เครือข่ายภาคประชาสังคมแก้ปัญหามลพิษทางอากาศ เฮ! ศาล ปค.สั่ง รมว.อก. เร่งออกประกาศ เรื่อง รายงานปลดปล่อยและเคลื่อนย้ายสารมลพิษ และจัดทำทำเนียบ เพื่อแก้ปัญหาฝุ่นละออง PM 2.5 ภายใน 60 วัน นับจากคดีถึงที่สุด
วันนี้ (29 ส.ค.) ศาลปกครองกลางมีคำพิพากษาให้ รมว.อุตสาหกรรม (อก.) ปฏิบัติหน้าที่โดยการออกประกาศ เรื่อง การรายงานการปลดปล่อยและเคลื่อนย้ายสารมลพิษ และจัดทำทำเนียบการปลดปล่อยและเคลื่อนย้ายมลพิษ (Pollutant Release and Transfer Register) ตาม พ.ร.บ.โรงงาน พ.ศ. 2535 ให้แล้วเสร็จภายใน 60 วัน นับแต่วันที่คดีถึงสุด ตามที่เครือข่าย มูลนิธิเพื่อสันติภาพเขียว (Greenpeace Thailand) มูลนิธินิดิธรรมสิ่งแวดล้อม (EnLAW) มูลนิธิบูรณะนิเวศ (EARTH) สภาลมหายใจเชียงใหม่ สภาลมหายใจภาคเหนือ นพ.สุภัทร ฮาสุวรรณกิจ ประธานชมรมแพทย์ และ น.ส.นันทิชา โอเจริญชัย นักรณรงค์ด้านสิ่งแวดล้อมผู้ร่วมก่อตั้งกลุ่ม Climate Strike Thailand ซึ่งเป็นเครือข่ายภาคประชาสังคมและประชาชนที่ติดตามและผลักดันรณรงค์การแก้ไขปัญหามลพิษทางอากาศมาอย่างต่อเนื่อง ได้เดินทางมายื่นฟ้องคณะกรรมการสิ่งแวดล้อมแห่งชาติ (กก.วล.), รมว.กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม (ทส.) และ รมว.กระทรวงอุตสาหกรรม (อก.) ต่อศาลปกครองกลาง เมื่อวันที่ วันที่ 22 มี.ค.2565 ว่า เจ้าหน้าที่รัฐทั้ง 3 หน่วยงานละเลยต่อหน้าที่หรือปฎิบัติหน้าที่ในการป้องกันแก้ไขปัญหามลพิษทางอากาศฝุ่นละออง PM 2.5 ตั้งแต่ปี 2557 จนถึงปัจจุบัน ล่าช้าเกินสมควร ส่งผลให้พื้นที่ กทม.และพื้นที่ภาคเหนือมีค่าฝุ่นละออง PM 2.5 สูงกว่ามาตรฐาน และทำใหัประชาชนต้องประสบปัญหาสุขภาพอย่างรุนแรงมายาวนาน
โดยศาลให้เหตุผลว่า แม้ที่ผ่านมา รมว.อก.ได้ดำเนินการยกร่างประกาศกระทรวงอุตสาหกรรม เรื่อง การรายงานการปลดปล่อยและเคลื่อนย้ายสารมลพิษ พ.ศ....ต่อเนื่องจากที่กระทรวงอุตสาหกรรมได้ออกประกาศกระทรวงอุตสาหกรรม เรื่อง มาตรการความปลอดภัยเกี่ยวกับการจัดการสารเคมีในโรงงานอุตสาหกรรม พ.ศ. ๒๕๖๕ เพื่อให้ผู้ประกอบกิจการโรงงานจัดทำบัญชีรายชื่อสารเคมีที่เก็บหรือใช้ และบัญชีการปลดปล่อยและเคลื่อนย้ายสารมลพิษ โดยให้รายงานกรมโรงงานอุตสาหกรรม ตามแผนปฏิบัติการขับเคลื่อนวาระแห่งชาติ “การแก้ไขปัญหามลพิษด้านฝุ่นละออง” แต่ตามแผนปฏิบัติการขับเคลื่อนวาระแห่งชาติดังกล่าวกำหนดให้กระทรวงอุตสาหกรรมจัดทำทำเนียบการปลดปล่อยและเคลื่อนย้ายมลพิษ (Pollutant Release and Transfer Register) ซึ่งเป็นแผนระยะสั้นที่ต้องดำเนินการในช่วงปี พ.ศ. 2562-2564 แต่จนถึงปัจจุบัน เวลาได้ล่วงเลยจนพ้นกำหนดระยะเวลาในแผนดังกล่าวแล้ว ก็ไม่ปรากฏว่า รมว.อก.ได้ดำเนินการออกประกาศดังกล่าวแต่อย่างใด กรณีจึงถือได้ว่า รมว.อก.ปฏิบัติหน้าที่ตามกฎหมายล่าช้าเกินสมควร