ศาลปกครองกลาง พิพากษา ชี้ สธ.ออกประกาศควบคุมสารพิษพาราควอต คลอร์ไพริฟอส ตกค้างในอาหารชอบด้วยกฎหมายแล้ว ไม่เป็นการจำกัดเสรีภาพในการประกอบอาชีพ
วันนี้ (29 ส.ค.) ศาลปกครองกลางมีคำพิพากษายกฟ้องในคดีที่ น.ส.อัญชุลี ลักษณ์อำนวยพร ประธานเครือข่ายอาสาคนรักแม่กลอง พร้อมเกษตรกรผู้ปลูกมะพร้าวน้ำหอม ข้าวโพด ลำไย รวม 56 ราย ยื่นฟ้องรมว.สาธารณสุข รมช.เกษตรและสหกรณ์ คณะกรรมการอาหาร และเลขาธิการคณะกรรมการอาหารและยา ว่าร่วมกันประกาศกระทรวงสาธารณสุข (ฉบับที่ 419 ) พ.ศ. 2563 เรื่องอาหารที่มีสารพิษตกค้าง (ฉบับที่ 3) ลงวันที่ 25 ก.ย. 2563 กำหนดปริมาณสารพิษคลอร์ไพริฟอส, คลอร์ไพริฟอส-เมทิล, พาราควอต, พาราควอตไดคลอไรด์, พาราควอต[บิส (เมทิลซัลเฟต) หรือพาราควอตเมโทซัลเฟต ตกค้างสูงสุด (MRL ) ในสินค้าเกษตรที่ใช้เป็นอาหารและอาหารสัตว์ เพื่อใช้เป็นเกณฑ์อ้างอิงในการผลิต การค้า และการควบคุมตรวจสอบสินค้าเกษตรที่ผลิต นำเข้า และส่งออก โดยไม่ชอบด้วยกฎหมาย
ศาลให้เหตุผล ว่า ประกาศฉบับดังกล่าวเป็นการกำหนดคุณภาพของอาหารที่มีสารพิษตกค้างจะต้องมีมาตรฐาน โดยต้องตรวจไม่พบวัตถุอันตรายทางการเกษตรดังกล่าว พ.ร.บ.วัตถุอันตราย พ.ศ. 2534 รวมทั้งยังได้กำหนดวิธีการตรวจวิเคราะห์ทางวิชาการสารพิษตกค้างในอาหารที่เกิดจากการใช้วัตถุอันตรายทางการเกษตร โดยให้เป็นไปตามบัญชีแนบท้ายประกาศดังกล่าว เป็นการออกกฎเพื่อให้สอดคล้องกับประกาศกระทรวงอุตสาหกรรม เรื่อง บัญชีรายชื่อวัตถุอันตราย (ฉบับที่ 6 ) พ.ศ. 2563 ลงวันที่ 15 พ.ค. 2563 เพียงเท่าที่จำเป็น เพื่อคุ้มครองความปลอดภัยของผู้บริโภคเป็นสำคัญ กรณีนี้จึงเป็นการกระทำโดยมีอำนาจตามกฎหมาย และไม่เป็นการจำกัดเสรีภาพในการประกอบอาชีพของเกษตรกรเกินสมควร ข้ออ้างของผู้ฟ้องคดีที่ว่า ประกาศฉบับนี้เป็นกฎที่จำกัดเสรีภาพในการประกอบอาชีพเกษตรกรรมโดยไม่ซอบด้วยกฎหมาย จึงไม่อาจรับฟังได้ พิพากษายกฟ้อง