xs
xsm
sm
md
lg

“มนพร”เร่งตั้งบอร์ดขสมก.ชุดใหม่ เตรียมลุยจัดหารถเมล์ EVนำร่อง 224 คัน -จับมือสปสช.ขอเบิกตรงค่ารักษาพยาบาลพนักงาน

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



“มนพร”เร่งตั้งบอร์ดขสมก.ชุดใหม่ ลุยจัดหารถโดยสาร EV ล็อตแรก 224 คัน กว่า 900 ล้านบาท ลดค่าซ่อมบำรุง หารือสปสช.ขอเบิกตรงค่ารักษาพยาบาลสร้างขวัญกำลังใจพนักงานเริ่ม ม.ค. 67 ดันเพิ่มรายได้จากพัฒนาเชิงพาณิชย์ อู่บางเขน-มีนบุรี เผยแผนขับเคลื่อนขสมก.แก้หนี้ 1.4 แสนล้านบาทหารถEV รวม 2,013 คัน

วันที่ 29 ก.ย. ที่องค์การขนส่งมวงชนกรุงเทพ (ขสมก.) นางมนพร เจริญศรี รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงคมนาคม เปิดเผยภายหลังเป็นประธานพิธีงานวันคล้ายวันก่อตั้ง ขสมก.ถึงนโยบายการกำกับดูแล ขสมก.ว่า วันนี้เป็นวันแรกที่มาเยี่ยม ขสมก.ในงานครบรอบ 47 ปี โดยมีเรื่องที่ได้ริเริ่ม คือโครงการราชรถยิ้ม และการดูแลคุณภาพชีวิตของพนักงาน ขสมก. โดยจะนำร่องในเรื่องการรักษาพยาบาล โดยได้หารือและทำเรื่องไปยังสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ( สปสช.) แล้ว เพื่อเข้าระบบการรักษาพยาบาลเบิกตรง จากปัจจุบัน พนักงานขสมก.ต้องสำรองเงินจ่ายค่ารักษาพยาบาลไปก่อนแล้วค่อยนำเบิกภายหลัง ซึ่งเบิกได้เงินคืนล่าช้ามาก ขณะที่พนักงานขสมก.มีรายได้น้อยอยู่แล้ว คาดว่าจะเริ่มใช้ได้ตั้งแต่เดือน ม.ค.2567 เป็นของขวัญปีใหม่ให้กับพนักงาน ขสมก. และเป็นนโยบายแรกที่จะเติมขวัญกำลังใจให้กับพนักงานขสมก. และถือเป็นหน่วยงานรัฐวิสาหกิจแรกของกระทรวงคมนาคมที่จะได้ดำเนินการรักษาพยาบาลเบิกตรง

ส่วนการปรับปรุงบริการและการแก้ปัญหาหนี้สินขสมก.นั้น นายมนพรกล่าวว่า จะผลักดันแผนขับเคลื่อนขสมก.(แผนฟื้นฟูขสมก.) ซึ่งเตรียมจัดหารถโดยสารพลังงานไฟฟ้า (EV) โดยใช้วิธีเช่าแบบเหมาดำเนินการ จำนวน 2,013 คัน แบ่งเป็น 3 เฟส โดยเฟสแรก จำนวน 224 คัน ซึ่งหากจัดหารถ EV ได้ตามแผน จะช่วยลดรายจ่าย ด้านเหมาซ่อมที่มีประมาณ 1,900 ล้านบาทต่อปี นอกจากนี้ ต้องหารายได้เพิ่ม จากการพัฒนาพื้นที่เชิงพาณิชย์ อู่จอดรถขสมก. 2 แห่งที่ บางเขน และ มีนบุรี รวมถึงบริหารจัดการเป็นที่จอดรถฟีดเดอร์เพื่อเดินทางเชื่อมต่อระบบรถไฟฟ้าสายต่างๆ


@เร่งตั้งบอร์ด ขสมก.ชุดใหม่ เดินหน้าแผนจัดหารถเมล์ EV ล็อตแรก

นางมนพรกล่าวว่า ขณะนี้ขสมก.อยู่ในภาวะที่ไม่มีคณะกรรมการบริหารกิจการองค์การฯหรือบอร์ด ขสมก. เนื่องจากครบวาระการดำรงตำแหน่ง 3 ปี ไปเมื่อวันที่ 16 ธ.ค.65 แล้ว ดังนั้นจะต้องเร่งแต่งตั้งบอร์ดขสมก.ก่อน จึงจะสามารถเดินหน้าพิจารณาขับเคลื่อนนโยบายต่างๆ ได้ ซึ่งตามขั้นตอนการมีกระบวนการสรรหาและผ่านความเห็นชอบจากกระทรวงคลังด้วย คาดว่าจะใช้เวลาแต่งตั้งบอร์ดชุดใหม่ ประมาณ 60 วัน หลังจากได้บอร์ดเรียบร้อยแล้ว จะเร่งรัดเรื่องการจัดหารถโดยสาร EV ก่อน โดยคาดว่ากระบวนการจัดหารถจะใช้เวลาอย่างน้อยประมาณ 4 เดือน อย่างไรก็ตามจะพยายามให้ได้รถโดยเร็วที่สุด

