บอร์ด รฟท.อนุมัติลดค่าโดยสารรถไฟสายสีแดงเหลือ 20 บาทตลอดสาย ชง ครม.ขออุดหนุนปีแรก 80 ล้านบาท เดินหน้าทำระบบหลังบ้านร่วมกรุงไทย เริ่มใช้ปีใหม่ 67 เร่งหารือ ‘สุริยะ’ ผ่าทางตันสถานีรถไฟความเร็วสูงอยุธยา
นายนิรุฒ มณีพันธ์ ผู้ว่าการการรถไฟแห่งประเทศไทย (รฟท.) เปิดเผยว่า ที่ประชุมคณะกรรมการ (บอร์ด) รฟท. เมื่อวันที่ 22 กันยายน 2566 มีมติดำเนินการตามนโยบายค่าโดยสารรถไฟฟ้า 20 บาทตลอดสายของรัฐบาล ในโครงการรถไฟชานเมืองสายสีแดง ช่วงตลิ่งชัน-บางซื่อ-รังสิต ระยะทาง 41 กม. ซึ่งปัจจุบันจัดเก็บอัตราค่าโดยสาร เริ่มต้น 12 บาท สูงสุด 42 บาท โดยขอให้รัฐอุดหนุนเพื่อชดเชยรายได้ที่หายไปประมาณ 80 ล้านบาท/ปี ซึ่งจะดำเนินการแบบปีต่อปี คาดว่าจะมีผลในช่วงปีใหม่ 2567
หลังจากนี้ รฟท.จะเสนอคณะรัฐมนตรี (ครม.) อนุมัติเนื่องจากจะต้องทำตามขั้นตอนตามพระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) วินัยการเงินและการคลังของรัฐ 2561 มาตรา 27 ที่ว่า “การดำเนินกิจกรรม มาตรการ หรือโครงการที่ก่อให้เกิดภาระต่องบประมาณ หรือภาระทางการคลังในอนาคตตามที่คณะกรรมการกำหนด ให้หน่วยงานของรัฐซึ่งเป็นผู้รับผิดชอบ การดำเนินการนั้นจัดทำแผนบริหารจัดการกิจกรรม มาตรการ หรือโครงการ ประมาณการรายจ่าย แหล่งเงินที่ใช้ตลอดระยะเวลาดำเนินการ และประโยชนที่จะได้รับ โดยต้องเสนอพร้อมกับการขออนุมัติกิจกรรม มาตรการ หรือโครงการต่อคณะรัฐมนตรี และในกรณีที่การดำเนินการก่อให้เกิดการสูญเสียรายได้ของรัฐหรือของหน่วยงานของรัฐ ให้จัดทำประมาณการการสูญเสียรายได้และประโยชน์ที่จะได้รับ เสนอในการขออนุมัติต่อคณะรัฐมนตรีด้วย
ในการพิจารณาอนุมัติกิจกรรม มาตรการ หรือโครงการตามวรรคหนึ่ง ให้คณะรัฐมนตรีพิจารณา ความจำเป็นเร่งด่วน ประโยชน์ที่ได้รับ และภาระทางการคลังหรือการสูญเสียรายได้ที่จะเกิดขึ้นในอนาคตด้วย ให้หน่วยงานของรัฐซึ่งเป็นผู้รับผิดชอบกิจกรรม มาตรการ หรือโครงการ จัดทำรายงาน เปรียบเทียบประโยชน์ที่ได้รับกับการสูญเสียรายได้ที่เกิดขึ้นจริงกับประมาณการที่ได้จัดทำตามวรรคหนึ่ง เสนอคณะรัฐมนตรีเพื่อทราบเป็นประจำทุกสิ้นปงบประมาณ จนกว่าการดำเนินการดังกล่าวจะแล้วเสร็จ”
