“พาณิชย์” เผย ครม.อนุมัติร่างประกาศกระทรวงพาณิชย์ ยกเลิกควบคุมการส่งออกถ่านหินเพื่อลดความซ้ำซ้อนทางกฎหมายในการกำกับดูแลการส่งออกถ่านหิน ไม่ต้องขออนุญาตจากพาณิชย์อีก หลังถ่านหินอยู่ภายใต้การกำกับดูแลของกระทรวงอุตสาหกรรม ตาม พ.ร.บ.แร่ พ.ศ. 2560
นายรณรงค์ พูลพิพัฒน์ อธิบดีกรมการค้าต่างประเทศ เปิดเผยว่า เมื่อวันที่ 23 ส.ค. 2566 คณะรัฐมนตรีมีมติอนุมัติในหลักการ (ร่าง) ประกาศกระทรวงพาณิชย์ ยกเลิกประกาศกระทรวงพาณิชย์ ว่าด้วยการส่งสินค้าออกไปนอกราชอาณาจักร (ฉบับที่ 86) พ.ศ. 2541 พ.ศ. ... ตามที่กระทรวงพาณิชย์เสนอ เพื่อลดความซ้ำซ้อนทางกฎหมายในการกำกับดูแลการส่งออกถ่านหินที่มีถิ่นกำเนิดในประเทศ เนื่องจากตั้งแต่ปี 2564 กระทรวงอุตสาหกรรม โดยกรมอุตสาหกรรมพื้นฐานและการเหมืองแร่ได้ออกประกาศกระทรวงอุตสาหกรรม เรื่อง กำหนดชนิดและสภาพแร่ที่ห้ามส่งออกนอกราชอาณาจักรหรือเขตไหล่ทวีป พ.ศ. 2564 โดยอาศัยอำนาจ พ.ร.บ.แร่ พ.ศ. 2560 กำหนดห้ามส่งออกถ่านหินที่มีถิ่นกำเนิดในราชอาณาจักรและเขตไหล่ทวีป ซึ่งมีผลใช้บังคับแล้ว
ทั้งนี้ การยกเลิกประกาศกระทรวงพาณิชย์ฯ ฉบับดังกล่าว มีผลให้ถ่านหินที่นำเข้าสามารถส่งออกได้อย่างเสรี โดยไม่ต้องขออนุญาตจากกระทรวงพาณิชย์ ซึ่งเป็นไปตามมติที่ประชุมร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ประกอบด้วย กรมอุตสาหกรรมพื้นฐานและการเหมืองแร่ กรมเชื้อเพลิงธรรมชาติ กรมพัฒนาพลังงานทดแทนและอนุรักษ์พลังงาน กรมศุลกากร และการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย โดยจะมีผลใช้บังคับตั้งแต่วันถัดจากวันประกาศในราชกิจจานุเบกษาเป็นต้นไป
ที่ผ่านมา ระหว่างปี 2563-2564 ไทยมีการส่งออกถ่านหินเฉลี่ยปีละ 0.11 ล้านตัน ในปี 2565 มีปริมาณ 0.18 ล้านตัน มูลค่า 1,262 ล้านบาท แหล่งส่งออกของไทยที่สำคัญ คือ กัมพูชา ร้อยละ 68 บังกลาเทศ ร้อยละ 14 และอื่นๆ ร้อยละ 18 และมีการนำเข้าปริมาณ 21 ล้านตัน มูลค่า 94,895 ล้านบาท แหล่งนำเข้าสำคัญ คือ อินโดนีเซีย ร้อยละ 70 ออสเตรเลีย ร้อยละ 24 และอื่นๆ ร้อยละ 6