การตลาด - เจาะลึกแรงงานเมียนมาในไทยกว่า 6.8 ล้านคน สร้างมูลค่าทางเศรษฐกิจถึง 1.2 ล้านล้านบาทต่อปี โอกาสทองแบรนด์ไทยโกยทรัพย์ โดยเฉพาะเครื่องใช้ไฟฟ้า หม้อหุงข้าวและพัดลม, ซิมการ์ด และการออมทอง เพราะชาวเมียนมาชูแบรนด์ไทยเป็นเบอร์1 ในใจอยู่แล้ว
ปัจจุบันจำนวนแรงงานข้ามชาติที่ลงทะเบียนทั้งหมด มีทั้งสิ้น 2,766,997 คน เป็นชาวเมียนมาถึง 67% หรือกว่า 1,853,046 คน แต่ในความเป็นจริงเชื่อว่าจะมีสูงถึง 6.8 ล้านคนเลยทีเดียว ซึ่งชาวเมียนมานิยมเข้ามาทำงานในไทยมากสุด ด้วยเพราะภูมิประเทศที่ติดกัน สภาพอากาศ การใช้ชีวิตใกล้เคียงกัน ไปมาสะดวก จึงอาจเป็นสาเหตุที่ทำให้ส่วนใหญ่เข้ามาแบบผิดกฏหมาย ส่วนประเทศอื่นๆ ที่นิยมไปทำงานอีก คือ มาเลเซีย เกาหลี สิงโปร์ และญี่ปุ่น เป็นต้น
อย่างไรก็ตาม การเข้ามาทำงานในไทย ส่งต่อสภาพชีวิตโดยเฉพาะด้านการเงินของชาวเมียนมาที่เพิ่มขึ้น 3-5 เท่าตัว/ เดือน จึงทำให้ตัวเลขแรงงานเมียนมาขยับเพิ่มสูงขึ้นเรื่อยๆ จนกลายเป็นขุมทรัพย์เทียบเท่ากลุ่มเจน Z ที่แบรนด์ไทยไม่ควรมองข้าม เพราะแบรนด์ไทยยืนหนึ่งอยู่ในใจชาวเมียนมาอยู่ก่อนแล้ว
แม้จะรู้ว่าแรงงานเมียนมาเป็นขุมทรัพย์ที่ไม่ควรมองข้าม เราจึงต้องเข้าไปอินไซต์ถึงพฤติกรรมแรงงานเมียนมาเพื่อให้สามารถกำหนดแผน ปักหมุด ดูดเม็ดเงินเข้ากระเป๋าให้ได้เต็มเม็ดเต็มหน่วยที่สุด ซึ่งทาง MI GROUP พร้อมแชร์ข้อมูลและพาไปส่องกระเป๋าเงินแรงงานเมียนที่ถูกจัดสรรการใช้เงินว่าจะเป็นอย่างไร
“หนึ่งในแนวทางการสร้างการเติบโตของ MI GROUP คือการทำการตลาดต่างประเทศในเชิงรุก ซึ่งปัจจุบันมีสายธุรกิจ "MI BRIDGE" ทำหน้าที่ดังกล่าว โดยมุ่งสนับสนุนการดำเนินงานด้านสื่อสารการตลาดของภาคธุรกิจในระดับสากล มุ่งตอบโจทย์ความต้องการของลูกค้าแบรนด์ไทยที่ต้องการทำการตลาดต่างประเทศ รวมถึงรองรับการขยายตลาดจากต่างประเทศ ทั้งกลุ่ม Local Brands และ International Brands ที่ต้องการขยายการตลาดเข้ามาในประเทศไทย และด้วยแนวคิดของการขับเคลื่อนกลยุทธ์นี้ จึงทำให้ MI BRIDGE ร่วมมือกับ "MI Learn Lab" ซึ่งเป็นหน่วยงานที่นำเสนอข้อมูลเชิง Marketing Insights ที่ซึ่งได้จากการประยุกต์ใช้ Marketing Tools ที่หลากหลายและทันสมัย นำมาสนับสนุนงานสื่อสารการตลาดของลูกค้า พันธมิตร และภาคธุรกิจต่างๆ ให้ดำเนินธุรกิจได้อย่างแข็งแกร่งยิ่งขึ้น“ ภวัต เรืองเดชวรชัย ประธานกรรมการ และประธานเจ้าหน้าที่บริหาร กลุ่มบริษัท มีเดีย อินเทลลิเจนซ์ จํากัด หรือ MI GROUP เกริ่นนำ
