xs
xsm
sm
md
lg

กรมโรงงานฯ เร่งแก้กากของเสีย “แวกซ์ กาเบ็จ” เฟสแรก 12,000 ตัน งบ 60 ล้านบาท

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



อธิบดีกรมโรงงานอุตสาหกรรมเร่งแก้กากของเสียจาก บริษัท แวกซ์ กาเบ็จ รีไซเคิล เซ็นเตอร์ จำกัด จังหวัดราชบุรี โดย บริษัท เบตเตอร์ เวิลด์ กรีนเป็นผู้ดำเนินการภายใต้โครงการ “จ้างเหมาบริการกำจัด/บำบัดสิ่งปฏิกูลของเสียเคมีวัตถุที่ตกค้าง รวมทั้งพื้นที่ของ นายสมพงษ์ ลิ้มพัฒนสกุล จังหวัดราชบุรี” เป็นเงินจำนวนกว่า 60 ล้านบาท เพื่อจัดการกากของเสียกว่า 12,000 ตัน ให้แล้วเสร็จภายในวันที่ 29 มีนาคม 2567 รอเสร็จระยะ 2 จ่อฟ้องเรียกค่าเสียหายทั้งหมดคืน

นายจุลพงษ์ ทวีศรี อธิบดีกรมโรงงานอุตสาหกรรม (กรอ.)
เปิดเผยความคืบหน้าการแก้ไขผลกระทบจากการประกอบกิจการโรงงานคัดแยกและรีไซเคิลของเสียอุตสาหกรรมของบริษัท แวกซ์ กาเบ็จ รีไซเคิล เซ็นเตอร์ จำกัด บนพื้นที่มากกว่า 54 ไร่ ตั้งอยู่ ณ หมู่ที่ 8 ตำบลรางบัว อำเภอจอมบึง จังหวัดราชบุรี ล่าสุดว่า ที่ผ่านมาได้สั่งการให้หยุดประกอบกิจการโรงงาน พร้อมเร่งรัดนำสิ่งปฏิกูลหรือวัสดุที่ไม่ใช้แล้วและของเสียเคมีวัตถุที่ตกค้างในพื้นที่ออกไปกำจัด/บำบัดตามหลักวิชาการ เพื่อลดการแพร่กระจายของมลพิษในการดูแลประชาชน แต่เมื่อบริษัทฯ ไม่สามารถดำเนินการแล้วเสร็จตามแผนงานที่กำหนด ทำให้ กรอ.ต้องเข้าดำเนินการแทน ด้วยงบประมาณรายจ่ายงบกลาง รายการเงินสำรองจ่ายเพื่อกรณีฉุกเฉินหรือจำเป็น ปีงบประมาณ พ.ศ. 2566 ที่ได้รับการจัดสรรจำนวนกว่า 60 ล้านบาท

ทั้งนี้ เมื่อวันที่ 21 มีนาคม 2566 ตามความเห็นชอบจากนายกรัฐมนตรี จัดทำเป็น “ราชบุรีโมเดล” โดยดำเนินโครงการจ้างเหมาบริการกำจัด/บำบัดสิ่งปฏิกูลหรือวัสดุที่ไม่ใช้แล้วหรือของเสียเคมีวัตถุที่ตกค้างในพื้นที่ของบริษัท แวกซ์ กาเบ็จ รีไซเคิล เซ็นเตอร์ จำกัด และพื้นที่ของ นายสมพงษ์ ลิ้มพัฒนสกุล ตำบลรางบัว อำเภอจอมบึง จังหวัดราชบุรี ผ่านวิธีประกวดราคาอิเล็กทรอนิกส์ (e-bidding) และบริษัท เบตเตอร์ เวิลด์ กรีน จำกัด (มหาชน) เป็นผู้ดำเนินการในนาม กรอ. เป็นระยะเวลา 210 วัน กำหนดแล้วเสร็จวันที่ 29 มีนาคม 2567

 


โครงการดังกล่าวเป็นการดำเนินการระยะที่ 1 กำจัดของเสียที่ตกค้างบนดินทั้งในและนอกโรงงาน ซึ่งเป็นส่วนที่อันตรายและมีความเร่งด่วนมากที่สุดก่อน โดยจะดำเนินการตรวจสอบสิ่งปฏิกูลหรือวัสดุที่ไม่ใช้แล้วตามกฎหมายว่าด้วยโรงงาน และของเสียเคมีวัตถุตามกฎหมายว่าด้วยวัตถุอันตราย รวมจำนวนกว่า 12,000 ตัน เบื้องต้นประเมินว่ามีของตกค้าง อาทิ ถังเปล่า ตัวทำละลายใช้แล้ว น้ำมันปนเปื้อน น้ำปนเปื้อน กากสี เศษผ้าปนเปื้อน ผงเหล็ก วัสดุดูดซับ ตะกอนน้ำมัน ตลอดจนของเสียตกค้างในบ่อกักเก็บจำนวนมาก และนำไปกำจัด/บำบัดอย่างถูกต้องตามหลักวิชาการตามกฎหมาย พร้อมค้นหาจุดที่เป็นแหล่งกำเนิดมลพิษที่อยู่ใต้ดินภายในโรงงาน ระยะที่ 2 จะเป็นการกำจัดแหล่งกำเนิดมลพิษใต้ดินที่แพร่กระจายสู่สิ่งแวดล้อมและฟื้นฟูสภาพแวดล้อม โดยหลังเสร็จระยะที่ 2 กรอ.จะฟ้องเรียกค่าใช้จ่ายทั้งหมดจากบริษัทฯ และนายสมพงษ์ต่อไป

“กรอ.ใช้ทุกข้อกฎหมายทั้งหมดที่มีเป็นเครื่องมือแก้ไขปัญหาที่เกิดขึ้นอย่างรอบคอบ ครบถ้วน และโปร่งใส ตลอดจนขับเคลื่อนให้เกิดการบังคับใช้กฎหมายอย่างเคร่งครัด โดยจะยก “ราชบุรีโมเดล” เป็นต้นแบบบริหารจัดการปัญหา ซึ่งจะได้นำไปใช้กับพื้นที่อื่นๆ ที่ประสบปัญหาในลักษณะเดียวกัน ขอให้มั่นใจในความรับผิดชอบที่ทุกภาคส่วนตั้งใจปฏิบัติหน้าที่อย่างเต็มกำลัง เพื่อลดความเดือดร้อนเสียหายต่อสิ่งแวดล้อม และประชาชนในพื้นที่ให้รวดเร็วที่สุด” อธิบดีกรมโรงงานฯ กล่าว
กำลังโหลดความคิดเห็น