xs
xsm
sm
md
lg

รอง กมธ.กิจการสภา ‘ก้าวไกล’ โวย หน่วยงานยื้อส่งสัญญาแก้ไขก่อสร้าง “รัฐสภาหมื่นล้าน”

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



วันนี้(27 ต.ค.)นายนิติพล ผิวเหมาะ รองประธานคณะกรรมาธิการ กิจการสภาผู้แทนราษฎรคนที่ 4 กล่าวว่า ขณะนี้เกิดความสงสัยไปทั่วว่า การก่อสร้างอาคารรัฐสภาหมื่นล้านที่ล่าช้าและไม่สามารถส่งมอบได้ ทำไมจึงไม่สามารถเรียกปรับเงินหรือดำเนินการอย่างใดอย่างหนึ่งเพื่อให้มีอาคารรัฐสภาที่สมบูรณ์ 100 % เรื่องนี้ทาง กมธ.กิจการสภา ไม่นิ่งนอนใจและพยายามตรวจสอบเต็มที่ โดยเบื้องต้นพบว่าเหตุที่ยังเซ็นรับมอบอาคารรัฐสภาไม่ได้ เนื่องจากยังมีความไม่สมบูรณ์ใน 6 จุดที่ต้องทำให้แล้วเสร็จ ส่วนสาเหตุที่ไม่สามารถเรียกค่าปรับได้ เนื่องจากติดมาตรการงดเว้นค่าปรับจาก 2 รัฐบาลที่ผ่านมา คือช่วงระหว่างปี 2556 - 2558 ที่ติดปัญหาเรื่องการส่งมอบพื้นที่ล่าช้า มีการขยายระยะเวลาก่อสร้างทั้งหมด 4 ครั้ง สิ้นสุดในวันที่ 31 ธ.ค. 63 และอีกช่วงหนึ่งคือ ช่วงที่มีการแพร่ระบาดโควิด-19 นอกจากนี้ ยังมีปัจจัยเกี่ยวกับมาตรการช่วยเหลือกรณีการปรับขึ้นค่าแรงขั้นต่ำ 300 บาท เหล่านี้เป็นเหตุผลที่ทำให้มีการงดเว้นค่าปรับที่เรารับรู้

“กมธ. มีความจำเป็นที่จะต้องนำข้อมูลต่างๆมาพิจารณาใหม่ทั้งหมด ว่าการก่อสร้างและส่งมอบอาคารรัฐสภาล่าช้าหรือที่ยังไม่เรียบร้อยหลายจุด ซึ่งมีการทำสัญญายกเว้นค่าปรับไปมีความสมเหตุสมผลหรือไม่ เพราะมีการแก้ไขสัญญากันถึง 15 ครั้ง หรือที่เสร็จแล้วก็ยังมีปัญหาดังที่เราเห็นกันบ่อยๆว่าฝนตกหนักทีไร น้ำรั่วเข้ามาในอาคารเหมือนน้ำตก บางห้องก็เจอน้ำท่วมขึ้นราใช้งานไม่ได้เลยก็มี นอกจากนี้ ยังมีข้อร้องเรียนว่าใช้วัสดุไม่ตรงสเป็ก ไม่ว่าหิน ไม้ เหล่านี้เราต้องตรวจสอบกันใหม่ เพื่อรักษาประโยชน์ของพี่น้องประชาชน เนื่องจากเงินที่นำมาสร้างสภาอันโออ่าแห่งนี้มาจากเงินภาษีทั้งสิ้น จะใช้จ่ายอย่างสุรุ่ยสุร่ายหรือเอื้อประโยชน์ใครไม่ได้”นายนิติพล กล่าว

นายนิติพล กล่าวต่อว่า ตนได้เรียกให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้อนำส่งสัญญาการก่อสร้างหลักและการแก้ไขสัญญาทั้ง 15 ครั้ง ให้ กมธ.พิจารณาตั้งแต่วันที่ 18 ต.ค.ที่ผ่านมา จนถึงวันนี้ผ่านมาแล้วกว่าสัปดาห์ สัญญาเหล่านี้ยังไม่ถูกส่งมายังกรรมาธิการ ถ้าไม่เริ่มจากตรงนี้ก็ตรวจสอบต่อไปยาก จึงฝากเร่งรัดหน่วยงานที่เกี่ยวข้องทางนี้ ถึงเวลาที่ต้องเอาข้อเท็จจริงมาคุยกันและเปิดเผยให้พี่น้องประชาชาชนทราบ เราต้องการเห็นรัฐสภาที่โปร่งใส ตรวจสอบได้ในทุกเรื่อง สภาต้องไม่ใช่เป็นสถานที่หาประโยชน์หรือต่อรองผลประโยชน์กัน






กำลังโหลดความคิดเห็น