รองโฆษกรัฐบาล เผย รับทราบผลประชุมคณะมนตรีประชาคม ศก.อาเซียน ครั้งที่ 22 เห็นชอบร่างปฏิญญาผู้นําอาเซียนว่าด้วยการพัฒนาระบบนิเวศสําหรับยานยนต์ไฟฟ้าระดับภูมิภาค เสริมเป้าหมายไทยผลิตรถยนต์ไฟฟ้าร้อยละ 30 ในปี ค.ศ. 2030
วันนี้ (29 ส.ค.) นางสาวรัชดา ธนาดิเรก รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี แถลงผลการประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) ผลการประชุมคณะมนตรีประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน (ASEANEconomicCommunity Council: AEC Council) ครั้งที่ 22 สรุป ดังนี้
(1) ภาพรวมเศรษฐกิจ และการค้าในภูมิภาคอาเซียน คาดการณ์การเติบโตทางเศรษฐกิจของอาเซียน (พ.ศ. 2565-2567) จะมีการขยายตัวในระดับปานกลาง ที่ร้อยละ 5.6 ในปี 2565 เป็นร้อยละ 4.7 ในปี 2566 และคาดว่าจะขยายตัวเป็นร้อยละ 5.0 ในปี 2567 ขณะที่ อัตราเงินเฟ้อลดลงจากร้อยละ 5.0 ในปี 2565 เป็นร้อยละ 4.4 ในปี 2566 และคาดว่าจะลดลงเหลือร้อยละ 3.3 ในปี 2567
(2) ประเด็นสําคัญด้านเศรษฐกิจที่อินโดนีเซีย ในฐานะประธานอาเซียนผลักดัน ให้บรรลุผลสําเร็จในปี 2566 (Priority Economic Deliverable: PEDs) จํานวนทั้งสิ้น 16 ประเด็น โดยอยู่ในความรับผิดชอบของรัฐมนตรีเศรษฐกิจอาเซียน จํานวน 7 ประเด็น เช่น การลงนามพิธีสาร ฉบับที่ 2 เพื่อปรับปรุงความตกลงการค้าเสรี อาเซียน-ออสเตรเลีย-นิวซีแลนด์ และการจัดทําแถลงการณ์ผู้นําอาเซียน ว่าด้วยการจัดทํากรอบความตกลงเศรษฐกิจดิจิทัลอาเซียน
(3) วาระที่เกี่ยวกับการเปลี่ยนผ่านทางดิจิทัล เน้นย้ําความสําคัญของวาระเศรษฐกิจดิจิทัล โดยขอให้เร่งศึกษาประโยชน์และผลกระทบของการจัดทํากรอบความตกลงเศรษฐกิจดิจิทัลของอาเซียนให้เสร็จภายในปีนี้ โดยตั้งเป้า การประกาศเริ่มเจรจาความตกลงดังกล่าวภายในการประชุม AEC Council ครั้งที่ 23 ในเดือน กันยายน 2566
(4) วาระที่เกี่ยวกับความยั่งยืนของอาเซียน ติดตามความคืบหน้า เช่น 1) แผนปฏิบัติการตามกรอบ เศรษฐกิจหมุนเวียนของอาเซียนซึ่งจะใช้กับ 3 สาขา ได้แก่ ภาคเกษตร พลังงาน และขนส่ง และ 2) การจัดตั้งหน่วยงาน ประสานงานหลักของประเทศสมาชิกเพื่อสนับสนุนการจัดทํา ยุทธศาสตร์อาเซียนเพื่อความเป็นกลางทางคาร์บอน
(5) การจัดทําวิสัยทัศน์ประชาคมอาเซียนภายหลังปี 2568 พิจารณาองค์ประกอบหลัก ในส่วนของเสาเศรษฐกิจ จํานวน 6 องค์ประกอบ เช่น 1) การยกระดับ เศรษฐกิจให้มีขีดความสามารถในการแข่งขัน 2) การส่งเสริม เศรษฐกิจให้มีความยั่งยืนและตอบสนองต่อสภาพภูมิอากาศ 3) การผลักดันให้อาเซียนเป็นประชาคมดิจิทัลชั้นนํา และ 4) การมีบทบาทเชิงรุกในประชาคมโลกโดยมีอาเซียนเป็นแกนกลาง
(6) เอกสารผลลัพธ์ ที่ประชุมได้รับรองและให้ความเห็นชอบต่อเอกสารผลลัพธ์ จํานวน 2 ฉบับได้แก่ 1) รับรองร่างภาคผนวกประกอบแผนการดําเนินงานสําหรับ การเข้าเป็นสมาชิกอาเซียนของติมอร์-เลสเต ในส่วน ของเสาเศรษฐกิจ 2) เห็นชอบร่างปฏิญญาผู้นําอาเซียนว่าด้วยการพัฒนา ระบบนิเวศสําหรับยานยนต์ไฟฟ้าระดับภูมิภาค ซึ่งเสนอให้ที่ประชุมสุดยอดอาเซียนครั้งที่ 42 ให้การรับรองระหว่างวันที่ 10-11 พ.ค. 2566
นางสาวรัชดา กล่าวเพิ่มเติมว่า กระทรวงพาณิชย์ เห็นว่า อินโดนีเซียในฐานะประธานอาเซียนผลักดันประเด็นความยั่งยืน อย่างแข็งขันโดยเฉพาะเรื่องการพัฒนาระบบนิเวศสำหรับยานยนต์ไฟฟ้าในภูมิภาคอาเซียน ซึ่งหลายประเทศสมาชิก เช่น ฟิลิปปินส์ อินโดนีเซีย มาเลเซีย และเวียดนาม ต่างมีนโยบายสนับสนุนการใช้งานและการผลิตอย่างจริงจัง รวมทั้ง ไทยที่ตั้งเป้าการผลิตรถยนต์ไฟฟ้าร้อยละ 30 ของปริมาณการผลิตภายใน ค.ศ. 2030 และ พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ให้ความสําคัญในการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐาน ส่งเสริมนโยบายที่ช่วยสนับสนุนอุตสาหกรรมยานยนต์ไฟฟ้า ยกระดับองค์ความรู้ด้านยานยนต์ไฟฟ้าของผู้ผลิตและแรงงานไทย เพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันของไทย เพื่อให้สามารถเข้าไปอยู่ในห่วงโซ่การผลิตในภูมิภาคอาเซียนด้วย