xs
xsm
sm
md
lg

“สุริยะ” แบ่งงาน “มนพร” คุมทางน้ำ "สุรพงษ์" รวบตึงระบบราง ไม่กังวลปมโควตานายทุน ยันเข้ามาแก้ปัญหา "สายสีส้ม"

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



“สุริยะ” แบ่งงาน “มนพร” คุมทางน้ำ ”สุรพงษ์” รวบตึงระบบรางพร้อมแจงไม่กังวลข่าวโควตานายทุนรถไฟฟ้า ชี้เข้ามาแก้ปัญหา "สายสีส้ม" “สุริยะ” ย้ำรอศาลชี้ไม่ผิดไปต่อ ราคาสูงเจรจาได้ ย้ำภาพจำคดี "ซีทีเอ็กซ์" กระบวนการยุติธรรมช่วยพิสูจน์ไปแล้ว

วันที่ 14 ก.ย. 2566 นายสุริยะ จึงรุ่งเรืองกิจ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม พร้อมด้วย นางมนพร เจริญศรี รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงคมนาคม นายสุรพงษ์ ปิยะโชติ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงคมนาคม ได้ประชุมเพื่อมอบนโยบายการบริหารงานแก่ผู้บริหารและหน่วยงานในสังกัดกระทรวงคมนาคม พร้อมกันนี้ นายสุริยะได้ลงนามในคำสั่งกระทรวงคมนาคมที่ 959/2566 เรื่องมอบอำนาจให้รัฐมนตรีช่วยว่าการฯ โดยให้มีอำนาจในการสั่งการ การอนุญาต การอนุมัติ ปฏิบัติราชการแทนรัฐมนตรีว่าการฯ โดยมีการแบ่งความรับผิดชอบในการกำกับดูแลหน่วยงานราชการ และหน่วยงานรัฐวิสาหกิจแล้ว มีผลตั้งแต่วันที่ 14 ก.ย. 2566

นายสุริยะ จึงรุ่งเรืองกิจ รมว.คมนาคม รับผิดชอบกำกับดูแล 9 หน่วยงาน ได้แก่ 1.  สำนักงานปลัดกระทรวง 2. สำนักงานนโยบายและแผนการขนส่งและจราจร (สนข.) 3. กรมท่าอากาศยาน (ทย.) 4. กรมทางหลวง (ทล.) 5. กรมทางหลวงชนบท (ทช.) 6. การทางพิเศษแห่งประเทศไทย (กทพ.) 7. บริษัท ท่าอากาศยานไทย จำกัด (มหาชน) หรือ ทอท. 8. สำนักงานการบินพลเรือนแห่งประเทศไทย (กพท.) 9. สถาบันวิจัยและพัฒนาเทคโนโลยีระบบราง (องค์การมหาชน) หรือ สทร.

นางมนพร เจริญศรี รมช.คมนาคม กำกับดูแล 5 หน่วยงาน ได้แก่ 1. กรมเจ้าท่า (จท.) 2. การท่าเรือแห่งประเทศไทย (กทท.) 3. องค์การขนส่งมวลชนกรุงเทพ (ขสมก.) 4. สถาบันการบินพลเรือน (สบพ.) 5. บริษัท โรงแรมท่าอากาศยานสุวรรณภูมิ จำกัด (รทส.)

นายสุรพงษ์ ปิยะโชติ รมช.คมนาคม กำกับดูแล 8 หน่วยงาน ได้แก่ 1. กรมการขนส่งทางบก (ขบ.) 2. กรมการขนส่งทางราง (ขร.) 3. บริษัท ขนส่ง จำกัด (บขส.) 4. การรถไฟแห่งประเทศไทย (รฟท.) 5.  บริษัท เอสอาร์ที แอสเสท จำกัด (SRTA) 6. บริษัท รถไฟฟ้า ร.ฟ.ท. จำกัด (รฟฟท.) 7. การรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนแห่งประเทศไทย (รฟม.) 8. บริษัท วิทยุการบินแห่งประเทศไทย จำกัด (บวท.)

