เอ็มดี. บขส. ยื่นหนังสือลาออก แล้ว มีผล 9 พ.ย.นี้ อ้างปัญหาสุขภาพ ขณะที่สัญญาจ้างยังเหลือ 1 ปีกว่า ส่วนบอร์ดไฟเขียวไม่ยับยั้ง คาดเป็นการเปิดทางขั้วการเมืองใหม่จัดคนแทน วงในชี้ หน่วยงานรัฐวิสาหกิจ"คมนาคม"เริ่มสะเทือน จับตารายต่อไป
รายงานข่าวแจ้งว่า นายสัญลักข์ ปัญวัฒนลิขิต กรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท ขนส่ง จำกัด บขส. ได้ยื่นหนังสือลาออก ต่อ นายสรพงศ์ ไพฑูรย์พงษ์ รองปลัดกระทรวงคมนาคม ในฐานะประธานคณะกรรมการ (บอร์ด) บขส. แล้วโดยนายสัญลักข์ ระบุสาเหตุว่ามีปัญหาเรื่องสุขภาพ และบอร์ด บขส.ได้อนุมัติ
อนุมัติการลาออกแล้ว โดยจะมีผลตั้งแต่วันที่ 9 พฤศจิกายน 2566
รายงานข่าวระบุว่า นายสัญลักข์ ยืนยันว่า การลาออก ไม่ได้ถูกกดดันจากฝ่ายการเมืองแต่อย่างใด แต่เป็นความประสงค์ของนายสัญลักข์เอง เนื่องจากมีปัญหาสุขภาพ ซึ่งหลังจากนี้บอร์ด บขสจะแต่งตั้งบุคคลที่เหมาะสม ทำหน้าที่รักษาการแทน และ เข้าสู่ขั้นตอนการสรรหา กรรมการผู้จัดการใหญ่ คนใหม่ ต่อไป
สำหรับนายสัญลักข์ ปัญวัฒนลิขิต ผ่านการสรรหาและเข้ารับตำแหน่ง กรรมการผู้จัดการใหญ่ บขส. เมื่อวันที่ 14 มกราคม 2564 สัญญาจ้างระยะเวลา 4 ปี หรือสิ้นสุดวันที่ 13 มกราคม 2568 เท่ากับ ได้ปฏิบัติหน้าที่ทำงานเป็นเวลา 2 ปี 10 เดือน
ทั่งนี้ ที่ผ่านมา นายสัญลักข์ ปัญวัฒนลิขิต มีแผนงานนโยบาย การบริหาร บขส. เช่น พัฒนาสถานีให้มีความสะดวก ปลอดภัย สะอาด นำระบบเทคโนโลยีมาใช้ในการให้บริการ หารายได้เพิ่ม จากทรัพย์สิน และสถานีเดินรถเก่า รวมถึงการจัดหารถใหม่ทดแทนรถเก่า และ จัดหารถใหม่ที่ใช้พลังงานไฟฟ้าหรือ EV ที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม เพื่อ พัฒนาบริการและเพิ่มศักยภาพในการเดินรถ
รายงานข่าวแจ้งว่า เรื่อง จัดหารถของบขส. ฝเป็นปัญหาล่าช้ามา 8-9 ปี ส่งผลให้ บขส. มีจำนวนรถ ประมาณ 240 คัน ลดลงจากช่วงก่อนสถานการณ์โควิด-19 ที่มี รถถึง 800 คัน ขณะที่ปัจจุบัน จำนวน ผู้โดยสาร กลับมาใช้บริการเพิ่มขึ้น เฉลี่ย วันละ 30,000 คนในวันธรรมดา และ 45,000 คนในวันหยุด
ทำให้ มีรถไม่ เพียงพอต่อความต้องการ และ ทำให้เสียโอกาสในการหารายได้ทั้งด้านโดยสารและด้านขนส่งสินค้าใต้ท้องรถ ด้วย
จึงเป็นปัญหาที่ต้องบอร์ดบขส. และผู้บริหารคนใหม่ จะต้องเร่งแก้ไขอย่างจริงจัง
รายงานข่าวเปิดเผยว่า หลังจากที่ปรับเปลี่ยนรัฐบาลใหม่ การเปลี่ยนแปลง หัวหน้าหน่วยงานราชการระดับอธิบดีหรือหน่วยงานรัฐวิสาหกิจซึ่งผู้บริหารสูงสุด จะต้องผ่านการสรรหาฯ นั้น ถือเป็นเรื่องปกติ จึงน่าจับตา ว่าหลังจากนี้ จะมีการปรับเปลี่ยนทั้งคณะกรรมการ (บอร์ด) หน่วยงานรัฐวิสาหกิจของกระทรวงคมนาคม และ ผู้บริหารเบอร์ 1 ของแต่ละหน่วยอย่างไรบ้าง
โดยหน่วยงานรัฐวิสาหกิจภายใต้กระทรวงคมนาคมมีจำนวน 12 แห่งได่แก่ การทางพิเศษแห่งประเทศไทย (กทพ.) ,บริษัท ท่าอากาศยานไทย จำกัด (มหาชน) หรือ ทอท. ,บริษัท ขนส่ง จำกัด (บขส.) ,การรถไฟแห่งประเทศไทย (รฟท.) ,บริษัท เอสอาร์ที แอสเสท จำกัด (SRTA), บริษัท รถไฟฟ้า ร.ฟ.ท. จำกัด (รฟฟท.) ,การรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนแห่งประเทศไทย (รฟม.), บริษัท วิทยุการบินแห่งประเทศไทย จำกัด (บวท.),การท่าเรือแห่งประเทศไทย (กทท.) ,องค์การขนส่งมวลชนกรุงเทพ (ขสมก.) ,สถาบันการบินพลเรือน (สบพ.) ,บริษัท โรงแรมท่าอากาศยานสุวรรณภูมิ จำกัด (รทส.)