xs
xsm
sm
md
lg

สภาองค์การนายจ้างหนุนขึ้นค่าแรงปี 67 เน้นอิงเงินเฟ้อผ่านกลไกไตรภาคี

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



สภาองค์การนายจ้างหนุนรัฐเดินหน้าปรับขึ้นค่าแรง-เงินเดือนราชการแต่ควรเป็นอัตราที่เหมาะสม โดยเฉพาะค่าแรงขั้นต่ำขึ้น 3-5% ตามอัตราเงินเฟ้อยอมรับได้ มั่นใจรัฐบาลใช้กลไกไตรภาคีในการพิจารณาเป็นสำคัญ ส่วนจะทัน 1 ม.ค. 67 เพื่อเป็นของขวัญแรงงานหรือไม่คงอยู่ที่นโยบายภาครัฐ

นายธนิต โสรัตน์ รองประธานสภาองค์การนายจ้างผู้ประกอบการค้าและอุตสาหกรรมไทย
เปิดเผยว่า การที่นายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง ได้มอบหมายให้ศึกษาการปรับขึ้นเงินเดือนข้าราชการ สำหรับกลุ่มข้าราชการพลเรือนและเจ้าหน้าที่ของรัฐควบคู่ไปกับการขึ้นค่าแรงขั้นต่ำซึ่งจะได้ข้อสรุปภายใน พ.ย.นี้คงจะต้องรอดูผลการศึกษาว่าจะปรับขึ้นมากน้อยเพียงใด อย่างไรก็ตาม ในส่วนของค่าแรงขั้นต่ำนั้นจากท่าทีของรัฐบาลและกระทรวงแรงงานล่าสุดจะใช้กลไกการพิจารณาผ่านคณะกรรมการค่าจ้าง (ไตรภาคี) เป็นสำคัญ

“หากดูสัญญาณแล้วการปรับขึ้นค่าแรงขั้นต่ำเป็น 400 บาท/วันซึ่งเป็นนโยบายของพรรคเพื่อไทยที่จะมีการปรับขึ้นจากเดิมเฉลี่ยสูงถึง 17% นั้นในช่วงหลังเหมือนว่ารัฐบาลเองน่าจะเริ่มเข้าใจมากขึ้น ซึ่งกระทรวงแรงงานเองก็ยอมรับว่าการปรับที่เพิ่มขึ้นมากไปก็จะกระทบต่อผู้ประกอบการโดยเฉพาะวิสาหกิจขนาดกลางและย่อม (เอสเอ็มอี) ทำให้มองว่าการปรับขึ้นค่าแรงคงจะต้องเกิดขึ้นแน่แต่จะเท่าใดนั้นคงต้องติดตามคณะอนุกรรมการค่าจ้างจังหวัดที่จะส่งข้อมูลมาเป็นสำคัญ” นายธนิตกล่าว

ทั้งนี้ เบื้องต้นเอกชนส่วนใหญ่ต่างเห็นว่าหากมีการปรับขึ้นค่าแรงขั้นต่ำ 3- 5% จากปัจจุบันนั้นภาคเอกชนไม่มีปัญหาอะไร โดยการหารือเบื้องต้นหากค่าแรงขึ้นไปอยู่ที่ 400 บาท/วันหากเทียบกับค่าจ้างขั้นต่ำของ กทม.และปริมณฑลที่ 353 บาท/วันคิดเป็นการปรับขึ้นถึง 17% ซึ่งเห็นว่าสูงเกินไปจึงต้องการให้ยึดที่อัตราเงินเฟ้อย้อนหลัง 3 ปี (ปี 2564-66) ซึ่งจะปรับขึ้นประมาณ 3% หรืออาจปรับตัวเลขไปที่ไม่เกิน 5% เช่นที่เคยปรับขึ้นมาก่อนหน้านี้เป็นตัวตั้งส่วนใหญ่ก็ยังรับได้อยู่ อย่างไรก็ตาม การประกาศขึ้นค่าแรงจะทันเป็นของขวัญปีใหม่ 1 ม.ค. 2567 หรือไม่นั้นคงอยู่ที่นโยบายรัฐบาล แต่หากดูจากความเคลื่อนไหวล่าสุดพบว่าคณะอนุกรรมการค่าจ้างระดับจังหวัดส่วนใหญ่ยังไม่ได้ส่งตัวเลขมา ขณะที่กระทรวงแรงงานเองที่ผ่านมายังคงต้องเร่งช่วยเหลือแรงงานที่ประสบปัญหาการสู้รบระหว่างอิสราเอลกับกลุ่มฮามาส

“การปรับขึ้นค่าแรงและเงินเดือนราชการต้องยอมรับว่ามีผลต่อจิตวิทยาในการปรับขึ้นราคาอาหารที่ผ่านมาอาหารตามสั่งเวลาขึ้นที 5-10 บาท/จานแล้วไม่ค่อยจะลง รัฐเองก็จะต้องควบคุมด้วยเช่นกันเพราะหากขึ้นเงินเดือนแล้วแต่รายจ่ายประจำวันขึ้นไปก็ไม่ได้เกิดประโยชน์นัก และรัฐบาลหากมีมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจเข้ามาดูแลกำลังซื้อให้ประชาชนเพิ่มขึ้นด้วยเป็นสิ่งจำเป็นเพราะเศรษฐกิจปี 2567 ภาพรวมยังคงผันผวนสูงและมีทิศทางชะลอตัว” นายธนิตกล่าว
กำลังโหลดความคิดเห็น