องค์การขนส่งมวลชนกรุงเทพ ประกาศยุติเดินรถ 5 เส้นทาง สาย ปอ.8-ปอ.34-ปอ.39-ปอ.140 และ ปอ.517 มีผล 1 พ.ย.นี้ ขณะที่ก่อนหน้านี้ไทยสมายล์บัสเตรียมแผนเพิ่มความถี่รอบรถ 30 เส้นทาง แทนผู้ประกอบการเดิมที่ยุติเดินรถเส้นทางทับซ้อน แบ่งเป็น 2 ระยะ ภายในสิ้นเดือน ต.ค.นี้
วันนี้ (20 ต.ค.) รายงานข่าวแจ้งว่า องค์การขนส่งมวลชนกรุงเทพ (ขสมก.) เตรียมยุติให้บริการรถโดยสารปรับอากาศในเส้นทางทับซ้อนกับเอกชน 5 เส้นทาง โดยมีผลตั้งแต่วันที่ 1 พ.ย. 2566 หลังจากกรมการขนส่งทางบก มีหนังสือแจ้งให้ ขสมก. พิจารณาปฏิบัติตามมติคณะกรรมการนโยบายรัฐวิสาหกิจ และมติคณะกรรมการควบคุมการขนส่งทางบกกลาง โดยให้ ขสมก. ขอยกเลิกใบอนุญาตประกอบการขนส่งในเส้นทางเดิมของ ขสมก. ที่ทับซ้อนกับเส้นทางของผู้ประกอบการเดินรถเอกชนตามแผนปฏิรูประบบรถโดยสารประจำทางในเขตกรุงเทพมหานครและจังหวัดที่มีเส้นทางต่อเนื่อง และคืนใบอนุญาตประกอบการขนส่งให้นายทะเบียนกลาง จำนวน 5 เส้นทาง
สำหรับเส้นทางที่ ขสมก. จะยุติการเดินรถในวันที่ 1 พ.ย. 2566 ได้แก่ สาย ปอ.8 สะพานพระพุทธยอดฟ้า-เคหะชุมชนร่มเกล้า, สาย ปอ.34 รังสิต-หัวลำโพง, สาย ปอ.39 มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ศูนย์รังสิต-อนุสาวรีย์ชัยสมรภูมิ, สาย ปอ.140 แสมดำ-อนุสาวรีย์ชัยสมรภูมิ (ทางด่วน) และสาย ปอ.517 หมอชิต 2-ศูนย์การค้าเทิดไท (เขตลาดกระบัง) โดยผู้ใช้บริการที่ถือบัตรโดยสารอิเล็กทรอนิกส์ทุกประเภทของ ขสมก. ได้แก่ บัตรโดยสารล่วงหน้ารายเดือน-รายสัปดาห์ บัตรโดยสารนักเรียน - นักศึกษา บัตรโดยสารอิเล็กทรอนิกส์แบบรายเที่ยว และบัตร TRANSIT PASS RED LINE BKK X BMTA ยังคงสามารถนำบัตรไปใช้ชำระค่าโดยสารบนรถโดยสารประจำทางของ ขสมก. ในสายอื่นๆ ได้ตามปกติ
รายงานข่าวเพิ่มเติมระบุว่า การยุติให้บริการรถโดยสารปรับอากาศ ขสมก. จำนวน 5 เส้นทางดังกล่าว เพื่อเปิดทางให้บริษัท ไทยสมายล์บัส จำกัด ผู้ประกอบการรถโดยสารประจำทางพลังงานไฟฟ้าภาคเอกชน เข้ามาเดินรถแทน ซึ่งก่อนหน้านี้ได้รับการอนุมัติให้ออกใบอนุญาตประกอบการขนส่งประจำทาง จากคณะกรรมการควบคุมการขนส่งทางบกกลาง เมื่อ 24 มี.ค. 2565 รวม 71 เส้นทาง
ก่อนหน้านี้ บริษัท ไทยสมายล์บัส จำกัด ได้เตรียมแผนการเดินรถพร้อมรองรับจำนวนผู้โดยสารที่เพิ่มขึ้น จากการยุติการเดินรถของรถร่วมให้บริการ ในเส้นทางทับซ้อน 30 เส้นทาง ตามใบอนุญาตของกรมการขนส่งทางบก กระทรวงคมนาคม ภายในเดือน ต.ค. โดยมีเส้นทางที่จะยุติทั้งสิ้น 27 เส้นทาง พร้อมกับการปรับเส้นทางเป็น 30 เส้นทาง ตามแผนการปฎิรูปรถโดยสาธารณะ ซึ่งบริษัทฯ มีรถสำหรับให้บริการอยู่แล้ว และได้เพิ่มความถี่รอบรถให้มากขึ้น เพื่อให้เพียงพอต่อความต้องการของพี่ประชาชนน้องในพื้นที่ แบ่งออกเป็น 2 ระยะ ได้แก่ แผนระยะที่ 1 รถร่วมให้บริการจะยุติการเดินรถในเส้นทางเดิม ตั้งแต่วันที่ 7 ต.ค. 2566 ในเส้นทางทับซ้อน จำนวน 10 เส้นทาง และแผนระยะที่ 2 จำนวน 20 เส้นทาง จะทยอยยุติการเดินรถ ภายในวันที่ 30 ต.ค. 2566
