“ปลัดคมนาคม” เรียกถกนโยบายรถไฟฟ้า 20 บาท รฟท.-รฟม.เร่งชงบอร์ดเคาะใน ก.ย.นี้ คาด ต.ค.เสนอ ครม.ปักธงของขวัญปีใหม่ 67 เล็งจัดระบบฟีดเดอร์เชื่อมชุมชนกับสถานี อำนวยความสะดวกและเพิ่มจำนวนผู้โดยสารชดเชยรายได้ที่ลดลงได้
นายชยธรรม์ พรหมศร ปลัดกระทรวงคมนาคม ได้ประชุมร่วมกับหน่วยงานด้านระบบรางได้แก่ นายจิรุตม์ วิศาลจิตร อธิบดีกรมการขนส่งทางบก (ขบ.) ในฐานะประธานคณะกรรมการ (บอร์ด) การรถไฟแห่งประเทศไทย (รฟท.) นายนิรุฒ มณีพันธ์ ผู้ว่าการ รฟท. นายสราวุธ ทรงศิวิไล อธิบดีกรมทางหลวง (ทล.) ในฐานะประธานคณะกรรมการ (บอร์ด) การรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนแห่งประเทศไทย (รฟม.) นายภคพงศ์ ศิริกันทรมาศ ผู้ว่าการ รฟม. รวมถึงกรมการขนส่งทางราง (ขร.) ถึงแนวทางการดำเนินงานค่าโดยสารรถไฟฟ้า 20 บาทตลอดสาย หรือตลอดเส้นทาง ตามนโยบาย นายสุริยะ จึงรุ่งเรืองกิจ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม
นายชยธรรม์กล่าวว่า หน่วยงานที่เกี่ยวข้องได้ร่วมหารือเพื่อนำนโยบายไปสู่การปฏิบัติ ซึ่งนโยบายกำหนดว่าจะต้องดำเนินการให้ถูกต้องตามระเบียบ กฎหมาย ขั้นตอนต้องชัดเจน และโครงการรถไฟฟ้าสายสีแดงและสายสีม่วงเป็นโครงการที่หน่วยงานรัฐดำเนินการเอง จึงสามารถดำเนินการได้เร็ว แต่ทั้งนี้ รฟท.และ รฟม.เป็นรัฐวิสาหกิจ จึงมีกระบวนการขั้นตอนต้องนำเสนอคณะกรรมการ (บอร์ด) พิจารณาอนุมัติก่อน วันนี้จึงดูไทม์ไลน์ของแต่ละหน่วยงานที่จะต้องดำเนินการ
โดยบอร์ด รฟท.จะประชุมในวันที่ 21 ก.ย. 2566 ส่วนบอร์ด รฟม.จะประชุมวันที่ 28 ก.ย. 2566 จากนั้นจะรายงานมาที่กระทรวงคมนาคม เพื่อสรุปภายในเดือนต.ค. 2566 และนำเสนอคณะรัฐมนตรี (ครม.) ต่อไป
นอกจากขั้นตอนกระบวนการตามระเบียบที่เกี่ยวข้องแล้ว ยังมีประเด็นรายละเอียดทางเทคนิคที่จะต้องพิจารณาร่วมกัน เพื่อให้ประชาชนผู้ใช้บริการได้รับความสะดวกในการเดินทางมากที่สุด เช่น การจัดการเรื่องบัตรโดยสารที่ใช้เดินทางข้าม 2 สาย การแบ่งปันรายได้ เป็นต้น
ดังนั้น ขั้นตอนทางระเบียบกฎหมาย และเทคนิคจะต้องพร้อม ซึ่งขณะนี้มั่นใจว่าจะเริ่มดำเนินการเรื่องค่าโดยสารรถไฟฟ้าสายสีแดง และสายสีม่วง 20 บาท ได้ในช่วงปีใหม่ 2567 ตามนโยบายและเป็นไปตามที่ รมว.คมนาคม ได้กล่าวไว้ในคราวที่แถลงนโยบายต่อสภาฯ แน่นอน
“กรณีรถไฟฟ้าสายสีแดง ทุกวันนี้มีค่าใช้จ่ายชัดเจน มีผู้โดยสารมากหรือน้อยก็ต้องจ่ายเท่านี้ ดังนั้นก็ต้องหาทางเพิ่มรายได้ ซึ่งมีหลายวิธี และทุกวันนี้รัฐต้องอุดหนุนสายสีแดงอยู่ เพราะรายรับน้อยกว่ารายจ่าย ซึ่งค่าโดยสารรถไฟฟ้า 20 บาท มองว่ารายได้จะลดลงจากที่เคยได้ แต่การดำเนินโครงการมีการคาดการณ์ว่าปริมาณผู้โดยสารจะเพิ่มขึ้น ซึ่งกระทรวงคมนาคมจะจัดทำระบบฟีดเดอร์เพื่อเชื่อมการเดินทางจากชุมชน หมู่บ้านเข้าสู่สถานีรถไฟฟ้าให้สะดวกและจูงใจประชาชน เข้ามาใช้บริการมากขึ้น รัฐลงทุนระบบรางเพื่อแก้ปัญหาการจราจรติดขัด เป็นทางเลือกในการเดินทางของประชาชน”