ชาวไร่อ้อยนัดรวมพลใหญ่ที่พรรคเพื่อไทย 28 ส.ค.นี้หวังให้ช่วยเหลือปัญหาค้างคาโดยเฉพาะเงินช่วยเหลือตัดอ้อยสด 120 บาทต่อตันที่ปิดหีบมานานแต่ยังไร้วี่แววจนใกล้สิ้นปีงบประมาณ จับตาอาจพ่วงขอย้ายไปกระทรวงเกษตรฯ ลุ้นถก "กอน." 30 ส.ค.นี้อีกระลอกหวังยุติแก้อ้อยไฟไหม้ภาพรวม
นายนราธิป อนันตสุข หัวหน้าสำนักงานสหพันธ์ชาวไร่อ้อยแห่งประเทศไทย เปิดเผยว่า วันที่ 28 สิงหาคม 2566 ชาวไร่อ้อยทั่วประเทศราว 2,000 คนเตรียมที่จะเดินทางไปยังพรรคเพื่อไทยเวลา 10.00 น.เพื่อแสดงความยินดีในการจัดตั้งรัฐบาลพร้อมกับขอให้ช่วยสนับสนุนชาวไร่อ้อยเกี่ยวกับโครงการช่วยเหลือเกษตรกรชาวไร่อ้อยตัดอ้อยสดเพื่อลดฝุ่น PM 2.5 ฤดูการผลิตปี 2565/66 ที่ปิดหีบไปตั้งแต่ 6 เมษายน 2566 แต่จนขณะนี้ยังคงไม่ได้รับเงินช่วยเหลือเช่นฤดูการผลิต 2 ปีที่ผ่านมา
“ที่ผ่านมาคณะรัฐมนตรีได้อนุมัติในหลักการโครงการช่วยเหลือเกษตรกรชาวไร่อ้อยตัดอ้อยสดฯ ฤดูกาลผลิต 2563/2564 และ 2564/2565 โดยสนับสนุนเงินช่วยเหลือผ่านธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร (ธ.ก.ส.) เพื่อลดต้นทุนการตัดอ้อยสดให้ชาวไร่อ้อยในอัตรา 120 บาทต่อตัน และต่อมาฤดูการผลิตปี 2565/66 ก็เสนอเงื่อนไขเช่นเดียวกันแต่จนถึงขณะนี้ที่ใกล้จะสิ้นสุดปีงบประมาณ 2566 แล้วชาวไร่ก็ยังไม่ได้รับความชัดเจนในเรื่องนี้แต่อย่างใด” นายนราธิปกล่าว
อย่างไรก็ตาม การประชุมคณะกรรมการอ้อยและน้ำตาลทราย (กอน.) ที่มีปลัดกระทรวงอุตสาหกรรมเป็นประธานเมื่อเร็วๆ นี้ได้นำเสนอแนวทางโดยการออกหลักเกณฑ์สำหรับดำเนินการแก้ไขปัญหาการลักลอบเผาอ้อยเพื่อลดฝุ่น PM 2.5 ฤดูการผลิตปี 2566/67 และแนวทางช่วยเหลือเกษตรกรชาวไร่อ้อยที่ดูแลพื้นที่เพาะปลูกอ้อยโดยไม่มีการเผาอ้อย ฤดูการผลิตปี 2565/66 โดยหลักการสำคัญคือจะช่วยเหลือเฉพาะชาวไร่ที่ตัดอ้อยสดได้ 100% เท่านั้น โดยต้องไม่มีอ้อยไฟไหม้ปนเลยและแนวทางการช่วยเหลือก็ยังไม่ได้ข้อสรุปที่ชัดเจนแต่อย่างใด
ขณะเดียวกัน กอน.ยังได้เสนอแนวทางการหักเงินค่าอ้อยที่ถูกลักลอบเผา อ้อยยอดยาว และอ้อยที่มีกาบใบในฤดูการผลิตปี 2566/67 โดยกำหนดหักชาวไร่ 90 บาทต่อตัน โรงงาน 39 บาทต่อตัน ฤดูการผลิตปี 2567/68 ชาวไร่ 120 บาทต่อตัน โรงงาน 51 บาทต่อตัน ฤดูการผลิตปี 2558/69 ชาวไร่อ้อย 150 บาทต่อตัน และโรงงาน 64 บาทต่อตัน โดยทั้งหมดนี้ทางชาวไร่อ้อยเองเห็นว่าจำเป็นจะต้องยึดหลักการที่จะเดินไปข้างหน้าได้ด้วยกันทั้งหมดจึงจะมีการสรุปแนวทางอีกครั้งในการประชุม กอน. 30 ส.ค.นี้
แหล่งข่าวจาก กอน.กล่าวว่า กระทรวงอุตสาหกรรมได้ระบุถึงความจำเป็นจะต้องศึกษาผลดีและผลเสีย และความคุ้มค่าของการดำเนินการภายใต้โครงการดังกล่าว เนื่องจากพบว่าฤดูการผลิตปี 2565/66 พบว่ามีอ้อยลักลอบเผาสูงถึง 30.78 ล้านตัน หรือคิดเป็น 3.08 ล้านไร่จากปริมาณอ้อยเข้าหีบ 93.89 ล้านตันหรือคิดเป็น 32.78% ซึ่งเป็นสัดส่วนที่สูงกว่าการผลิตปี 2564/65 จึงควรมองหาแนวทางและมาตรการที่ทำให้เกิดความยั่งยืนและไม่เป็นภาระต่องบประมาณของรัฐบาลอย่างใกล้ชิดตามมติคณะรัฐมนตรีต่อไป
อย่างไรก็ตาม การแก้ไขปัญหาอุตสาหกรรมอ้อยและน้ำตาลทรายที่ผ่านมาชาวไร่อ้อยกลับมองว่ารัฐได้ซื้อเวลามาอย่างต่อเนื่องโดยเฉพาะเงินตัดอ้อยสดปี 2565/66 ทั้งที่ได้รับปากชาวไร่อ้อยไว้ทั่วประเทศจนนำมาสู่การยุบสภาฯ และเกิดสุญญากาศทำให้ปัญหาดังกล่าวไม่ได้รับการผลักดันอย่างที่ควรจะเป็น ทำให้ชาวไร่ไม่พอใจและบางส่วนต้องการเสนอให้รัฐบาลใหม่ช่วยผลักดันให้อุตสาหกรรมอ้อยและน้ำตาลทรายย้ายไปสังกัดกระทรวงเกษตรและสหกรณ์แทนเนื่องจากมีโครงการเกษตรแปลงใหญ่ที่มีเม็ดเงินช่วยเหลือทั้งระบบที่ดีกว่า มีงบประมาณในเรื่องของการจัดสรรแหล่งน้ำ และอัตราดอกเบี้ยที่ช่วยเหลือเกษตรกรก็ต่ำกว่า เมื่อเทียบกับการอยู่ภายใต้การกำกับของกระทรวงอุตสาหกรรม