xs
xsm
sm
md
lg

กสม.ชี้ปัญหา "แรงงานต่างด้าว" เข้าไม่ถึงบริการสุขภาพ เหตุไม่บังคับขายบัตรประกัน หนุน สธ.โอนกองทุนให้ สปสช.คุมแทน

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



กสม.เปิดปัญหา "แรงงานข้ามชาติ" เข้าไม่ถึงบริการสุขภาพ พบไม่บังคับซื้อบัตรประกันสุขภาพ ขณะที่แต่หน่วยงานไม่เชี่ยวชาญบริหารกองทุน บุคลากรน้อย พื้นที่ กทม.ต่างด้าวซื้อประกันเอกชน แต่ติดปัญหาต้องจ่ายเพิ่ม ไม่รักษาโรคร้าย สุดท้ายไปโป่งอยู่ศูนย์บริการสาธารณสุข แถมเบิกเงินไม่ได้ แนะถ่ายโอนงานให้ สปสช.คุมกองทุน รุก อสต.ส่งเสริมป้องกันโรค

เมื่อวันที่ 28 ก.ย. น.ส.สุภัทรา นาคะผิว กรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ (กสม.) แถลงข่าวกรณีการแก้ปัญหาการเข้าถึงสิทธิด้านสุขภาพของแรงงานข้ามชาติเชิงระบบ ว่า หลัง ครม.มีมติเห็นชอบวันที่ 27 ธ.ค. 2565 ตามมติสมัชชาสุขภาพเฉพาะประเด็น ว่าด้วยการเข้าถึงสิทธิด้านสุขภาพของกลุ่มแรงงานข้ามชาติ กสม. ได้จัดประชุมหารือแนวทางแก้ไขปัญหาเรื่องนี้ ร่วมกับหน่วยงานภาครัฐและภาคประชาสังคมที่เกี่ยวข้อง ระหว่าง มี.ค. - มิ.ย. 2566 และช่วง ส.ค. 2566 หารือร่วมกับผู้ว่าราชการ กทม. พบสถานการณ์ปัญหา คือ แม้กระทรวงสาธารณสุข (สธ.) จะมีกองทุนประกันสุขภาพคนต่างด้าวและแรงงานต่างด้าวในส่วนกลาง ขณะที่ส่วนภูมิภาคและ กทม. มีกองทุนฯ จังหวัด ครอบคลุมแรงงานต่างด้าวสัญชาติเมียนมา ลาว กัมพูชา และเวียดนาม และผู้ติดตามอายุไม่เกิน 18 ปี ผู้มีปัญหาสถานะและสิทธิที่รอพิสูจน์ แต่ปัจจุบันมีแรงงานข้ามชาติซื้อบัตรประกันสุขภาพจากกองเศรษฐกิจสุขภาพฯ กว่า 5 แสนคน ขณะที่บุคลากรของกองเศรษฐกิจฯ มีจำนวนจำกัด ไม่เพียงพอต่อการดูแล และภารกิจหลักยังไม่ใช่บริหารจัดการกองทุน จึงอาจขาดความชำนาญในการบริหารจัดการ ขณะที่การขายบัตรประกันสุขภาพเป็นเพียงการขอความร่วมมือ ไม่ได้เป็นมาตรการบังคับ

"การจัดให้มีการขายบัตรประกันสุขภาพให้แก่แรงงานข้ามชาติและคนต่างด้าวโดยสถานพยาบาลสังกัด สธ. และสถานพยาบาลรัฐนอกสังกัด สธ.ที่สมัครเข้าร่วมดำเนินการ จึงขึ้นอยู่กับความสมัครใจและนโยบายผู้บริหารของ รพ.แต่ละแห่ง อุปสรรคคือ รพ.ใดขายบัตรประกันสุขภาพได้น้อย มีโอกาสขาดทุนสูง นอกจากนี้ การส่งเบิกค่ารักษาบริการทางการแพทย์จาก รพ.ไปยังกองทุนฯ มีขั้นตอนยุ่งยาก ใช้เวลานานกว่าจะได้รับเงินค่ารักษาพยาบาล" น.ส.สุภัทรากล่าว


น.ส.สุภัทรากล่าวว่า สำหรับ กทม. มีแรงงานข้ามชาติขึ้นทะเบียนสูงสุด พบปัญหา คือ เมื่อกลุ่มนี้เจ็บป่วยเล็กน้อยมักจะไปใช้บริการที่ศูนย์บริการสาธารณสุขของ กทม. แต่ศูนย์ฯ ไม่สามารถเบิกค่าบริการได้ เนื่องจากแรงงานข้ามชาติหรือคนต่างด้าวไม่ได้ซื้อบัตรประกันสุขภาพจาก รพ.สังกัด กทม. ส่วนใหญ่ซื้อบัตรประกันสุขภาพกับ รพ.เอกชนซึ่งทำการตลาดกับกลุ่มแรงงานข้ามชาติ แต่เมื่อกลุ่มบุคคลดังกล่าวเข้าไปรับบริการกลับมีปัญหาติดขัดหลายอย่าง เช่น ต้องเสียค่าใช้จ่ายเพิ่ม ไม่รักษาโรคร้ายแรงและแนะนำให้ไปรับการรักษาที่ รพ.รัฐ ทำให้ภาระตกอยู่กับ รพ.ของรัฐ เป็นต้น ทั้งนี้ เพื่อเพิ่มการเข้าถึงสิทธิด้านสุขภาพของกลุ่มแรงงานข้ามชาติและคนต่างด้าว รวมถึงให้มีการบริหารจัดการกองทุนฯ อย่างเป็นเอกภาพและสามารถเบิกจ่ายได้อย่างมีประสิทธิภาพ กสม.จึงเห็นควรมีข้อเสนอแนะ ดังนี้

สธ.และกองเศรษฐกิจสุขภาพฯ ควรหารือแนวทางถ่ายโอนภารกิจบริหารจัดการกองทุนหลักประกันสุขภาพคนต่างด้าวฯ ไป สปสช. ซึ่งมีประสบการณ์และมีบุคลากรจำนวนมาก และให้ กทม.ขยายบริการผ่านศูนย์บริการสาธารณสุขที่มีอยู่แล้ว 69 แห่ง จัดบริการเชิงรุกครอบคลุมถึงส่งเสริมสุขภาพและป้องกันโรค ให้สอดคล้องกับชุดสิทธิประโยชน์และการจัดสรรงบประมาณของกองทุนหลักประกันสุขภาพที่มีอยู่ในพื้นที่ กทม. ประสานกับ สสส.พัฒนากลไกอาสาสมัครสาธารณสุขต่างด้าว (อสต.) สนับสนุนการจัดบริการเชิงรุกด้านส่งเสริมสุขภาพและป้องกันโรคในพื้นที่ กทม. แต่งตั้งคณะทำงานบูรณาการการบริหารจัดการและจัดระบบบริการสุขภาพของหน่วยงานต่างๆ เพื่อแก้ไขปัญหาให้กลุ่มแรงงานข้ามชาติในพื้นที่ กทม. เข้าถึงบริการสุขภาพได้อย่างทั่วถึงและมีคุณภาพมากขึ้นต่อไป


กำลังโหลดความคิดเห็น