อาเซียนเตรียมใช้หนังสือรับรองถิ่นกำเนิดสินค้ารูปแบบอิเล็กทรอนิกส์ (e-Form D) ส่งเสริมระบบการค้าไร้กระดาษพร้อมกันทั้ง 10 ประเทศภายในสิ้นปีนี้ พร้อมเร่งอัปเกรดความตกลงการค้าสินค้า ตั้งเป้าปิดดีลในปี 67 ด้าน RCEP เร่งปรับโอนพิกัดศุลกากรเป็น HS 2002 หาข้อสรุปรับสมัครใหม่ ล่าสุดฮ่องกง ศรีลังกา แสดงเจตจำนงขอเข้าร่วมแล้ว
นายเอกฉัตร ศีตวรรัตน์ รองปลัดกระทรวงพาณิชย์ เปิดเผยถึงผลการประชุมคณะมนตรีเขตการค้าเสรีอาเซียน (AFTA Council) ครั้งที่ 37 และการประชุมรัฐมนตรีความตกลงหุ้นส่วนเศรษฐกิจระดับภูมิภาค (RCEP) ครั้งที่ 2 เมื่อวันที่ 19 และ 21 ส.ค. 2566 ที่ผ่านมา ณ เมืองเซอมารัง สาธารณรัฐอินโดนีเซีย ว่า ที่ประชุมคณะมนตรีเขตการค้าเสรีอาเซียนได้หารือถึงความพร้อมของอาเซียนในการเริ่มต้นใช้งานหนังสือรับรองถิ่นกำเนิดสินค้ารูปแบบอิเล็กทรอนิกส์ (e-Form D) พร้อมกันทั้ง 10 ประเทศ ภายในสิ้นปีนี้ ซึ่งจะช่วยส่งเสริมระบบการค้าไร้กระดาษ ลดต้นทุนและเวลาในการเดินทางเข้ามาขอหนังสือรับรองถิ่นกำเนิดสินค้า และเพิ่มความรวดเร็วในการผ่านพิธีการศุลกากรขาเข้าให้แก่ผู้ประกอบการอาเซียน
ทั้งนี้ ที่ประชุมยังได้รับทราบความคืบหน้าการดำเนินงานด้านการค้าสินค้าอื่นๆ ที่สำคัญ ได้แก่ การปรับปรุงตารางการลดภาษีภายใต้ความตกลงการค้าสินค้าของอาเซียนให้ใช้พิกัดศุลกากร ฉบับล่าสุด (AHTN 2022) การเปิดตัวระบบค้นหาอัตราภาษีของอาเซียน (ASEAN Tariff Finder) การศึกษาแนวทางการเพิ่มอัตราการใช้สิทธิประโยชน์ทางภาษีสำหรับการค้าภายในอาเซียน และความคืบหน้าการเจรจายกระดับความตกลงการค้าสินค้าของอาเซียน (ATIGA Upgrade) ซึ่งตั้งเป้าสรุปผลภายในปี 2567 โดยไทยเน้นย้ำให้การเจรจายึดหลักการเป็นศูนย์กลางของอาเซียน (ASEAN Centrality) มุ่งเน้นให้สมาชิกอาเซียนให้สิทธิประโยชน์ทางภาษีที่ดีที่สุดแก่สมาชิกด้วยกัน และเพิ่มการอำนวยความสะดวกทางการค้า รวมทั้งการสร้างห่วงโซ่อุปทานภายในภูมิภาค เพื่อนำอาเซียนไปสู่เป้าหมายการเป็นตลาดและฐานการผลิตร่วมกันในอนาคต
สำหรับการประชุมรัฐมนตรีความตกลงหุ้นส่วนเศรษฐกิจระดับภูมิภาค (RCEP) ถือเป็นการประชุมระดับรัฐมนตรี RCEP ครั้งแรก นับตั้งแต่ความตกลงมีผลใช้บังคับกับสมาชิกครบทั้ง 15 ประเทศ โดยที่ประชุมได้แสดงความยินดีต่ออินโดนีเซียและฟิลิปปินส์ที่ได้ให้สัตยาบันความตกลง RCEP เมื่อวันที่ 3 พ.ย. 2565 และ 3 เม.ย. 2566 ตามลำดับ ส่งผลให้ความตกลงมีผลใช้บังคับกับทุกประเทศสมาชิกตั้งแต่เดือน เม.ย. 2566 ซึ่งจะเพิ่มโอกาสทางการค้าให้แก่ผู้ประกอบการในภูมิภาคได้มากขึ้น และทำให้ห่วงโซ่อุปทานและเครือข่ายการผลิตของภูมิภาคเชื่อมโยงกันได้ครบ
ขณะเดียวกัน ที่ประชุมได้แลกเปลี่ยนความคิดเห็นและติดตามผลการดำเนินงานของคณะกรรมการร่วม RCEP (RCEP Joint Committee : RJC) ในประเด็นสำคัญ ได้แก่ การเร่งรัดให้ประเทศสมาชิกดำเนินการปรับโอนพิกัดศุลกากรของตารางข้อผูกพันการลดภาษีให้เป็นระบบ HS 2022 การเร่งรัดให้คณะกรรมการ RJC เร่งหาข้อสรุปกระบวนการเปิดรับสมาชิกใหม่ของความตกลง RCEP เพื่อขยายตลาดและเครือข่ายการผลิตและห่วงโซ่อุปทานให้ครอบคลุมมากยิ่งขึ้น ทั้งนี้ ฮ่องกงและศรีลังกาได้แสดงเจตจำนงขอเข้าร่วมความตกลง RCEP อย่างเป็นทางการแล้ว ขณะที่สหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ ได้แสดงความสนใจเช่นกัน
นอกจากนี้ ที่ประชุมยังได้เห็นชอบเอกสารสำคัญ 2 ฉบับ ได้แก่ เอกสารขอบเขตงาน (TOR) ของหน่วยงานสนับสนุน RCEP (RCEP Support Unit: RSU) และเอกสารด้านงบประมาณ ซึ่งจะสนับสนุนการดำเนินงานของ RCEP โดยหน่วยงาน RSU จะจัดตั้งขึ้นภายใต้สำนักเลขาธิการอาเซียน เพื่อช่วยสมาชิกดำเนินตามพันธกรณี RCEP ซึ่งที่ประชุมขอให้ดำเนินการจัดตั้ง RSU ให้เสร็จภายในปี 2567