ส.ส.ก้าวไกล โพสต์เฟซบุ๊ก ยกศรีเทพจะได้เป็นมรดกโลก แต่อยุธยากำลังจะถูกถอด เพราะรถไฟความเร็วสูงผ่ากลางเมือง โดยทัวร์ลงเละคาบ้าน ชาวเน็ตถามเอาข้อมูลอยุธยาจะถูกถอดจากมรดกโลกมาจากไหน ใครกันแน่ที่ขัดขวางความเจริญ ด้านเพจดังในพื้นที่โต้แรงว่า “เสือก”
ถือเป็นอีกหนึ่งดราม่าในโลกโซเชียลที่โดนทัวร์ลงหนักจนเละคาบ้านต่อกรณีที่ “นาย เชตวัน เตือประโคน” ส.ส.พรรคก้าวไกล จ.ปทุมธานี เขต 6 (คูคต ลำสามแก้ว ลาดสวาย) ได้ออกมาโพสต์เฟซบุ๊ก อิงกระแสที่คนไทยส่วนใหญ่ลุ้นเมืองโบราณศรีเทพให้เป็นมรดกโลกแห่งใหม่ของเมืองไทย กับกรณีการสร้างสถานีรถไฟความเร็วสูงสถานีอยุธยา
โดย ส.ส.ก้าวไกลคนดังกล่าว ได้โพสต์เฟซบุ๊กบัญชีรายชื่อ เชตวัน เตือประโคน - Chetawan Thuaprakhon ว่า
ประชาชนคนไทยต่างลุ้นกันกรณี “ศรีเทพ” จะได้ขึ้นทะเบียนมรดกโลก แต่ “อยุธยา” ที่เป็นอยู่แล้ว กำลังจะถูก ”ถอด”เพราะรถไฟความเร็วสูงผ่ากลางเมือง
หลังข้อความดังกล่าวถูกเผยแพร่ออกไป ได้มีชาวเน็ตเข้ามาแสดงความเห็นกันเป็นจำนวนมาก ซึ่งส่วนใหญ่ไม่เห็นด้วยความโพสต์ดังกล่าว อาทิ
“คนที่บอกตัวเองหัวก้าวหน้า มาค้านเรื่องไม่เป็นเรื่อง กลับกลายเป็นฝั่งอนุรักษ์นิยม ที่เขาเชียร์ให้สร้าง เพราะเขาเห็นแก่ประโยชน์ของคนส่วนใหญ่ สรุปพวกไหนขวางความเจริญ???”
“ถ่วงความเจริญ แล้วบอกหัวก้าวหน้า”
“ขอแหล่งข่าวที่ว่า Unesco จะถอดอยุธยา เพราะรถไฟความเร็วสูงหน่อยครับ”
“ห่างจากเกาะเมืองมากนะครับ ถ้าจะถอดอาจจะเพราะบริบทอื่นเช่น อาคารสูงบังโบราณสถาน ร้านค้าผู้ประกอบการที่รุกล้ำ ไม่ใช่รถไฟความเร็วสูง แน่นอนครับท่าน ฝากท่าน สส.ดูแลคนปทุม และฝากคนปทุมดูแล สส.”
“ก่อนมีความเห็นควรมีความรู้ มรดกโลก อยู่ร่วมกับสถานีรถไฟความเร็วสูงได้”
ขณะที่เพจ ASEAN “มอง” ไทย ได้ออกมาโพสต์ให้ข้อเท็จจริง ว่า
...ปกติไม่ยุ่งเรื่องการเมืองนะครับ แต่เห็นโพสต์แล้วขอหน่อย ผมเข้าใจว่าคุณไม่ได้ศึกษาเรื่องพวกนี้ตั้งแต่แรก เรื่อง UNESCO ผมตามข่าวและอัพเดทตลอด เพราะเป็นเรื่องที่ผมสนใจเป็นพิเศษ ยังไม่เคยได้ยินข่าวในหัวข้ออยุธยาจะถูกถอดถอน ไม่มีในลิส ไม่มีในเปเปอร์ World Heritage site ถ้ามีข่าวทาง UNESCO จะเป็นฝ่ายแจ้งมาก่อน เช่น โบราณสถานในยูเครนที่โดนเตือนจนขึ้นสีแดง 2 แห่ง (1.The iconic St. Sophia Cathedral in the capital, Kyiv. 2.The medieval center of the western city of Lviv.) เมื่อวันที่ 16 กันยายน 2023 ที่ผ่านมา
อ้างอิง : https://www.voanews.com/.../unesco-puts-2.../7270959.html
