xs
xsm
sm
md
lg

“ไทยออยล์” ไตรมาส 3 ทำกำไร 1 หมื่นล้าน ลุ้น Q4 ดีต่อเนื่องจากราคาน้ำมันที่สูง

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



ไทยออยล์เผยกำไรในไตรมาส 3/2566 แตะ 10,828 ล้านบาท ลดลงจากช่วงเดียวกันปีก่อน คาดไตรมาส 4 ปีนี้ภาพรวมธุรกิจกลุ่มไทยออยล์อยู่ระดับดี จากภาคการท่องเที่ยวและฤดูหนาวทำให้มีการใช้น้ำมันเพิ่มขึ้น ผนวกกับราคาน้ำมันก็ปรับตัวสูงขึ้นด้วย
 
นายบัณฑิต ธรรมประจำจิต ประธานเจ้าหน้าที่บริหารและกรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท ไทยออยล์ จำกัด (มหาชน) หรือ TOP เปิดเผยว่า ในไตรมาส 3/2566 กลุ่มไทยออยล์มีกำไรสุทธิ 10,828 ล้านบาท ลดลงจากช่วงเดียวกันปีก่อนที่มีกำไรสุทธิ 11,708 ล้านบาท โดยบริษัทมีกำไรขั้นต้นจากการผลิตของกลุ่มรวมผลกระทบจากสต๊อกน้ำมัน (Accounting GIM) อยู่ที่ 23.3 เหรียญสหรัฐต่อบาร์เรล ด้วยปริมาณวัตถุดิบที่ป้อนเข้าสู่กระบวนการผลิตของกลุ่มอยู่ที่ 305,000 บาร์เรลต่อวัน ทำให้กลุ่มไทยออยล์มีรายได้จากการขาย 119,656 ล้านบาท และ EBITDA 18,973 ล้านบาท เมื่อรวมค่าใช้จ่ายดำเนินงาน ต้นทุนทางการเงิน ค่าใช้จ่ายภาษีเงินได้ ผลขาดทุนจากอัตราแลกเปลี่ยนสุทธิ ผลขาดทุนจากเครื่องมือทางการเงิน และรายการปรับลดมูลค่าสินค้าคงเหลือน้ำมันดิบและน้ำมันสำเร็จรูปก่อนภาษี 1,773 ล้านบาท

“กลุ่มไทยออยล์มีกำไร 10,828 ล้านบาทในไตรมาส 3/2566 เป็นผลมาจากอุปทานน้ำมันสำเร็จรูปที่ตึงตัวจากการปิดซ่อมบำรุงของโรงกลั่นในสหรัฐฯ และยุโรป ตลอดจนการประกาศห้ามส่งออกน้ำมันดีเซลและน้ำมันเบนซินชั่วคราวของประเทศรัสเซีย ส่วนต่างราคาน้ำมันอากาศยาน และส่วนต่างราคาน้ำมันดีเซลเมื่อเปรียบเทียบกับราคาน้ำมันดิบดูไบปรับตัวเพิ่มขึ้น เช่นเดียวกับธุรกิจผลิตสารตั้งต้นสำหรับผลิตภัณฑ์ทำความสะอาด (LAB) ที่ปรับตัวดีขึ้นเช่นกัน ในขณะที่ธุรกิจอะโรเมติกส์ได้รับแรงกดดันจากราคาวัตถุดิบที่อยู่ในระดับสูงและการเติบโตทางเศรษฐกิจของประเทศจีนที่ไม่เป็นไปตามคาดการณ์ ส่วนธุรกิจน้ำมันหล่อลื่นพื้นฐานได้รับผลกระทบจากกิจกรรมทางเศรษฐกิจของประเทศจีนที่ชะลอตัวลงและความต้องการใช้น้ำมันหล่อลื่นในภูมิภาคที่ลดลงในช่วงฤดูฝน”

ทั้งนี้ ราคาน้ำมันดิบไตรมาส 3/2566 ปรับตัวเพิ่มขึ้นจากไตรมาสก่อน เนื่องจากอุปทานน้ำมันดิบมีแนวโน้มตึงตัวมากขึ้น หลังประเทศซาอุดีอาระเบียปรับลดกำลังการผลิตเพิ่มเติม และประเทศรัสเซียปรับลดการส่งออก ส่งผลให้กลุ่มไทยออยล์มีกำไรจากสต๊อกน้ำมัน 9,638 ล้านบาท และมีกำไรขั้นต้นจากการผลิตของกลุ่มรวมผลกระทบจากสต๊อกน้ำมันอยู่ที่ 23.3 เหรียญสหรัฐต่อบาร์เรล