โดยในโอกาสนี้ MI BRIDGE และ MI Learn Lab ได้นำเสนอวิจัยล่าสุดเจาะลึกข้อมูลกลุ่มแรงงานชาวเมียนมา ในหัวข้อ “ผ่าขุมทรัพย์แรงงานชาวเมียนมาในประเทศไทย” ที่คาดการณ์ว่าจำนวนแรงงานเมียนมามีจำนวนสูงถึง 6.8 ล้านคน ซึ่งเป็นจำนวนที่ใกล้เคียงกับ Gen Z ของประชากรไทย สะท้อนโอกาสของภาคธุรกิจที่จะสามารถนำข้อมูลมาใช้พัฒนาสินค้า-บริการที่สอดรับกับความต้องการและพฤติกรรมการจับจ่ายของกลุ่มแรงงานนี้ ที่มีมูลค่าทางเศรษฐกิจได้สูงถึง 828,000 ล้านบาท – 1,242,000 ล้านบาทต่อปี
ทั้งนี้ MI GROUP มุ่งมั่นที่จะเคียงข้างแบรนด์ลูกค้าให้ประสบความสำเร็จ พร้อมสนับสนุนลูกค้าให้เติบโตในระดับสากล เรามองหากลุ่มเป้าหมายใหม่ๆ และโอกาสธุรกิจต่างๆ ที่เป็นไปได้อยู่เสมอ เพื่อสนับสนุนให้ภาคธุรกิจเติบโตและบรรลุเป้าหมาย โดยหนึ่งในแนวทางการสร้างการเติบโตคือการทำการตลาดต่างประเทศในเชิงรุก ซึ่งปัจจุบันมีสายธุรกิจ "MI BRIDGE" ทำหน้าที่ดังกล่าว มุ่งสนับสนุนการดำเนินงานด้านสื่อสารการตลาดของภาคธุรกิจในระดับสากล ตอบโจทย์ความต้องการของลูกค้าแบรนด์ไทยที่ต้องการทำการตลาดต่างประเทศ
นายวิชิต คุณคงคาพันธ์ Head of International Business Development บริษัท มีเดีย อินเทลลิเจนซ์ จํากัด หรือ MI GROUP กล่าวว่า จากผลวิจัย ในหัวข้อ “ผ่าขุมทรัพย์แรงงานชาวเมียนมาในประเทศไทย” เป็นการสำรวจผ่านแบบสอบถามทางออนไลน์ จากกลุ่มตัวอย่างแรงงานเมียนมาในเขตกทม. 212 คน และสัมภาษณ์เชิงลึก 50 คน เพื่อให้เห็นถึงอินไซด์สู่การวางแผนกลยุทธ์การตลาดได้แม่นยำมากขึ้น
โดยพบว่า สาเหตุที่แรงงานเมียนมาเข้ามาทำงานในไทย มาจาก ปัจจัยด้านการเงินเป็นหลัก ที่เฉลี่ยแล้วรายได้ตอนอยู่เมียนมาอยู่ที่ 1,000-5,000 บาท/เดือน และเป็นรายได้ที่ได้เฉพาะช่วงเก็บเกี่ยวเท่านั้น จากนั้นก็พอมีบ้างจากการรับจ้างทั่วไป จึงสนใจเข้ามาใช้แรงงานในไทย ซึ่งจะมีรายได้เพิ่มขึ้นเป็น 10,000-15,000 บาท/เดือน หรือเพิ่มขึ้นเป็น 3-5 เท่าตัว ดังนั้นการเข้ามาทำงานในไทยหลักๆ คือต้องการหาเงินเพื่อคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น โดยส่วนใหญ่จะวางแผนจะอยู่ที่ไทยราว 3-5 ปี แล้วจึงกลับประเทศ
“ในการเจาะลึกข้อมูลครั้งนี้ MI Learn Lab ได้ทำวิจัยทั้งในเชิงคุณภาพ และเชิงปริมาณ เพื่อศึกษาข้อมูลของกลุ่มแรงงานเมียนมาในประเทศไทยอาจถูกมองข้ามและยังไม่ได้รับการสำรวจในตลาด ซึ่งผลักดันให้ได้วิจัยน่าสนใจฉบับนี้ขึ้นมา โดยพบว่าแรงงานชาวเมียนมากว่า 88% ปรารถนาที่จะมีชีวิตที่ดีขึ้น มุ่งที่การหารายได้เป็นสำคัญ และการเข้ามาทำงานในประเทศไทยสามารถช่วยสร้างรายได้ถึง 10,000 - 15,000 บาทต่อเดือน คิดเป็น 3 - 5 เท่าของเงินเดือนตอนที่อยู่ประเทศเมียนมา”
