ส.อ.ท.หนุนนโยบายรัฐบาลกระตุ้นเศรษฐกิจผ่านโครงการเงินดิจิทัลวอลเล็ต 10,000 บาทเพื่อกระชากศก.ไทยปี 2567 ที่ยังคงเปราะบางแต่จำเป็นต้องปิดจุดอ่อนนำข้อห่วงใยจากทุกฝ่ายมาปรับเพื่อให้โครงการเดินหน้าได้แบบมีประสิทธิภาพและยอมรับจากทุกฝ่าย โดยเฉพาะการใช้อย่างมีประสิทธิภาพสูงสุด ยกญี่ปุ่นยังอัดเงินกระตุ้น ศก.ครั้งใหญ่สูงถึง 4.04 ล้านล้านบาท พร้อมสนับสนุนขึ้นค่าแรงขั้นต่ำภายใต้การพิจารณาของไตรภาคี
นายเกรียงไกร เธียรนุกุล ประธานสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) เปิดเผยว่า จากแนวโน้มเศรษฐกิจโลกปี 2567 ที่ยังคงมีทิศทางชะลอตัวและมีปัจจัยเสี่ยงจากการสู้รบระหว่างอิสราเอลกับกลุ่มฮามาสที่ยังไม่แน่นอนว่าจะขยายวงหรือไม่ซึ่งจะกระทบต่อเศรษฐกิจไทยอย่างหลีกเลี่ยงได้ยาก ประกอบกับไทยเองมีภาระหนี้ครัวเรือนทั้งในระบบและนอกระบบที่สูงจึงต้องเร่งอัดกำลังซื้อ โดยรัฐบาล "เศรษฐา ทวีสิน" มีนโยบายกระตุ้นเศรษฐกิจครั้งใหญ่ผ่านโครงการเงินดิจิทัลวอลเล็ต 10,000 บาท ซึ่ง ส.อ.ท.เห็นด้วยแต่วิธีการดำเนินงานนั้นจำเป็นที่รัฐบาลจะต้องรับฟังความเห็นรอบด้านแล้วนำมาปรับปรุงเพื่อปิดจุดอ่อน
“เมื่อเร็วๆ นี้นายกรัฐมนตรีญี่ปุ่นได้ประกาศแผนกระตุ้นเศรษฐกิจมูลค่าประมาณ 17 ล้านล้านเยนหรือประมาณ 4.04 ล้านล้านบาท โดยเงิน 13 ล้านล้านเยน ได้รับการสนับสนุนจากการจัดทำงบประมาณพิเศษ สำหรับช่วงเวลาที่เหลือของปีงบประมาณจนถึงสิ้นเดือนมีนาคม 2567 เป้าหมายเพื่อบรรเทาค่าครองชีพที่พุ่งสูงขึ้น จากผลกระทบเงินเฟ้อในภาคครัวเรือน โดยมุ่งเน้นไปที่การลดอัตราภาษีชั่วคราวคนละ 30,000 เยน และ 10,000 เยน สำหรับภาษีที่อยู่อาศัยประมาณ 5 ล้านล้านเยน รวมถึงการแจกเงินให้ครัวเรือนที่มีรายได้ต่ำ ครอบครัวละ 70,000 เยน หากเทียบกับวงเงินดิจิทัลวอลเล็ตของไทยแล้วสูงถึง 8 เท่า ซึ่งสะท้อนให้เห็นว่าเศรษฐกิจโลกอยู่ในภาวะเปราะบาง” นายเกรียงไกรกล่าว
ทั้งนี้ โครงการเงินดิจิทัลวอลเล็ต 10,000 บาทมีทั้งผู้สนับสนุนและคัดค้าน แต่การคัดค้านก็เพราะมีข้อห่วงใยรัฐบาลจำเป็นต้องนำข้อห่วงใยมาปรับปรุงเพื่อปิดจุดอ่อนในเรื่องของการบริหารที่จะต้องตอบโจทย์ว่าระบบดิจิทัลดีอย่างไร โดยเฉพาะการควบคุมการใช้เงินที่มีประสิทธิภาพมากขึ้นไม่รั่วไหล มีการกำหนดระยะเวลาการใช้เงินชัดเจน และที่สำคัญกระจายถึงประชาชนอย่างทั่วถึง ไม่มีการนำเงินไปใช้นอกระบบ อาทิ การชำระหนี้ ซึ่งหากสามารถปิดจุดอ่อนต่างๆ ที่ประชาชนกังวลได้ก็จะสามารถดำเนินการในการกระตุ้นเศรษฐกิจไทยให้มีการเติบโตปีละ 5% ตามที่รัฐบาลคาดหวังไว้เพราะจะเกิดการลงทุนและจ้างงานเพิ่มขึ้นตามมา เนื่องจากระยะ 10 ปีที่ผ่านมาผลิตภัณฑ์มวลรวมในประเทศหรือ GDP โตเฉลี่ยแค่ 1.8-1.9% เท่านั้นซึ่งต่ำสุดในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้
“งบประมาณรายจ่ายของภาครัฐปี 2567 น่าจะดีเลย์ออกไปอาจทำให้โครงการนี้ไปดำเนินการได้ในช่วงเม.ย.-พ.ค. 67 แต่ไม่ว่าจะช้าหรือเร็วก็เห็นว่าจำเป็นที่ไทยต้องกระตุ้นเศรษฐกิจแบบแรงเช่นเดียวกับญี่ปุ่นแต่เม็ดเงินไม่ต้องมากถึงระดับ 5.6 แสนล้านบาทก็ได้เพราะเวลานี้หนี้ครัวเรือนคิดเป็น 90.6% ของ GDP และหนี้นอกระบบ 19.6% ทำให้แรงซื้อต่ำมาก” นายเกรียงไกรกล่าว
สำหรับการปรับขึ้นค่าจ้างขั้นต่ำ และเงินเดือนราชการนั้นรัฐก็พยายามจะมุ่งเน้นเพิ่มรายได้ในระบบอีกทางหนึ่งโดยในส่วนของอัตราค่าจ้างขั้นต่ำนั้นได้มีการหารือกับรัฐโดยเฉพาะกระทรวงแรงงานไปแล้วซึ่ง ส.อ.ท.ไม่ได้คัดค้านการปรับขึ้นหากแต่ต้องอยู่ภายใต้เกณฑ์การพิจารณาของคณะกรรมการค่าจ้างกลาง (ไตรภาคี) เป็นสำคัญ เพราะหากขึ้นค่าแรงแบบรุนแรงนั้นอาจจะไม่ใช่เวลาที่เหมาะสมกับภาวะเศรษฐกิจที่เป็นอยู่ขณะนี้