สำหรับผลการดำเนินงานงวด 9 เดือนปี 2566 กลุ่มไทยออยล์มีกำไรขั้นต้นจากการผลิตของกลุ่มรวมผลกระทบจากสต๊อกน้ำมัน (Accounting GIM) อยู่ที่ 12.0 เหรียญสหรัฐต่อบาร์เรล และมีปริมาณวัตถุดิบที่ป้อนเข้าสู่กระบวนการผลิตของกลุ่มอยู่ที่ 311,000 บาร์เรลต่อวัน ทำให้กลุ่มไทยออยล์มีรายได้จากการขาย 344,066 ล้านบาท และ EBITDA 31,772 ล้านบาท เมื่อหักค่าใช้จ่ายดำเนินงาน ต้นทุนทางการเงิน ค่าใช้จ่ายภาษีเงินได้ ผลขาดทุนจากอัตราแลกเปลี่ยนสุทธิ และผลขาดทุนจากเครื่องมือ ทางการเงิน ทำให้ผลการดำเนินงาน 9 เดือนปี 2566 กลุ่มไทยออยล์มีกำไรสุทธิ 16,499 ล้านบาท ซึ่งรวมผลกำไรจากสต๊อกน้ำมันก่อนภาษี 4,370 ล้านบาท และรายการปรับลดมูลค่าสินค้าคงเหลือน้ำมันดิบและน้ำมันสำเร็จรูปก่อนภาษี 1,966 ล้านบาท ลดลงเมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อนที่มีกำไรสุทธิ 32,521 ล้านบาท

ส่วนภาพรวมธุรกิจกลุ่มไทยออยล์ในไตรมาส 4 นี้คาดการณ์ว่ายังอยู่ในระดับที่ดี เนื่องจากมีความต้องการใช้น้ำมันเพื่อทำความร้อนในช่วงฤดูหนาว และภาคการท่องเที่ยวที่ยังเติบโตอย่างต่อเนื่อง เช่นเดียวกับราคาน้ำมันดิบที่คาดการณ์ว่าจะยังคงอยู่ในระดับสูง เนื่องจากประเทศซาอุดีอาระเบียและประเทศรัสเซียประกาศปรับลดกำลังการผลิตจนถึงสิ้นปี สำหรับธุรกิจอะโรเมติกส์คาดการณ์ว่าจะได้รับแรงหนุนจากอุปสงค์ที่ปรับตัวเพิ่มขึ้นในช่วงฤดูหนาว และความต้องการใช้บรรจุภัณฑ์เครื่องดื่ม (PET) ที่มีแนวโน้มเพิ่มขึ้นในช่วงฤดูท่องเที่ยวและเทศกาลปีใหม่ และมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจของจีน

นอกจากนี้ ยังคาดการณ์ว่าธุรกิจน้ำมันหล่อลื่นพื้นฐานจะปรับตัวดีขึ้นเช่นกัน เนื่องจากอุปทานลดลงจากการปิดตัวลงอย่างถาวรของโรงผลิตน้ำมันหล่อลื่นพื้นฐานกรุ๊ป 1 ในญี่ปุ่น ทั้งนี้ ไทยออยล์จะยังคงติดตามสถานการณ์ตลาดอย่างใกล้ชิด เพื่อเตรียมความพร้อมรองรับสถานการณ์ตลาดที่ผันผวน เพื่อผลการดำเนินงานที่ดีอย่างต่อเนื่อง
 
ณ วันที่ 40 กันยายน 2566 กลุ่มไทยออยล์มีสินทรัพย์รวมทั้งสิ้น 422,207 ล้านบาท ลดลงจากสิ้นปีก่อน 22,374 ล้านบาทสาเหตุหลักจากสินทรัพย์หมุนเวียนอื่นลดลง เนื่องจากลูกหนี้การค้าและสินค้าคงเหลือปรับตัวลดลงตามราคาน้ำมันดิบและราคาผลิตภัณฑ์รวมถึงลูกหนี้กองทุนน้ำมันเชื้อเพลิงที่ลดลงตามการรับชำระคืน สำหรับหนี้สินรวมของกลุ่มไทยออยล์ปรับลดลง 26,768 ล้านบาท จากสิ้นปีก่อนมาอยู่ที่ 259,156 ล้านบาท เนื่องจากหนี้สินหมุนเวียนปรับลดลง 21,438 ล้านบาท สาเหตุหลักจากเจ้าหนี้การค้าปรับตัวลดลงตามราคาน้ำมันดิบที่ลดลง นอกจากนี้หนี้เงินกู้ยืมระยะยาวและหุ้นกู้ลดลง 3,764 ล้านบาทเนื่องจากปลายปี 2565 มีการออกหุ้นกู้เพิ่มเติม และในช่วงต้นปี 2566 มีการชำระคืนหุ้นกู้ที่ครบกำหนด


กำลังโหลดความคิดเห็น