สำหรับแผนระยะที่ 1 เพิ่มความถี่รอบรถภายในวันที่ 7 ต.ค. จำนวน 10 เส้นทาง ได้แก่ สาย 4-23E (สาย 140 เดิม) แสมดำ-อนุสาวรีย์ชัยสมรภูมิ, สาย 1-52 (สาย 197 เดิม) วงกลมมีนบุรี-คู้บอน-ถนนหทัยราษฎร์, สาย 1-2E (สาย 34 เดิม) รังสิต-หัวลำโพง (ทางด่วน), สาย 1-3 (สาย 34 เดิม) บางเขน-หัวลำโพง, สาย 2-38 (สาย 8 เดิม) แฮปปี้แลนด์-ท่าเรือสะพานพุทธ, สาย 1-56 (สาย 517 เดิม) สถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าเจ้าคุณทหารลาดกระบัง-อนุสาวรีย์ชัยสมรภูมิ, สาย 1-58 (สาย 525 เดิม) สวนสยาม-ลำลูกกาคลอง 12, สาย 1-59 (สาย 526 เดิม) สวนสยาม-หมู่บ้านเอื้ออาทรสังฆสันติสุข, สาย 1-4 (สาย 39 เดิม) มหาวิทยาลับธรรมศาสตร์ ศูนย์รังสิต-บางเขน และสาย 1-5 (สาย 39 เดิม) รังสิต-อนุสาวรีย์ชัยสมรภูมิ
ส่วนแผนระยะที่ 2 เพิ่มความถี่รอบรถภายในวันที่ 30 ต.ค. จำนวน 20 เส้นทาง ได้แก่ สาย 3-2E (สาย 2 เดิม) ปู่เจ้าสมิงพราย-ท่าเรือสะพานพุทธ (ทางด่วน), สาย 3-1 (สาย 2 เดิม) ปากน้ำ-ท่าเรือสะพานพุทธ, สาย 1-39 (สาย 71 เดิม) สวนสยาม-คลองเตย, สาย 4-44 (สาย 80 ก เดิม) หมู่บ้าน วปอ.11-สวนหลวงพระราม 8, สาย 3-3 (สาย 11 เดิม) สวนหลวง ร.9-สถานีรถไฟฟ้าสนามกีฬาแห่งชาติ, สาย 4-15 (สาย 82 เดิม) ท่าน้ำพระประแดง-บางลำภู, สาย 2-3 (สาย 18 เดิม) ตลาดท่าอิฐ-อนุสาวรีย์ชัยสมรภูมิ, สาย 3-37 (สาย 12 เดิม) ศูนย์วัฒนธรรมแห่งประเทศไทย-สถานีรถไฟฟ้าสนามไชย, สาย S6 (สาย 555 เดิม) หมอชิตใหม่ (จตุจักร)-สุวรรณภูมิ (ทางด่วน), สาย 2-15 (สาย 97 เดิม) กระทรวงสาธารณสุข-โรงพยาบาลสงฆ์
สาย 3-36 (สาย 4 เดิม) ท่าเรือคลองเตย-ท่าน้ำภาษีเจริญ, สาย 3-45 (สาย 77 เดิม) พระราม 3-สถานีขนส่งผู้โดยสารกรุงเทพฯ (จตุจักร), สาย 3-35 (สาย 1 เดิม) พระราม 3-ท่าเตียน, สาย 3-6 (สาย 25 เดิม) โรงเรียนปทุมคงคา สมุทรปราการ-ขนส่ง (เอกมัย), สาย 4-46 (สาย 84 เดิม) วัดไร่ขิง-สถานีรถไฟฟ้ากรุงธนบุรี, สาย 3-14 (สาย 132 เดิม) เคหะบางพลี-สถานีรถไฟฟ้าอุดมสุข, สาย 4-61 (สาย 515 เดิม) เซ็นทรัลศาลายา-อนุสาวรีย์ชัยสมรภูมิ, สาย 4-56 (สาย 165 เดิม) ถนนบรมราชชนนี-สถานีรถไฟฟ้ากรุงธนบุรี, สาย 4-17 (สาย 88 เดิม) มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าธนบุรี บางขุนเทียน-ประชาอุทิศ-ตลาดพลู และสาย 2-27 (สาย 210 เดิม) เมืองทองธานี-สถานีรถไฟฟ้าบางหว้า เป็นต้น