นอกจากนี้ก็คงเป็นคนไทยปั่นกันเองจนเป็นกระแส เพื่อเอามาไว้เป็นข้ออ้าง ดีเบตคัดค้านการสร้างรถไฟความเร็วสูงของคนกลุ่มหนึ่ง ประเด็นแบบก่อสร้างสถานีรถไฟ UNESCO ก็เคยแนะนำไทยมาแล้วว่าให้ใช้แบบแรก เพราะแบบอื่นใหญ่เกินไป ไม่เห็นจะมีปัญหาอะไรนี่ครับ หรือมันมีดราม่าแค่คำว่าเมืองเก่าอโยธยา แต่ผมก็เห็นคนค้านบางคนชอบพูดว่าไทยแม้ไม่มีอยู่จริง ทุกวันนี้ผมก็ยังงงว่าตกลงเค้าต้องการอะไร แล้วพอผมไปเถียงคนค้านก็หาว่าผมชังชาติอีก แต่เพจก็ไม่เคยทำเรื่องพวกนั้น
ปล. คุณย่าผมคนอยุธยา ผมถามญาติแล้วทุกคนก็ปกติ คนอยุธยาส่วนใหญ่อยากให้สร้าง แต่อาจจะมีปัญหาเรื่องสถานที่คับแคบหรือแออัดเกินไป เรื่องศาลหลวงพ่อคอหัก (ที่เคยมีประเด็น) แต่กรมศิลป์เคยชี้แจงแล้วว่าของใหม่สามารถย้ายขยับออกไปได้ ส่วนทางรถไฟก็สร้างตามแนวเส้นทางเดิม ปัญหาที่ควรแก้ไขตอนนี้ถ้าให้แนะนำ ไฟส่องสว่าง ปัญหาขยะ การจราจร สายไฟสายสื่อสารลงดิน ทำด่วน ให้กรมศิลป์เข้ามาดูวัดวิหารขาวที่ใกล้ทางรถไฟบ้าง ประเด็นมรดกโลกเบาได้เบา ปล่อยให้คนที่เขาอยู่ในวงการนี้จัดการดีกว่า
พิมาย พนมรุ้ง ไม่ได้เป็นมรดกโลกแต่คนเที่ยวเยอะมากครับ นครวัด-นครธม แกะสลักหินเพิ่ม ใช้ปูนซีเมนต์มาโบกยัด ก็ยังไม่หลุดจากมรดกโลกครับ...
ด้านเพจ ที่นี่กรุงเก่า ได้ออกมาโพสต์ถึงกรณีดังกล่าวด้วยข้อความที่ดุดันว่า
ขอพูดหยาบคาย แทนคนในจังหวัดอยุธยา
ได้ไหมขอรับ.. ว่า เสือก!!
ก่อนที่เพจดังกล่าวจะออกมาขอโทศที่ใช้ถ้อยคำรุนแรงในภายหลัง
สำหรับปัญหาความคืบหน้าก่อสร้างโครงการรถไฟความเร็วสูงบริเวณสถานีอยุธยา นายนิรุฒ มณีพันธ์ ผู้ว่าการรถไฟแห่งประเทศไทย (รฟท.) ได้เคยออกมาให้ข้อมูลกับสื่อมวลชน (สำนักข่าวอิศรา) เมื่อไม่นานมานี้ ว่า ขณะนี้อยู่ระหว่างรออัยการสูงสุดตอบกลับร่างสัญญาก่อนลงนามสัญญา ถ้าหากไม่สามารถตกลงร่วมกับกรมศิลปกรได้ รฟท.จะไม่ก่อสร้างสถานีอยุธยา แต่จะก่อสร้างทางวิ่งไปก่อน และจะไม่ย้ายตำแหน่งสถานีไปบริเวณ ต.บ้านม้าหรือบริเวณใกล้เคียง เนื่องจากพื้นที่ส่วนใหญ่เป็นทุ่งนาค่อนข้างแคบ ไม่เหมาะสมที่จะสร้างสถานีรถไฟความเร็วสูง เชื่อว่ายังมีหลายทางเลือกที่สามารถดำเนินการได้โดยไม่กระทบต่อมรดกโลก อย่างไรก็ตามเรื่องการก่อสร้างรถไฟต้องให้กรมศิลปกรไปดำเนินการพุดคุยกับประชาชนในพื้นที่ ส่วนรฟท.รับผิดชอบในด้านการก่อสร้าง
ขณะที่ การรถไฟแห่งประเทศไทย (รฟท.) ได้ให้ข้อมูลพื้นที่ก่อสร้างรถไฟฟ้าความเร็วสูงสถานีอยุธยา เมื่อไม่นานมานี้ ว่า สถานี (ใหม่) อยุธาตั้งอยู่ในเขตทางรถไฟเดิม ซึ่งมีระยะห่างจากพื้นที่แหล่งมรดกโลกนครประวัติศาสตร์พระนครศรีอยุธยา 1.5 กิโลเมตร ดังนั้นการก่อสร้างจะไม่มีผลกระทบโดยตรงต่อโบราณสถานหรือทัศนียภาพในพื้นที่อุทยานประวัติศาสตร์อย่างแน่นอน
