xs
xsm
sm
md
lg

SCB EIC มองไตรมาส 4 ส่งออกช่วยหนุนเศรษฐกิจไทย ผลกระทบอิสราเอลยังจำกัด

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



ศูนย์วิจัยเศรษฐกิจและธุรกิจ ธนาคารไทยพาณิชย์ (SCB EIC) มองภาพรวมเศรษฐกิจโลกในไตรมาส 4 ขยายตัวได้ในอัตราชะลอลง เป็นผลจากกิจกรรมภาคบริการที่เริ่มมีสัญญาณชะลอลง ขณะที่กิจกรรมภาคการผลิตยังหดตัวต่อเนื่อง นำโดยเศรษฐกิจสหรัฐฯ ที่มีแนวโน้มขยายตัวชะลอลงชัดเจนขึ้นในไตรมาสนี้ และต่อเนื่องในปีหน้า จากความล่าช้าในการส่งผ่านผลของนโยบายการเงินตึงตัว เงินออมส่วนเกินเริ่มหมด และหนี้ครัวเรือนสูงขึ้น ขณะที่เศรษฐกิจจีนกลับมาขยายตัวแข็งแกร่งขึ้นในไตรมาส 3 ทั้งในภาคบริการและการผลิต ในระยะต่อไปเศรษฐกิจจีนมีแนวโน้มฟื้นตัว ส่วนหนึ่งจากมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจที่คาดว่าจะออกมาเพิ่มเติม แต่จะยังคงเผชิญปัจจัยกดดันเชิงโครงสร้างในระยะปานกลาง-ยาว

ด้านอัตราเงินเฟ้อในกลุ่มประเทศเศรษฐกิจหลักเริ่มชะลอลงบ้าง แต่ยังอยู่ในระดับสูง SCB EIC คาดว่าธนาคารกลางสหรัฐฯ ธนาคารกลางยุโรป และธนาคารกลางอังกฤษจะคงอัตราดอกเบี้ยนโยบายในระดับสูงจนถึงกลางปี 2567 ก่อนจะทยอยปรับลดดอกเบี้ยลงในช่วงครึ่งหลังของปีหน้า มองไปข้างหน้าเศรษฐกิจโลกยังต้องเผชิญความเสี่ยงหลายด้าน เช่น การปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยของธนาคารกลางที่อาจยังไม่สิ้นสุด ปัญหาภูมิรัฐศาสตร์ที่กลับมาเร่งตัวอีกครั้งจากสงครามอิสราเอล-ปาเลสไตน์ และภาวะเอลนีโญ

สำหรับเศรษฐกิจไทยจะสามารถฟื้นตัวต่อได้จากการบริโภคภาคเอกชนและภาคบริการเป็นหลัก ตามจำนวนนักท่องเที่ยวต่างชาติที่เดินทางมาไทยยังมีแนวโน้มเร่งตัวขึ้นในไตรมาส 4 โดยเฉพาะนักท่องเที่ยวจากอาเซียน เอเชียตะวันออก และยุโรป อย่างไรก็ดี การสูญเสียความเชื่อมั่นของนักท่องเที่ยวจีนบางส่วน และผลกระทบจากการยกระดับสงครามในอิสราเอล ส่งผลให้การเร่งตัวของจำนวนนักท่องเที่ยวต่างชาติชะลอตัวลงกว่าที่คาด ขณะที่ความต้องการเดินทางท่องเที่ยวในประเทศของนักท่องเที่ยวไทยจะยังอยู่ระดับสูงต่อเนื่อง อีกทั้งการส่งออกสินค้าไทยที่เริ่มมีสัญญาณฟื้นตัวและคาดว่าจะกลับมาขยายตัวชัดเจนขึ้นในไตรมาส 4 จากราคาสินค้าส่งออกที่เพิ่มขึ้นตามภาวะเอลนีโญ ราคาสินค้าส่งออกเกี่ยวกับพลังงานที่สูงขึ้น รวมถึงผลจากปัจจัยฐานต่ำ

อย่างไรก็ตาม ในกรณีฐาน SCB EIC คาดว่า สงครามอิสราเอล-ปาเลสไตน์กระทบเศรษฐกิจไทยโดยตรงผ่านการท่องเที่ยวและการส่งออกสินค้าไม่มากนัก แต่หากสงครามครั้งนี้ขยายวงกว้างไปในภูมิภาคตะวันออกกลาง อาจกระทบต่อศักยภาพการส่งออกของไทยในภูมิภาคนี้ รวมถึงอาจกระทบแรงงานไทยที่ทำงานในอิสราเอลและประเทศอื่นในภูมิภาคนี้ได้

และอัตราเงินเฟ้อทั่วไปมีแนวโน้มเร่งขึ้นในช่วงที่เหลือของปีนี้และปีหน้า จากราคาสินค้าเกษตรที่ได้รับผลกระทบจากภัยแล้งและนโยบายจำกัดการส่งออกสินค้าเกษตรของบางประเทศ รวมถึงราคาพลังงานที่คาดว่าจะทรงตัวในระดับสูงจากการขยายระยะเวลาลดกำลังการผลิตของกลุ่ม OPEC+ และความไม่แน่นอนของสงครามในอิสราเอล อย่างไรก็ดี แรงกดดันจากเศรษฐกิจจีนที่มีแนวโน้มเติบโตชะลอลงและมาตรการช่วยเหลือค่าครองชีพของภาครัฐ โดยเฉพาะด้านพลังงาน จะมีส่วนช่วยให้อัตราเงินเฟ้อทั่วไปในระยะข้างหน้าเคลื่อนไหวอยู่ในกรอบเป้าหมายได้

นอกจากนี้ SCB EIC คาดว่าอัตราดอกเบี้ยนโยบายของไทยจะคงอยู่ที่ระดับปัจจุบัน 2.5% ต่อเนื่องไปถึงปีหน้า เนื่องจากอัตราดอกเบี้ยในปัจจุบันอยู่ในระดับที่เหมาะสมกับการขยายตัวของเศรษฐกิจอย่างมีเสถียรภาพในระยะยาวแล้ว (Neutral rate) และสอดคล้องกับแนวโน้มเงินเฟ้อในระยะต่อไปที่จะเร่งตัวขึ้น อีกทั้งอัตราดอกเบี้ยนโยบายที่แท้จริงจะกลับเป็นบวกช่วยสร้างเสถียรภาพเศรษฐกิจการเงินในระยะยาว สำหรับค่าเงินบาท สงครามในอิสราเอลส่งผลให้ราคาน้ำมันโลกและราคาสินทรัพย์ปลอดภัยปรับสูงขึ้น แต่ไม่กระทบค่าเงินบาทมากนัก จากการที่ Fed ส่งสัญญาณ Dovish comments และเงินทุนเคลื่อนย้ายไหลกลับเข้าตลาดพันธบัตรไทย มุมมองค่าเงินบาทจะปรับแข็งค่าขึ้นในไตรมาส 4 และทยอยแข็งค่าต่อเนื่องในปีหน้า จากแนวโน้มการฟื้นตัวของเศรษฐกิจไทย และนโยบายการเงินของ Fed ที่จะตึงตัวน้อยลงในปีหน้าทำให้เงินดอลลาร์สหรัฐจะทยอยอ่อนค่าลง โดยคาดว่าเงินบาทจะอยู่ที่ระดับ 35-36 บาทต่อดอลลาร์สหรัฐ ณ สิ้นปี 2566 และแข็งค่าสู่ระดับ 33-34 บาทต่อดอลลาร์สหรัฐ ณ สิ้นปี 2567
กำลังโหลดความคิดเห็น