xs
xsm
sm
md
lg

เอเปกหนุนประชุมรัฐมนตรี WTO เคาะลุยเศรษฐกิจดิจิทัล รับมือภูมิอากาศ ดัน FTAAP

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



“พาณิชย์” เผยคณะกรรมการว่าด้วยการค้าและการลงทุน (CTI) กรอบเอเปก หนุนระบบการค้าพหุภาคี มุ่งขับเคลื่อนการประชุมรัฐมนตรี WTO ช่วงต้นปี 67 ให้สำเร็จและเป็นรูปธรรม พร้อมเคาะกรอบการทำงาน ปี 67-68 มุ่งเจรจาประเด็นใหม่ ๆ ด้านเศรษฐกิจดิจิทัล ห่วงโซ่อุปทาน และการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ เดินหน้าแผนงาน FTAAP ก่อนรายงานผลต่อรัฐมนตรีและผู้นำเอเปก พ.ย.นี้

นายรัชวิชญ์ ปิยะปราโมทย์ รองอธิบดีกรมเจรจาการค้าระหว่างประเทศ เปิดเผยถึงผลการประชุมคณะกรรมการว่าด้วยการค้าและการลงทุน (CTI) และการประชุมที่เกี่ยวข้อง ในกรอบเอเปก เมื่อเร็ว ๆ นี้ ณ นครซีแอตเทิล รัฐวอชิงตัน สหรัฐฯ ว่า ที่ประชุมได้ให้ความสำคัญกับการสนับสนุนระบบการค้าพหุภาคีที่มีกฎ กติกา และมีองค์การการค้าโลก (WTO) เป็นศูนย์กลาง รวมทั้งเรียกร้องให้ร่วมกันส่งสัญญาณเชิงบวก เพื่อขับเคลื่อนให้การประชุมรัฐมนตรี WTO ครั้งที่ 13 ในช่วงต้นปี 2567 ประสบความสำเร็จ และมีผลลัพธ์เป็นรูปธรรม ตอบสนองต่อสถานการณ์การค้า และความท้าทายในปัจจุบัน โดยไทยได้กล่าวสนับสนุนและเน้นย้ำบทบาทเด่นของเอเปกที่เป็นแหล่งบ่มเพาะไอเดียใหม่ ๆ ซึ่งจะส่งผลดีต่อการทำงานของ WTO ในประเด็นต่าง ๆ โดยจะมีการรายงานผลต่อที่ประชุมรัฐมนตรีเอเปกและผู้นำเขตเศรษฐกิจเอเปก ในช่วงเดือน พ.ย.2566 เพื่อมอบหมายแนวทางการดำเนินการต่อไป

ทั้งนี้ เอเปกยังได้ให้ความสำคัญกับการขับเคลื่อนแผนงานเขตการค้าเสรี เอเชีย-แปซิฟิก (Free Trade Area of the Asia-Pacific : FTAAP) ซึ่งเป็นการสานต่อผลการเป็นเจ้าภาพเอเปกของไทยในปี 2565 โดยสมาชิกได้ร่วมกันกำหนดสาขาที่จะดำเนินการร่วมกัน เพื่อมุ่งสู่เป้าหมายการจัดทำ FTAAP เช่น การส่งเสริมพาณิชย์อิเล็กทรอนิกส์ กฎเกณฑ์การค้าดิจิทัลที่สนับสนุน MSMEs การอำนวยความสะดวกทางการค้าผ่านแพลตฟอร์มการค้า และการพัฒนาเศรษฐกิจดิจิทัลอย่างครอบคลุม โดยจะเป็นการเสริมสร้างศักยภาพของสมาชิกให้สามารถจัดการกับประเด็นการค้าการลงทุนและความท้าทายใหม่ ๆ ผ่านโครงการความร่วมมือระหว่างกัน ทั้งนี้ เปรูในฐานะเจ้าภาพเอเปก ปี 2567 จะสานต่อเรื่อง FTAAP ต่อไป

นอกจากนี้ เอเปกยังให้การรับรองกรอบการทำงานสำหรับความจำเป็นในการเสริมสร้างขีดความสามารถในการรวมกลุ่มทางเศรษฐกิจระดับภูมิภาค ระหว่างปี 2567-2568 ซึ่งจะช่วยเสริมสร้างศักยภาพของสมาชิกในการเจรจาประเด็นใหม่ ๆ เช่น เศรษฐกิจดิจิทัล ห่วงโซ่อุปทาน และการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ รวมทั้งจะช่วยสนับสนุนการทำงานภายใต้แผนงาน FTAAP อีกด้วย

ในช่วง 7 เดือนของปี 2566 (ม.ค.-ก.ค.) การค้าระหว่างไทยกับเอเปก มีมูลค่า 8 ล้านล้านบาท หรือ 2.338 แสนล้านดอลลาร์สหรัฐ โดยไทยส่งออกไปเอเปก มูลค่า 3.9 ล้านล้านบาท หรือ 1.147 แสนล้านดอลลาร์สหรัฐ และไทยนำเข้าจากเอเปก มูลค่า 4.1 ล้านล้านบาท หรือ 1.191 แสนล้านดอลลาร์สหรัฐ


กำลังโหลดความคิดเห็น