xs
xsm
sm
md
lg

รัฐมนตรีเศรษฐกิจอาเซียนชงผู้นำเคาะทำความตกลง DEFA ยุทธศาสตร์คาร์บอน

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



“พาณิชย์” เผยผลการประชุมรัฐมนตรีเศรษฐกิจอาเซียน (AEM) เห็นชอบการจัดทำความตกลงเศรษฐกิจดิจิทัลของอาเซียน (DEFA) การจัดทำยุทธศาสตร์ความเป็นกลางทางคาร์บอน และปฏิญญาว่าด้วยกรอบการดำเนินงานสำหรับโครงการพื้นฐานด้านอุตสาหกรรม รวมถึงการตั้งหน่วยงานสนับสนุนความตกลง RCEP การใช้ e-Form D เต็มรูปแบบ เตรียมทำวิสัยทัศน์อาเซียนฉบับใหม่หลังปี 68 เตรียมชงผู้นำเห็นชอบ ก.ย.นี้

นายเอกฉัตร ศีตวรรัตน์ รองปลัดกระทรวงพาณิชย์ เปิดเผยถึงผลการประชุมรัฐมนตรีเศรษฐกิจอาเซียน (AEM) ครั้งที่ 55 และการประชุมที่เกี่ยวข้อง ระหว่างวันที่ 19-22 ส.ค. 2566 ที่ผ่านมา ณ เมืองเซอมารัง สาธารณรัฐอินโดนีเซีย ว่า การประชุมครั้งนี้ได้ผลลัพธ์สำคัญที่จะนำเสนอต่อที่ประชุมคณะมนตรีประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน (AEC Council) และผู้นำอาเซียน ในช่วงระหว่างวันที่ 3-7 ก.ย. 2566 โดยมีประเด็นสำคัญ ได้แก่ การจัดทำกรอบความตกลงเศรษฐกิจดิจิทัลของอาเซียน (DEFA) การจัดทำยุทธศาสตร์ความเป็นกลางทางคาร์บอน และปฏิญญาว่าด้วยกรอบการดำเนินงานสำหรับโครงการพื้นฐานด้านอุตสาหกรรม ซึ่งผลลัพธ์ดังกล่าวถือเป็นกลไกการขับเคลื่อนทางเศรษฐกิจใหม่ของอาเซียนที่ตอบสนองเชิงรุกต่อแนวโน้มการค้าของโลก

สำหรับการเจรจาจัดทำความตกลง DEFA ได้ตั้งเป้าที่จะเริ่มเจรจาปลายปีนี้ และให้แล้วเสร็จภายใน 2 ปี โดยคาดว่า DEFA จะช่วยเพิ่มมูลค่าการค้าด้านดิจิทัลในภูมิภาคอาเซียนให้สูงถึง 4-6 แสนล้านดอลลาร์สหรัฐภายในปี 2573 ส่วนการจัดทำยุทธศาสตร์อาเซียนเพื่อความเป็นกลางทางคาร์บอนจะช่วยสร้างมูลค่าเพิ่มในเศรษฐกิจสีเขียวและสนับสนุนการเติบโตที่ยั่งยืนของภูมิภาค

นอกจากนี้ ยังได้เห็นชอบการเร่งรัดดำเนินการตามแผนงานของเสาเศรษฐกิจ เช่น การจัดตั้งหน่วยงานสนับสนุนความตกลง RCEP การใช้เอกสารรับรองถิ่นกำเนิดสินค้าภายใต้ความตกลงการค้าสินค้าของอาเซียน หรือ e-Form D ในระบบศุลกากรอิเล็กทรอนิกส์ ณ จุดเดียวของอาเซียนอย่างเต็มรูปแบบทั้ง 10 ประเทศ ภายในปี 2566 และเตรียมจัดทำวิสัยทัศน์อาเซียนฉบับใหม่ที่จะใช้ภายหลังปี 2568 (Post-2025 Vision) โดยมีเป้าหมายจะยกระดับการรวมตัวของอาเซียนไปสู่การเป็นตลาดและฐานการผลิตเดียวที่เชื่อมโยงกันอย่างไร้รอยต่อ เป็นต้น

นายเอกฉัตรกล่าวว่า รัฐมนตรีเศรษฐกิจอาเซียนยังได้หารือเตรียมการสำหรับการประชุมร่วมกับรัฐมนตรีการค้าของคู่เจรจา ได้แก่ จีน ญี่ปุ่น เกาหลีใต้ ฮ่องกง อินเดีย ออสเตรเลีย นิวซีแลนด์ สหรัฐฯ แคนาดา รัสเซีย สหภาพยุโรป และสหราชอาณาจักร และยังได้หารือกับสภาที่ปรึกษาธุรกิจอาเซียน (ASEAN BAC) และภาคธุรกิจของคู่เจรจา ซึ่งให้ความสำคัญต่อการเพิ่มมูลค่าการค้าและการลงทุนภายในอาเซียน การเพิ่มความร่วมมือระหว่างภาครัฐและเอกชน การแก้ไขปัญหามาตรการที่มิใช่ภาษีอย่างจริงจัง การเพิ่มการอำนวยความสะดวกทางการค้า การขับเคลื่อนภูมิภาคสู่ยุคดิจิทัล โดยเฉพาะการเปิดเจรจา DEFA การพัฒนาที่ยั่งยืน การรับมือกับความท้าทายด้านสาธารณสุขและความมั่นคงทางอาหาร เป็นต้น

ขณะเดียวกัน ได้ประชุมร่วมกับผู้อำนวยการใหญ่องค์การทรัพย์สินทางปัญญาโลก (WIPO) เพื่อยกระดับความร่วมมือด้านทรัพย์สินทางปัญญาของอาเซียน โดยเฉพาะการใช้ประโยชน์จากทรัพย์สินทางปัญญาเชิงพาณิชย์

อาเซียนเป็นคู่ค้าอันดับ 1 ของไทย โดยในปี 2565 การค้าระหว่างไทยกับอาเซียนมีมูลค่า 124,609.5 ล้านดอลลาร์สหรัฐ โดยไทยส่งออกไปอาเซียนมูลค่า 71,968.5 ล้านดอลลาร์สหรัฐ และนำเข้าจากอาเซียนมูลค่า 52,641.0 ล้านดอลลาร์สหรัฐ และในช่วง 7 เดือนของปี 2566 (ม.ค.-ก.ค.) การค้าระหว่างไทยกับอาเซียน มีมูลค่า 67,916.2 ล้านดอลลาร์สหรัฐ โดยไทยส่งออกไปอาเซียนมูลค่า 38,579.1 ล้านดอลลาร์สหรัฐ สินค้าส่งออกสำคัญ เช่น รถยนต์และยานยนต์อื่นๆ น้ำตาล เครื่องปรับอากาศติดผนัง และไทยนำเข้าจากอาเซียนมูลค่า 29,337.1 ล้านดอลลาร์สหรัฐ สินค้านำเข้าสำคัญ เช่น มันสำปะหลัง ข้าวโพด ซึ่งตลาดส่งออกและแหล่งนำเข้าสำคัญ ได้แก่ มาเลเซีย เวียดนาม อินโดนีเซีย สิงคโปร์ และฟิลิปปินส์






กำลังโหลดความคิดเห็น