โดยการปฏิบัติราชการของ รมช.คมนาคม ตามที่ได้รับมอบหมายดังกรณีต่อไปนี้ ให้เสนอ รมว.คมนาคมพิจารณาวินิจฉัยสั่งการ 1. เรื่องที่มีลักษณะเป็นงานนโยบาย และการบริหารงานบุคคล 2. เรื่องที่ต้องเสนอนายกรัฐมนตรี และ/หรือคณะรัฐมนตรี 3. เรื่องการให้เอชกนเข้าร่วมงาน หรือดำเนินการในกิจการของหน่วยงานในสังกัดกระทรวงคมนาคม 4. เรื่องการแต่งตั้งคณะกรรมการ และ/หรือกรรมการของรัฐวิสาหกิจ และบริษัท ในสังกัดกระทรวงคมนาคม

ทั้งนี้ ในกรณีที่ รมว.คมนาคมพิจารณาเห็นว่าเรื่องใดเป็นเรื่องนโยบายที่มีผลกระทบต่อนโยบายของรัฐบาล หรือผลประโยชน์ของประเทศชาติ รมว.คมนาคมอาจสั่งการในเรื่องนั้นได้ตามความเหมาะสม โดยจะแจ้งให้ รมช.คมนาคมที่รับผิดชอบดำเนินการ หรือรับทราบการดำเนินการนั้นๆ

ในการที่ รมช.คมนาคมผู้ใดไม่อาจปฏิบัติราชการได้ อำนาจในการกำกับดูแลและสั่งการให้เป็นอำนาจของ รมว.คมนาคม และบรรดาคำสั่ง ระเบียบ ข้อบังคับ และประกาศ ซึ่ง รมช.คมนาคมได้สั่งการหรือลงนามในฐานะผู้ปฏิบัติราชการแทน หรือผู้รักษาราชการแทน ให้นำเสนอรมว.คมนาคม เพื่อทราบในโอกาสแรก

นายสุริยะกล่าวว่า การแบ่งงานให้รมช.คมนาคม 2 คนกำกับดูแลหน่วยงานนั้น ได้พิจารณาตามความเหมาะสม โดยให้นายสุรพงษ์กำกับดูแลระบบรางทั้งหมด เพราะให้กำกับดูแลกรมการขนส่งทางราง ก็ต้องให้หน่วยงานทางรางไปด้วย แต่นโยบายค่าโดยสาร 20 บาทนั้น เนื่องจากต้องเจรจากับเอกชน เรื่องนี้ตนจะดูแลเองเพื่อให้รวดเร็วขึ้น

สำหรับนโยบายสำคัญคือ กระทรวงคมนาคมต้องเป็นคมนาคมยุคใหม่ที่สร้างความสุขให้ประชาชน ครอบคลุม 3 มิติ คือ 1. มิติทางเศรษฐกิจ กระทรวงคมนาคมจะมีส่วนสำคัญในการฟื้นฟูเศรษฐกิจของประเทศ ซึ่งปัจจุบัน GDP ค่อนข้างต่ำ โดยจะมีการบูรณาการในด้านระบบถนน ราง ทางน้ำ ทางอากาศ ให้มีประสิทธิภาพเชื่อมโยง โดยใช้โครงสร้างพื้นฐานที่รัฐได้ลงทุนไปจำนวนมากให้เต็มศักยภาพกับที่ลงทุนไป 2. มิติด้านความปลอดภัยตามมาตรฐาน โดยมุ่งลดการเกิดอุบัติเหตุทางถนน 3. มิติการอนุรักษ์สิ่งแวดล้อม โดยจะสนับสนุนการใช้รถยนต์พลังงานไฟฟ้า (EV) เพิ่มขึ้น

@ปม "ซีทีเอ็กซ์" กระบวนการยุติธรรมได้พิสูจน์ไปแล้ว

ผู้สื่อข่าวถามว่า จากกรณีที่เคยถูกกล่าวหาเรื่องการจัดซื้อเครื่องตรวจวัตถุระเบิด ซีทีเอ็กซ์ 9000 สนามบินสุวรรณภูมิช่วงปี 2547-2548 จนเป็นภาพจำและมีผลต่อภาพลักษณ์นั้น มีความกดดันในการทำงานในสมัยนี้หรือไม่ นายสุริยะกล่าวว่า เรื่องภาพจำซีทีเอ็กซ์นั้น ได้มีการตรวจสอบและคณะกรรมการ ป.ป.ช.มีมติเอกฉันท์ว่าตนไม่ผิด เท่ากับได้เคลียร์ไปหมดแล้ว ซึ่งถือว่าโชคดีที่มีการตรวจสอบเรื่องนี้ โดยตอนแรกมีการอภิปรายในสภา ทำให้ตนเสียหายมาก แต่โชคดีที่คณะกรรมการตรวจสอบการกระทำที่ก่อให้เกิดความเสียหายแก่รัฐ (คตส.) ได้เสนอเรื่องไปให้ ป.ป.ช. ที่สุดได้ตัดสินว่าตนไม่มีความผิดใดๆ ซึ่งเรื่องนี้กระบวนการยุติธรรมได้พิสูจน์ให้ตนเองไปแล้ว