ทั้งนี้กลุ่มแรงงานที่วางเป้าหมายในการหารายได้ชัดเจนส่วนมากกำหนดระยะเวลาทำงานในประเทศไทย 3 – 5 ปี เพื่อนำเงินกลับไปตั้งตัวและกลับไปใช้ชีวิตที่ประเทศเมียนมา ในขณะที่กว่าครึ่งของกลุ่มสำรวจไม่ได้กำหนดระยะเวลา แต่มองที่เป้าหมายจำนวนเงินที่ต้องการเก็บให้ครบเป็นสำคัญ และด้วยแรงผลักดันในการเก็บเงินนี้ แรงงานชาวเมียนมาจึงต้องทำงานล่วงเวลามากกว่ากว่า 10 ชั่วโมงต่อวัน และอย่างน้อย 6 วันต่อสัปดาห์ ส่งผลให้กลุ่มแรงงานดังกล่าวนี้มีเวลาน้อย ทำให้พฤติกรรมการใช้เวลาว่างของกลุ่มแรงงานไปที่กิจกรรม มี 2 ประเภทเมื่อพวกเขามีวันหยุด คือ จับจ่ายซื้อของและเล่นอินเทอร์เน็ต” นายวิชิต กล่าว
ส่วนงานที่เข้ามาทำในไทย อันดับ 1 คือ พนักงานโรงงาน 39% 2.ก่อสร้าง 18% 3.พนักงานขาย 15% 4.เกษตรกรรม 11% และ5.รับจ้างทั่วไป 9%
ทั้งนี้แรงงานเมียนมามีแผนการใช้เงินจากรายได้ แบ่งออกเป็น 2 ส่วนหลัก 1.ค่าใช้จ่ายต่างๆ 56% (ค่าใช้จ่ายในชีวิตประจำวัน 37%, ค่าที่อยู่อาศัย 16%,ค่าโทรศัพท์ 3%) และ2.เงินเก็บ 44% (ส่งกลับบ้าน 28%, ออมในไทยหรือเก็บไว้กับตัว 16% มีทั้งออมเงินและซื้อทอง)
“จากรายงาน พบว่าเพื่อเก็บเงินให้ได้ตามเป้าหมาย แรงงานชาวเมียนมาออมเงินได้ถึง 44% หรือเกือบครึ่งของรายรับ โดยภายใต้สัดส่วนการออมเงินดังกล่าวนั้น เป็นเงินที่ส่งกลับบ้านประมาณ 2 ใน 3 เพื่อให้ครอบครัวที่เมียนมามีเงินใช้และมีเงินออม ซึ่งปัจจุบันนิยมให้นายหน้าผู้ดำเนินการโอนเงินให้ และเหลือเงินเก็บที่ตัวเองเพียง 1 ใน 3 นอกจากนี้ กลุ่มตัวอย่างมีความสามารถในการเข้าถึง Mobile Banking ชี้ให้เห็นโอกาสทางภาคธุรกิจการเงินที่สามารถพัฒนาหรือต่อยอดการบริการเพื่อรองรับกลุ่มที่มีโอกาสเป็นลูกค้านี้ได้”
ในแง่ของพฤติกรรมการใช้ชีวิตในไทย พบว่า เนื่องจากต้องการหาเงินให้ได้มากสุด จึงพร้อมที่จะทำงานล่วงเวลา หรือต่อวันใช้เวลาทำงานร่วม 10 ชม. และทำงาน 6 วัน/สัปดาห์ ใช้เวลาติดต่อกลับบ้านวันละ 2-3 ชม. วันหยุดจะเน้นเดินตลาด จับจ่ายซื้อของ ทำกิจกรรมของกลุ่มชุมชนเมียนมาที่จัดขึ้น เช่น คอนเสิร์ตศิลปินพม่าที่มาจัดในไทย และช้อปปิ้งออนไลน์ ผ่านทางลาซาด้ามากที่สุด และส่วนใหญ่เป็นการซื้อเสื้อผ้า
ส่วนพฤติกรรมการใช้เงินในไทยนั้น จะแบ่งออกเป็น 3 ช่วงสำคัญ คือ 1. ช่วงเริ่มต้น คือช่วงเข้ามาหางานทำในไทยใหม่ๆ จะมองหาซิมการ์ดเป็นอันดับแรก ตามด้วยมองหาที่อยู่ เครื่องแต่งกาย ของใช้ 2.ช่วงตั้งตัว จะมองหาเครื่องใช้ไฟฟ้าโดยเฉพาะหม้อหุงข้าวและพัดลม เสื้อผ้า สกินแคร์ และโทรศัพท์สมาร์ทโฟนราคาไม่เกิน 4,000 -13,000 บาท 3.ช่วงตั้งใจ เป็นช่วงติดต่อครอบครัว ส่งเงินกลับบ้าน ซื้อยา อาหารเสริม เครื่องใช้ไฟฟ้า กลับไปเป็นของฝาก
