไม่ขาด

ย้ำคุมเข้มสินค้าที่จะขอปรับขึ้นราคา

ส่วนผลกระทบต่อต้นทุนการผลิตสินค้า ร.ต.จักรากล่าวว่า กรมจะมีการติดตามอย่างใกล้ชิด โดยสินค้าที่ใช้น้ำตาลทรายเป็นส่วนผสมแต่ละชนิดมีผลกระทบแตกต่างกัน เพราะใช้น้ำตาลทรายในสัดส่วนที่แตกต่างกัน โดยกรณีเป็นสินค้าควบคุม เช่น นมสด ปลากระป๋อง ถ้าผู้ผลิตจะขอปรับราคา ก็ต้องพิจารณาเป็นรายกรณีไป โดยจะดูตามสัดส่วนการใช้น้ำตาลเป็นส่วนประกอบ รวมทั้งผลกระทบจากราคาน้ำตาลที่สูงขึ้น ประกอบกับต้นทุนส่วนอื่นๆ ด้วย เพราะบางสินค้าแม้ต้นทุนน้ำตาลทรายจะเพิ่มขึ้น แต่ต้นทุนอื่นๆ อาจจะลดลงก็ได้

สำหรับกรณีสินค้าอื่นๆ เช่น น้ำหวาน ขนมหวาน การกำหนดราคาหรือปรับราคาก็ต้องสอดคล้องกับต้นทุนที่แท้จริง ซึ่งกรมจะติดตามอย่างใกล้ชิด ทั้งการส่งเจ้าหน้าที่ลงพื้นที่สำรวจราคาสินค้า การรับเรื่องร้องเรียนจากประชาชนทางสายด่วน 1569 โดยการตรวจสอบจะยึดหลักสร้างความเป็นธรรมให้เกิดขึ้น ทั้งฝ่ายผู้ประกอบการ และผู้บริโภค

ขาเครื่องดื่ม-ขนมหวานกระทบแน่

รายงานข่าวแจ้งว่า สำหรับสินค้าที่คาดว่าจะได้รับผลกระทบจากการปรับขึ้นราคาน้ำตาลทรายในครั้งนี้ ก็คือ กลุ่มเครื่องดื่ม และขนมหวาน ที่คาดว่าจะมีการปรับขึ้นราคาในระยะต่อไป หลังจากที่น้ำตาลทรายราคาเดิม และต้นทุนเดิมหมดลง เพราะการปรับขึ้นราคาในครั้งนี้ ขึ้นทันทีจากเดิม กก.ละ 5 บาท ซึ่งถือว่ามาก เพราะน้ำตาลทรายที่ใช้ในอุตสาหกรรมและการบริโภคตกปีละ 2.5 ล้านตัน หรือ 2,500 ล้าน กก. การขึ้นราคา 5 บาท เท่ากับต้นทุนเพิ่มขึ้น 12,500 ล้านบาท ที่ผู้ผลิตและผู้บริโภคจะต้องรับภาระ

เปิดโพยสินค้าจ่อปรับขึ้นราคา

ส่วนสินค้าในกลุ่มเครื่องดื่มที่คาดว่าจะมีการปรับขึ้นราคา มีทั้งน้ำหวาน น้ำอัดลม เครื่องดื่มชูกำลัง น้ำผลไม้ ชาพร้อมดื่ม กาแฟพร้อมดื่ม เครื่องดื่มสปอร์ตดริงก์หรือเกลือแร่ และเครื่องดื่มประเภทอื่นๆ ส่วนขนมหวาน ที่คาดว่าจะมีการปรับขึ้นราคา มีทั้งขนมขบเคี้ยว ลูกอม ลูกกวาด และกลุ่มร้านอาหาร ขนมไทย เบเกอรี ที่คาดว่าจะได้รับผลกระทบหนักสุด เพราะใช้น้ำตาลทรายเป็นส่วนผสมมากที่สุด

ทั้งนี้ ในการปรับขึ้นราคา แม้ว่ากระทรวงพาณิชย์ได้ออกมายืนยันแล้วว่าจะมีการพิจารณาต้นทุนอย่างเหมาะสม และดูต้นทุนตัวอื่นๆ ประกอบด้วย แต่ก็เป็นเพียงแค่สมมติฐานในขณะนี้เท่านั้น หากแต่ในความเป็นจริง เป็นไปไม่ได้ที่ต้นทุนปรับเพิ่มสูงขึ้น จะมีผู้ผลิตรายใดยอมกลืนเลือด และปล่อยให้เข้าเนื้อเพื่อตรึงราคาเอาไว้ หรือหากกระทรวงพาณิชย์จะใช้ไม้แข็ง ขอให้ตรึงราคา ก็คงจะทำได้ไม่นาน หากผู้ผลิตขายแล้วขาดทุนก็คงไม่มีใครผลิตสินค้าออกมาขาย เมื่อถึงตอนนั้น ปัญหาสินค้าขาดแคลนก็จะตามมาให้เป็นปัญหาอีก

ไหนรัฐบาลบอกว่าจะหาทางลดภาระค่าครองชีพให้ประชาชนคนไทยทั้งประเทศ นี่ผ่านมาแค่ 2 เดือน นโยบายควิกวินของรัฐบาลเศรษฐาในครั้งนี้ก็ทำเอาประชาชนคนไทยกระอักแล้ว


กำลังโหลดความคิดเห็น