@ "สายสีส้ม" รอศาลชี้ ไม่ผิดเดินหน้าต่อ

นายสุริยะกล่าวถึงโครงการรถไฟฟ้าสายสีส้มว่า เรื่องนี้ บมจ.บีทีเอส กรุ๊ป โฮลดิ้ง (BTS) ฟ้องร้องคณะกรรมการคัดเลือกตามมาตรา 36 แห่ง พ.ร.บ.ร่วมทุน 2562 กับ รฟม. รวม 3 คดี ซึ่ง 2 คดีแรกจบแล้ว เหลือคดีที่ 3 ที่ศาลปกครองกลางตัดสินแล้วว่าคณะกรรมการคัดเลือกฯ ดำเนินการถูกต้อง ยังเหลือการพิพากษาในชั้นศาลปกครองสูงสุดที่ต้องรอผล ซึ่งเมื่อรัฐบาลก่อนมีการเสนอ ครม. ซึ่งตนได้เข้าร่วมประชุม โดยกฤษฎีกาให้ความเห็นว่าควรรอให้ศาลปกครองสูงสุดตัดสินก่อน ดังนั้น ตนจะยึดตามความเห็นนั้นว่าควรรอกฤษฎีกา ดังนั้นขณะนี้ต้องรอศาลปกครองสูงสุด หากชี้ว่าถูกต้องก็ดำเนินการตาม คงทำอะไรนอกเหนือจากนั้นไม่ได้ ส่วนราคาที่อาจมองว่าสูงเกินไปก็มาเจรจาต่อรองกัน

@"สุรพงษ์" ไร้กังวลปมตัวแทนทุนรถไฟฟ้า ชี้เข้ามาเพื่อแก้ปัญหา

ผู้สื่อข่าวถามนายสุรพงษ์ ปิยะโชติ รมช.คมนาคม ถึงกรณีที่มีกระแสข่าวว่าเป็นตัวแทนกลุ่มทุนรถไฟฟ้า และยังได้กำกับดูแล รฟม.ที่มีประเด็นรถไฟฟ้าสายสีส้มอยู่ด้วย จะมีแนวทางในการดำเนินงาน กำกับดูแลหน่วยงานให้เกิดความเป็นธรรม โปร่งใส อย่างไร และมีความกังวลใจหรือไม่ นายสุรพงษ์กล่าวว่า ข่าวก็คือข่าว ผมไม่กังวล การที่ได้รับมอบหมายให้กำกับดูแลหน่วยงานทางรางเป็นดุลพินิจของรมว.คมนาคม สำหรับรถไฟฟ้าสายสีส้ม สีเขียว ที่เกิดขึ้นไปแล้ว เป็นหน้าที่ของรัฐบาลใหม่ต้องเข้ามาแก้ไข สะสางปัญหาอุปสรรคที่ติดขัดให้เดินหน้าต่อไปได้ รัฐบาลวันนี้มีเสถียรภาพพอสมควร ทำตามนโยบายที่นายกฯ มอบหมาย

“การได้รับมอบหมายให้ดูแลกำกับหน่วยงานระบบราง เพื่อแก้ไขปัญหาอุปสรรค ภายใต้การสั่งการของ รมว.คมนาคม โดยจะทำงานแบบบูรณาการร่วมกัน และสรุปเพื่อเสนอ ครม.ต่อไป ต้องเข้าใจบริบทก่อนว่าไม่ใช่ตนจะเข้าไปแล้วจะจัดการอะไรได้หมด เพราะมีกฎ มี พ.ร.บ. มีบอร์ดและมีขั้นตอน ที่องค์กรต้องดำเนินการตามกลไกที่มี ไม่ใช่กลุ่มทุนหรืออะไร เป็นการทำงานตามปกติ ส่วนสายสีส้มคงต้องขอดูรายละเอียดก่อน มีกลไกอย่างไร ส่วนจะไปต่อหรือไม่ไปต่อ ต้องอยู่ภายใต้นโยบาย รมว.คมนาคมด้วย”

ด้านนางมนพร เจริญศรี รมช.คมนาคม กล่าวว่า รมว.คมนาคมได้มอบหน่วยงานให้กำกับดูแลแล้ว ซึ่งจะทำงานโดยบูรณาการร่วมกันเพื่อให้มีการพัฒนาระบบคมนาคมขนส่ง ทั้งทางบก ทางราง ทางน้ำ ทางอากาศ และนำนโยบายนายกรัฐมนตรี ที่ว่าทำทันทีมาดำเนินการเพื่อขับเคลื่อนทุกนโยบายเพื่อแก้ปัญหาให้ประชาชน


กำลังโหลดความคิดเห็น