“ขสมก.ต้องมีรถใหม่บริการเป็นรถไฟฟ้าปรับอากาศ ที่เพิ่มความสะดวกสบาย ดูแลความสะอาด ปลอดภัย และราคาที่ทุกคนเข้าถึงบริการของขสมก.ได้ ขณะเดียวกันต้องกลับมาดูการพัฒนาองค์กรที่ต้องใช้เทคโนโลยีใหม่ๆเข้ามา การใช้น้ำมันเชื้อเพลิงลดปัญหาควันดำ เพื่อไม่ให้ก่อฝุ่น PM 2.5 สิ่งสำคัญคือ ต้องดูแลขวัญกำลังใจพนักงานในองค์กรด้วย และพยายามแก้ปัญหานี้สินให้ขสมก.ให้ได้ในยุครัฐบาลนายกฯ เศรษฐา ทวีสิน เพราะเป็นสิ่งที่ท้ายการทำงาน ความสามารถและความร่วมมือของทุกคนที่อยากทำงานในหน่วยงานที่มีกำไรและสร้างความมั่นคงในชีวิต”นางมนพรกล่าว


นายกิตติกานต์ จอมดวง จารุวรพลกุล ผอ.ขสมก. กล่าวว่า ตามแผนขับเคลื่อนขสมก.(ปี 66-70) จัดทำเสร็จแล้ว โดยจะนำเสนอบอร์ดขสมก.เห็นชอบ และนำเสนอรมช.คมนาคมต่อไปตามขั้นตอน ต้องการรถใหม่จำนวน 2,500 คัน ที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม โดยขณะนี้มีรถโดยสารใช้ก๊าซ NGV เป็นเชื้อเพลิงแล้ว 489 คัน เหลือจัดหาเป็นรถ EV อีกจำนวน 2,013 คัน โดยเฟสแรก จำนวน 224 คัน เฟสที่ 2 จำนวน 1,020 คันเฟสที่ 3 จำนวน 769คัน โดยจะจัดเฟสต่อไปดูตามความเหมาะสม

 โดยเฟสแรก จะเป็นการจ้างเหมาบริการเดินรถโดยสารไฟฟ้า (EV) จำนวน 224 คัน วงเงินประมาณ 967 ล้านบาท ที่ผ่านมา ผ่านความเห็นชอบจากบอร์ด ขสมก.แล้ว จะเป็นการเช่าระยะสั้น 2-3 ปี แต่ในระหว่างรอบอร์ดชุดใหม่ ขสมก.จะทบทวนข้อมูลโครงการให้เป็นปัจจุบันเพื่อให้รอบคอบที่สุด และนำเสนอบอร์ดชุดใหม่ อีกครั้ง


ปัจจุบัน ขสมก. มีรถโดยสารประจำทาง จำนวน 2,885 คัน แบ่งเป็น รถโดยสารธรรมดา จำนวน 1,520 คัน และรถโดยสารปรับอากาศ จำนวน 1,365 คัน วิ่งให้บริการประชาชนในเส้นทางเดินรถ จำนวน 107 เส้นทาง มีผู้ใช้บริการวันธรรมดา เฉลี่ย 7-8 แสนคน/วัน วันเสาร์-อาทิตย์เฉลี่ย 5 แสนคน / วัน มีพนักงาน 12,000 คน (เป็นพนักงานขับรถ 4,000 คน พนักงานเก็บค่าโดยสาร 4,000 คน พนักงาน สำนักงานและซ่อมบำรุง 4,000 คน) มีภาระหนี้สิน 140,777 ล้านบาท มีภารค่าเหมาซ่อมประมาณ 1,600 ล้านบาท-2,000 ล้านบาท/ปี โดยขสมก.ต้องกู้เงินเสริมสภาพคล่อง 8,000 ล้านบาท/ปี และได้รับอุดหนุน ค่า PSO กลุ่มรถร้อน ประมาณ 2,000 ล้านบาท/ปี ผลประกอบการ มีรายได้ ประมาณ 8,000 ล้านบาท ค่าใช้จ่าย 12,000 ล้านบาท (ส่วนใหญ่เป็นค่าเชื้อเพลิงและค่าเหมาซ่อม) ขาดทุนประมาณ 4,000 ล้านบาท/ปี

“ที่ผ่านมาพนักงานขับรถไม่พอ ซึ่งได้เปิดรับเข้ามาแล้ว ส่วนพนักงานเก็บค่าโดยสาร หากมีรถใหม่ EV เข้ามา และมีการปรับระบบการจัดเก็บาโดยสารอัตโนมัติ พนักงานเก็บค่าโดยสารอาจไม่จำเป็น แต่ ขณะนี้ รมช.คมนาคม ไม่มีนโยบายเลิกจ้าง ดังนั้น ก็จะปรับความรู้ ความสามารถพนักงานไปทำหน้าที่อื่น ขณะที่ช่วงเปลี่ยนผ่าน พนักงานประจำรถก็ยังมีความจำเป็น เพื่อแนะนำผู้โดยสาร”


กำลังโหลดความคิดเห็น