“แรงงานชาวเมียนมาที่อยู่ในประเทศไทย สามารถแบ่งช่วงชีวิตออกได้เป็น 3 กลุ่มหลัก ภายใต้กรอบการวิจัย ได้แก่ช่วง ช่วงตั้งหลักที่เพิ่งเริ่มต้นชีวิตในประเทศไทย ช่วงตั้งตัวที่ทำงานและใช้ชีวิตได้ระยะหนึ่งแล้ว และกลุ่มสุดท้าย ช่วงตั้งใจที่เน้นการติดต่อครอบครัวและเตรียมตัวกลับประเทศเมียนมา โดยในแต่ละกลุ่มนี้จะมีความต้องการใช้สินค้าและบริการที่แตกต่างกันไป ให้ความสนใจกับประเภทคอนเทนต์ที่ไม่เหมือนกัน รวมถึงมีรายละเอียดของ Media Touchpoint ที่แบรนด์ต้องเลือกใช้อย่างเหมาะสม จากรายงานครั้งนี้ MI BRIDGE หวังว่าข้อมูลในงานวิจัยจะสนับสนุนให้นักการตลาด
นักกลยุทธ์ รวมถึงแบรนด์ต่างๆ สามารถพัฒนาสินค้าและบริการ รวมถึงสื่อสารไปยังกลุ่มเป้าหมายได้อย่างตรงจุดด้วย Business Insights ที่ครอบคลุม”
อย่างไรก็ตามพบด้วยว่า โทรศัพท์และอินเทอร์เน็ตมีความสำคัญของแรงงานเมียนมาอย่างมาก ค่าใช้จ่าย 3%ในส่วนนี้หรือราวเดือนละ 200 บาท จะใช้เพื่อเล่นเน็ต 100%, 97% ดูคอนเท็นต์หนัง/ละคร, 87% ดูข่าว และ 74% ช้อปปิ้งออนไลน์ ซึ่งยังพบด้วยว่า เฟซบุคเป็นโซเชียลมีเดียอันดับ 1 คิดเป็น 98% ที่แรงงานเมียนมาใช้ติดต่อสื่อสาร รวมถึงเป็นช่องทางหลักในการใช้ชีวิตในไทย พูดคุยกับครอบครัวที่เมียนมา รองลงมา คือ ยูทูป 54% ติ๊กต็อก 40% Messenger 36% Line 26% และ เทเลแกม 21%
จากข้อมูลอินไซต์ที่ได้มา ทำให้เราสามารถวางแผนกลยุทธ์ทางการตลาดสำหรับเจาะกลุ่มแรงงานเมียนมาในไทยได้แม่นยำและเข้าใจมากขึ้น ซึ่งจะเห็นได้ว่ากลุ่มเทเลคอม ธนาคาร สินค้าอุปโภคบริโภค การซื้อขายทอง และเครื่องใช้ไฟฟ้า ถือเป็นสินค้าอันดับต้นๆ ที่ชาวเมียนมาชื่นชอบ เพราะสำหรับชาวเมียนมาแล้ว สินค้าที่ขึ้นชื่อว่าเป็นแบรนด์ไทยหรือผลิตในไทย จะมองเป็นแบรนด์ที่มีคุณภาพน่าเชื่อถือเป็นอันดับ 1 ในเมียนมา หรือถ้าเป็นคนไทยก็เปรียบเหมือนแบรนด์ญี่ปุ่นนั่นเอง
สำคัญที่สุดของการเจาะตลาดแรงงานเมียนมา ต้องเป็นการตลาดที่สามารถ จับต้องได้ เข้าถึงได้ สื่อสารได้ และเชื่อถือได้ นั่นเอง ขณะที่คู่แข่งสำคัญ คือ นักลงทุนเมียนมาที่เข้ามาทำธุรกิจในไทย ที่มุ่งเจาะตลาดกลุ่มชาวเมียนในไทยโดยเฉพาะ ความได้เปรียบจากการที่เป็นชาวเมียนมาเหมือนกันจะยิ่งทำให้การใช้เงินของชาวเมียนมาไปตกอยู่ในกลุ่มนี้มากขึ้น แบรนด์ไทยจึงไม่ควรมองข้ามและควรมีแผนรองรับรวมถึงวางกลยุทธ์ให้ทัชใจ.