ผู้ว่าฯ รฟท.กล่าวว่า จะต้องกำหนดแผน งบประมาณใช้จ่าย ระยะเวลาดำเนินการ และประโยชน์ที่จะได้รับ ซึ่งการปรับค่าโดยสารไม่ได้ยากอะไร แต่ต้องแสดงให้เห็นว่ากระทบค่าใช้จ่ายอย่างไร เช่น จากเดิม เคยรับ 100 บาท เหลือ 20 บาท จะเหลือเท่าไหร่ ซึ่งปัจจุบันผู้โดยสารมีจำนวนน้อย ประมาณ 20,000 คน-เที่ยว/วัน ขณะที่ผลการศึกษาที่ประเมินไว้ที่ 80,000 เที่ยวคน/วัน โดยคาดว่าจะมีประชาชนใช้งานมากขึ้น 5-20% ต่อปี
ทั้งนี้ คาดว่า รฟท.จะเสนอประเด็นนี้ไปที่กระทรวงคมนาคมได้ในสัปดาห์หน้า เพื่อขอ ครม.อนุมัติตามขั้นตอนต่อไป ซึ่งหลังจาก ครม.อนุมัติแล้วจะต้องใช้เวลาปรับปรุงระบบหลังบ้านร่วมธนาคารกรุงไทยประมาณ 2-3 เดือน โดยคาดว่าจะสามารถดำเนินการจัดเก็บได้ช่วงปีใหม่ 2567
@เร่งหารือ ‘สุริยะ’ ผ่าทางตัน ‘สถานีอยุธยา’
ส่วนกรณีการดำเนินโครงการรถไฟความเร็วสูงไทย-จีน ช่วงกรุงเทพฯ-นครราชสีมา ระยะทาง 253 กม. วงเงิน 179,452 ล้านบาท สถานีอยุธยา ซึ่งอยู่ในเนื้องานสัญญาที่ 4-5 งานโยธา ช่วงบ้านโพ-พระแก้ว ระยะทาง 13.3 กม. มี บจ.บุญชัยพาณิชย์ (1979) จำกัด (เครือ บมจ.ซีวิลเอนจิเนียริ่ง) เป็นผู้ได้รับการคัดเลือกด้วยการเสนอราคาต่ำสุดที่ 10,325 ล้านบาท ต่ำกว่าราคากลางที่ 11,801 ล้านบาทนั้น ผู้ว่าฯ รฟท.ระบุว่า ล่าสุดสำนักงานอัยการสูงสุดได้ส่งร่างสัญญากลับมาที่ รฟท.แล้ว จากนี้จะนำประเด็นหารือกับนายสุริยะ จึงรุ่งเรืองกิจ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม ว่าจะให้ดำเนินการอย่างไร
โดยขณะนี้ รฟท.ยืนยันว่าจะก่อสร้างบนแนวเส้นทางเดิมที่วางแผนเอาไว้ เพราะรายงานวิเคราะห์ผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อม (EIA) ก็ผ่านการพิจารณามาพอสมควรแล้ว และอีกทั้งอยู่ห่างบริเวณที่บอกว่าเป็นพื้นที่ที่เป็นแหล่งมรดกโลก (World Heritage Site) เกือบ 5 กม. เพียงแต่ประเด็นที่จะนำหารือกับนายสุริยะคือ การก่อสร้างสถานีอยุธยาว่าจะดำเนินการหรือไม่ หากรัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคมไม่เห็นด้วยที่จะให้สร้าง รฟท.ก็หารือกับเอกชนแล้วว่าจะทำเฉพาะทางวิ่งวิ่งผ่าน จ.พระนครศรีอยุธยาไปก่อน
ส่วนจะรอให้รายงานผลกระทบด้านทรัพย์สินทางวัฒนธรรม (Heritage Impact Assessment) ของแหล่งมรดกโลกนครประวัติศาสตร์พระนครศรีอยุธยา ที่มีรายงานว่าจะเสร็จสิ้นในเร็วๆ นี้นั้น นายนิรุฒระบุว่า คงไม่ต้องรอ