ที่สำคัญ ด้วยตำแหน่งการก่อสร้างสถานีรถไฟความเร็วสูงอยุธยาในปัจจุบัน อยู่ห่างจากอุทยานประวัติศาสตร์อยุธยา 1.5 กิโลเมตร ซึ่งเป็นระยะทางที่สามารถเดินเท้า หรือปั่นจักรยานได้ จึงเป็นการช่วยส่งเสริมให้เส้นทางโดยรอบ หรือระหว่างสถานีรถไฟถึงพื้นที่อุทยานประวัติศาสตร์ กลายเป็นพื้นที่ท่องเที่ยวย่านการค้าที่สำคัญของชุมชน อีกทั้งยังช่วยลดปัญหาการจราจรในเกาะเมืองอยุธยาที่มีปัญหาการจราจรติดขัดเป็นอย่างมาก และสิ่งที่สำคัญที่สุดคือการลดผลกระทบจากแรงสั่นสะเทือนของการเดินทางด้วยรถยนต์ ซึ่งปัจจุบันมีรถยนต์ รถโดยสารขนาดใหญ่จำนวนมากเข้าไปในเขตพื้นที่โบราณสถาน และอุทยานประวัติศาสตร์อยุธยาอีกด้วย
ด้าน เพจ KUL ได้สรุปกรณีดราม่าสถานีรถไฟฟ้าความเร็วสูงอยุธยา ไว้เมื่อวันที่ 8 ก.ย. 66 ว่า
สรุปดราม่ารถไฟความเร็วสูงอยุธยา(Repost ตามที่คุณ ประชาชนไซเบอร์ V2 และอีกหลายๆ ท่าน แนะนำให้นำเสนอครับผม)
เรื่องของเรื่องคือ สส.ก้าวไกล เตรียมเสนอตั้ง กมธ.วิสามัญศึกษาผลกระทบด้านทรัพย์สินทางวัฒนธรรมต่อแหล่งมรดกโลกเมืองเก่าอโยธยาจากโครงการรถไฟความเร็วสูง สถานีอยุธยา
แน่นวล มีการมองว่า จะ ยิ่งทำให้โครงการรถไฟฟ้าความเร็วสูงเสร็จช้าขึ้นไปอีก
สำหรับโครงการนี้ เป็นส่วนหนึ่งของโครงการรถไฟฟ้าความเร็วสูง กรุงเทพฯ-นครราชสีมา
ช่วงที่กำลังถกเถียงกันอยู่คือ ช่วงเส้นทาง 13.3 กิโลเมตร จากสถานีบ้านโพมาถึงสถานีพระแก้ว
โดยฝ่ายที่ไม่ OK มองว่าที่ตั้งของสถานี อาจไปกระทบกับวิวทิวทัศน์ลดทอนคุณค่าของโบราณสถาน
เรื่องนี้ มีทั้งคนเห็นด้วย และไม่เห็นด้วย ซึ่งฝ่ายหลังมองว่า อยากให้จังหวัดท่องเที่ยวแห่งนี้ มีรถไฟฟ้าความเร็วสูงเพื่อพัฒนาศักยภาพของจังหวัด แต่ฝ่ายแรกมองว่า สถานีรถไฟฟ้าความเร็วสูง อาจทำลายคุณค่าทางวัฒนธรรม
ข้อเท็จจริง คือ
การรถไฟแห่งประเทศไทย ได้ทำการศึกษาผลกระทบสิ่งแวดล้อม (EIA) ซึ่งมีการศึกษาในด้านการศึกษาผลกระทบต่อโบราณสถาน พร้อมกำหนดมาตรการลดผลกระทบ ซึ่งได้รับการอนุมัติไปแล้วตั้งแต่ปี 2562
และปัจจุบันยังได้ทำการศึกษาการประเมินผลกระทบด้านทรัพย์สินทางวัฒนธรรม (HIA) ของแหล่งมรดกโลกนครประวัติศาสตร์พระนครศรีอยุธยา ผ่านทางที่ปรึกษาจากทางมหาวิทยาลัยศิลปากร
ซึ่งประเมินผลกระทบที่มีต่อแหล่งมรดกโลก 3 ด้าน ได้แก่ ด้านทัศนียภาพ ด้านกายภาพ และด้านสังคมและเศรษฐกิจ
ที่น่าสนใจคือ
ในการก่อสร้างสถานีรถไฟความเร็วสูงอยุธยา พื้นที่ก่อสร้างสถานีได้ตั้งอยู่ในเขตทางรถไฟเดิม
ซึ่งมีระยะห่างจากพื้นที่แหล่งมรดกโลกนครประวัติศาสตร์พระนครศรีอยุธยา มากถึง 1.5 กิโลเมตร
จุดนี้การรถไฟฯ เชื่อว่า การก่อสร้างจะไม่มีผลกระทบโดยตรงต่อโบราณสถานหรือทัศนียภาพในพื้นที่อุทยานประวัติศาสตร์อย่างแน่นอน
สรุป
สถานีรถไฟความเร็วสูงที่ดราม่า ก็สร้างในเขตรถไฟเดิม ห่างจากแหล่งมรดก 1กม. ครึ่ง
แล้วมันมีปัญหาตรงไหน ???
กลับกัน น่าจะดีด้วยซ้ำ เพราะระยะทางข้างต้น ไกลเกินกว่าจะกระทบกับโบราณสถาน แต่ใกล้พอให้เดินทางเข้าไปท่องเที่ยวโบราณสถานได้อย่างสะดวก จะเดินก็ได้ ปั่นจักรยานก็ได้ ขับรถก็ได้