xs
xsm
sm
md
lg

ปี 67 นายจ้างส่งซิกชะลอรับแรงงานใหม่ “ป้อง ศก.ผันผวน-ต้นทุนพุ่ง-แรงซื้อต่ำ”

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



สภาองค์การนายจ้างผู้ประกอบการค้าและอุตสาหกรรมไทยส่งสัญญาณการรับแรงงานใหม่เข้าระบบเพิ่มปี 2567 จะชะลอตัวตามทิศทาง ศก.โลกและไทยที่เติบโตลดลงจากที่คาดการณ์ไว้ ประกอบกับนายจ้างบางส่วนหันไปใช้เทคโนโลยีแทน ต้นทุนค่าแรงทิศทางเพิ่มท่ามกลางหนี้ครัวเรือนที่สูงแรงซื้อตกต่ำ ทำให้นายจ้างต้องประคองการจ้างงานเดิมให้นานสุดแทน จับตาสภาพคล่องเอสเอ็มอีส่อเค้าวิกฤตรัฐต้องเร่งดูแลก่อนบานปลาย

นายธนิต โสรัตน์ รองประธานสภาองค์การนายจ้างผู้ประกอบการค้าและอุตสาหกรรมไทย
เปิดเผยว่า แนวโน้มการรับพนักงานหรือแรงงานใหม่เข้าทำงานในช่วงปี 2567 ยังคงมีทิศทางชะลอตัวตามทิศทางเศรษฐกิจของไทยที่ล่าสุดกองทุนการเงินระหว่างประเทศ (IMF) ได้ปรับลดคาดการณ์การขยายตัวของเศรษฐกิจไทยในปี 2566 ลงเหลือ 2.7% จากคาดการณ์เดิมที่ 3.4% และปรับลดคาดการณ์ในปี 2567 ลงเหลือ 3.2% จากคาดการณ์เดิมที่ 3.6% จากความไม่แน่นอนของเศรษฐกิจโลก ซึ่งทำให้นายจ้างยังคงต้องประคองธุรกิจเพื่อรับมือกับความผันผวนจากปัจจัยต่างๆ

“นายจ้างคงต้องประคองตัวในการรับพนักงานใหม่เพราะเศรษฐกิจไทยก็ยังคงไม่ได้เติบโตหวือหวาอะไรตามทิศทางเศรษฐกิจโลกที่ยังคงเผชิญความไม่แน่นอนสูง ประกอบกับนายจ้างบางส่วนหันไปใช้เทคโนโลยีแทนแรงงานเพิ่มขึ้น รวมถึงการปรับขึ้นค่าจ้างขั้นต่ำที่รัฐบาลมีนโยบายในการปรับเดือน ม.ค. 67 ที่วางเป้าหมายเป็น 400 บาท/วัน โดยมอบหมายให้คณะกรรมการค่าจ้างกลาง (ไตรภาคี) เป็นผู้พิจารณา ทำให้นายจ้างต้องพยายามรักษาระดับการจ้างงานเดิมเอาไว้ให้มากที่สุดแทน เพราะที่ผ่านมาจากวิกฤตโควิด-19 กระทบต่อการปลดคนงานไปพอสมควรแล้ว และขณะนี้ได้ทยอยฟื้นตัวจากการท่องเที่ยวทำให้อัตราการว่างงานของคนไทยภาพรวมถือว่ายังค่อนข้างต่ำ” นายธนิตกล่าว

อย่างไรก็ตาม การปรับขึ้นค่าจ้างขั้นต่ำเป็น 400 บาท/วันตามเป้าหมายของรัฐบาลนั้นขณะนี้ยังอยู่ในขั้นตอนที่จะต้องรอคณะอนุกรรมการค่าจ้างระดับจังหวัดจัดทำตัวเลขมาก่อนซึ่งคงจะต้องติดตามแนวทางจากไตรภาคีเป็นสำคัญ โดยในส่วนของนายจ้างนั้นมองว่าการปรับเป็น 400 บาท/วันหากเทียบกับค่าจ้างขั้นต่ำของ กทม.และปริมณฑลที่ 353 บาท/วันคิดเป็นการปรับขึ้นถึง 17% ซึ่งเห็นว่าสูงเกินไปจึงต้องการให้ยึดที่อัตราเงินเฟ้อย้อนหลัง 3 ปี (ปี 2564-66 ) ซึ่งจะปรับขึ้นประมาณ 3% แต่ตัวเลขดังกล่าวคงจะต้องให้เป็นที่ยอมรับจากทุกฝ่าย

นายธนิตกล่าวว่า ปี 2567 ผู้ประกอบการมีความเสี่ยงที่จะต้องเตรียมรับมือหลายด้านจากความไม่แน่นอนของเศรษฐกิจโลกที่เติบโตช้าจากทิศทางอัตราดอกเบี้ยที่ทรงตัวระดับสูง เช่นเดียวกับเศรษฐกิจไทยที่ปัญหาใหญ่สุดที่รัฐบาลต้องพึงระวังคือการขาดสภาพคล่องของธุรกิจที่ขณะนี้มีแนวโน้มที่สถาบันการเงินแทบจะไม่ปล่อยกู้โดยเฉพาะธุรกิจขนาดกลางและย่อม (เอสเอ็มอี) ท่ามกลางแรงซื้อที่ตกต่ำจากภาวะหนี้ครัวเรือนที่สูง

“รถยนต์ถูกยึดจำนวนมาก การกู้ผ่อนบ้านแบงก์ก็เริ่มจะไม่ให้แล้ว เพราะดอกเบี้ยของไทยเองก็ยังคงปรับขึ้นสูงตามทิศทางของเฟดแม้จะไม่ได้สะท้อนทั้งหมดก็ตาม อย่างไรก็ตาม สิ่งที่กังวลในปลายปีนี้คือการที่ค่าพลังงานปกติจะมีราคาแพงขึ้นซึ่งแม้ว่าการสู้รบระหว่างอิสราเอลกับกลุ่มฮามาสจะมีผลให้ราคาน้ำมันสูงขึ้นในช่วงแรกแต่ระยะนี้ได้อ่อนตัวลงแต่ปลายปีปกติความต้องการใช้น้ำมันในประเทศตะวันตกที่เพิ่มขึ้นจากการเข้าสู่ฤดูหนาวทำให้ราคาน้ำมันแพงอยู่แล้ว ดังนั้นเห็นว่ารัฐบาลควรจะต้องมีมาตรการรองรับเอาไว้ในเรื่องนี้อย่างทันท่วงที” นายธนิตกล่าว
กำลังโหลดความคิดเห็น