“มนพร” ลั่นปัดฝุ่น "ท่าเรือคลองใหญ่" เตรียมมอบนโยบายกรมเจ้าท่าจับมือ ก.เกษตรฯ และเจรจากรมธนารักษ์ดึงเอกชนใช้งาน สร้างรายได้ ส่วนเรือท่องเที่ยว เล็งทำแพกเกจล่องเรือเจ้าพระยารับทัวร์จีน
นางมนพร เจริญศรี รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงคมนาคม เปิดเผยว่า ในเดือนพ.ย.นี้จะเริ่มออกตรวจงานและให้นโยบายหน่วยงานที่กำกับดูแล ซึ่งที่ผ่านมาได้ทำการบ้านศึกษาข้อมูลที่เกี่ยวข้องของหน่วยงานบ้างแล้ว เพื่อพิจารณาแนวทางที่ดีที่สุดในการทำให้องค์กรต่างๆ กลับมามีผลกำไรและเดินหน้าตามแผนงานที่วางไว้
โดยจะไปมอบนโยบายกรมเจ้าท่า (จท.) เป็นหน่วยงานแรก เนื่องจากสามารถขับเคลื่อนงานได้ทันที เพราะเป็นหน่วยงานราชการ ส่วนหน่วยงานรัฐวิสาหกิจ เช่น การท่าเรือแห่งประเทศไทย (กทท.) องค์การขนส่งมวลชนกรุงเทพ (ขสมก.) สถาบันการบินพลเรือน (สบพ.) บริษัท โรงแรมท่าอากาศยานสุวรรณภูมิ จำกัด (รทส.) จะเป็นลำดับต่อไป เพราะต้องเร่งตั้งคณะกรรมการ (บอร์ด) ให้ครบถ้วนก่อน
เพื่อให้ดำเนินการประชุมได้ตามระเบียบและขับเคลื่อนนโยบายได้ไม่หยุดชะงัก ซึ่งจะเร่งตั้งภายใน 2 เดือนนี้
นางมนพรกล่าวว่า โดยเรื่องเร่งด่วนที่ให้กรมเจ้าท่าตรวจสอบข้อมูลว่ามีท่าเรือไหนบ้างที่ก่อสร้างแล้วปล่อยร้าง ยังไม่ได้ใช้ประโยชน์ ไม่ก่อให้เกิดรายได้ ท่าเรือแบบนี้ต้องหาทางนำมาหาทางสร้างรายได้ ซึ่งจากที่ตนได้ดูข้อมูลพบว่ามีท่าเรือที่กรมเจ้าท่าก่อสร้างเสร็จแล้วยังไม่ได้ใช้ประโยชน์ ปล่อยร้าง เช่น ท่าเรือคลองใหญ่ จังหวัดตราดทราบว่ามีปัญหาร่องน้ำ เรือขนาดใหญ่เข้าไม่ได้ ในบริเวณนั้นมีเรือประมง มีสะพานปลาเอกชน ตนจะลงพื้นที่และเชิญผู้อำนวยการองค์การสะพานปลา (อสป.) กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ไปด้วยเพื่อหาทางร่วมมือกันในการใช้ประโยชน์ท่าเรือ
นอกจากนี้ยังมีท่าเรือขนส่งสินค้า ตำบลศาลาลอย อำเภอท่าเรืออยุธยา ที่มีสภาพคล้ายกัน รวมถึงท่าเรือปัตตานี ซึ่งตนได้รับข้อมูลเบื้องต้นจากทาง ส.ส.จังหวัดปัตตานี นอกจากนี้ จะต้องหารือกับกรมธนารักษ์ เรื่องอัตราค่าเช่าที่เหมาะสมด้วยเพื่อให้จูงใจการเข้ามาใช้ท่าเรือด้วย
ส่วนเรือท่องเที่ยว ที่เป็นส่วนสำคัญในการสร้างรายได้ด้านการท่องเที่ยวนั้นจะต้องอำนวยความสะดวก การเข้าออก เข้าจอด ท่าเรือเป็นแบบเปิด ต้องมีความปลอดภัย มีไฟฟ้าส่องสว่าง ห้องน้ำ สะอาด สะดวก
นางมนพรกล่าวว่า ได้ทำการบ้านเรื่องนี้ เพื่อสนับสนุนเรือท่องเที่ยวรองรับนักท่องเที่ยวจีน และแจ้งต่อนายกรัฐมนตรี ขอให้ช่วยส่งเสริมการคมนาคมทางน้ำให้มากๆ เหมือนทางอากาศ ทางบก ล่าสุดได้มีการประสานกับผู้ประกอบการเรือท่องเที่ยวแม่น้ำเจ้าพระยา 29 บริษัท เพื่อทำแพกเกจท่องเที่ยวเรือท่องเที่ยวแม่น้ำเจ้าพระยา เพื่อเร่งหารือกับกระทรวงการท่องเที่ยวฯ เพื่อทำแพกเกจร่วมกันต่อไป
“เป้าหมายคือการเพิ่มมูลค่าการขนส่งทางทะเล ซึ่งยังมีสัดส่วนการขนส่งน้อยมาก เพียง 9% ส่วนขนส่งทางบก กว่า 80% กรมเจ้าท่าต้องตรวจเช็กท่าเรือร้าง ขาดทุน ทำแผนพัฒนา กรมเจ้าท่าต้องไม่เป็นแดนสนธยาอีกต่อไป” นางมนพรกล่าว
สำหรับท่าเรืออเนกประสงค์คลองใหญ่ จังหวัดตราด มูลค่า 1,295 ล้านบาท ก่อสร้างบนที่ราชพัสดุ ใช้งบประมาณของกรมเจ้าท่าก่อสร้าง ต่อมา ครม.มอบหมายให้การท่าเรือแห่งประเทศไทย (กทท.) บริหาร