xs
xsm
sm
md
lg

พพ. อบรมผู้ตรวจประเมินการออกแบบก่อสร้าง หรือดัดแปลงอาคารเพื่อการอนุรักษ์พลังงาน รุ่นที่ 5

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์





นางมัณลิกา สมพรานนท์ ผู้อำนวยการกองพัฒนาทรัพยากรบุคคลด้านพลังงาน กรมพัฒนาพลังงานทดแทนและอนุรักษ์พลังงาน (พพ.) เป็นประธานเปิดการอบรมหลักสูตร “ผู้ตรวจประเมินในการออกแบบก่อสร้างหรือดัดแปลงอาคารเพื่อการอนุรักษ์พลังงาน” ภายใต้โครงการพัฒนาบุคลากรเพื่อสนับสนุนการบังคับใช้เกณฑ์มาตรฐานอาคารด้านพลังงาน (Building Energy Code : BEC) เพื่อการอนุรักษ์พลังงาน รุ่นที่ 5 โดยการอบรมจัดขึ้นในระหว่างวันที่ 7-9 สิงหาคม 2566 และจะทดสอบในวันที่ 11 สิงหาคม 2566 ณ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ กรุงเทพมหานคร

นางมัณลิกา กล่าวว่า พพ. ได้ริเริ่มพัฒนา ผลักดัน กฎกระทรวงเกณฑ์การออกแบบอาคารเพื่อการอนุรักษ์พลังงาน หรือ Building Energy Code : BEC เพื่อเป็นมาตรฐานบังคับใช้กับอาคารขนาดใหญ่ที่มีการใช้พลังงานสูง โดยกำหนดมาตรฐานและหลักเกณฑ์และวิธีการออกแบบอาคารเพื่อให้อาคารมีการใช้พลังงานอย่างมีประสิทธิภาพ และเมื่อวันที่ 12 พฤศจิกายน 2563 กฎกระทรวงกำหนดประเภทหรือขนาดของอาคารและมาตรฐาน หลักเกณฑ์ และวิธีการในการออกแบบเพื่อการอนุรักษ์พลังงาน พ.ศ 2563 ได้มีการประกาศในราชกิจจานุเบกษามีผลบังคับใช้ตั้งแต่วันที่ 13 มี.ค. 2564 เป็นต้นไปกับอาคารขนาด 10,000 ตร.ม.ขึ้นไป และอาคาร 5,000 ตร.ม.ขึ้นไปในปี 2565 และอาคาร 2,000 ตร.ม.ขึ้นไป ในปี 2566 นั้น

ดังนั้น เพื่อบังคับใช้กฎกระทรวงฯ ดังกล่าว กับทุกภาคส่วนที่เกี่ยวข้องมีผลทำให้เจ้าของอาคารและผู้ใช้อาคารจ่ายค่าไฟลดลงอย่างน้อยร้อยละ 10 และมีผลทำให้บรรลุเป้าหมายตามแผน EEP2018 ว่าภายใน 20 ปี จะสามารถประหยัดไฟฟ้าได้รวม 13,700 ล้านหน่วย คิดเป็น 1,166 ktoe หรือคิดเป็นเงินกว่า 47,000 ล้านบาท ซึ่งจะช่วยลดการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ได้ถึง 7,282 ตัน

กองพัฒนาทรัพยากรบุคคลด้านพลังงาน (กพบ.) ดำเนินการพัฒนาหลักสูตรและจัดฝึกอบรมหลักสูตรการตรวจประเมินในการออกแบบก่อสร้างหรือดัดแปลงอาคารเพื่อการอนุรักษ์พลังงานมีคุณสมบัติที่เหมาะสมและมีความรู้ทางด้านการตรวจประเมินการออกแบบอาคารเพื่อการอนุรักษ์พลังงาน ให้มีจำนวนเพียงพอต่อการตรวจประเมินและรับรองแบบอาคารก่อสร้างใหม่หรือดัดแปลง โดยการจัดฝึกอบรมให้แก่วิศวกรและสถาปนิกเพื่อขึ้นทะเบียนเป็นผู้ตรวจประเมินในการออกแบบก่อสร้างหรือดัดแปลงอาคารเพื่อการอนุรักษ์พลังงานตามกฎหมาย ในปี 2566 จำนวนทั้งหมด 10 รุ่น

การฝึกอบรมในครั้งนี้ เป็นรุ่นที่ 5 มีผู้สนใจเข้าฝึกอบรมที่เป็นวิศวกร สถาปนิก จำนวน 35 คน ทั้งนี้ พพ. จะดำเนินการจัดฝึกอบรมให้แก่วิศวกร และสถาปนิก จำนวนไม่น้อยกว่า 300 คนต่อปี สำหรับขึ้นทะเบียนเป็นผู้ตรวจประเมินในการออกแบบก่อสร้างหรือดัดแปลงอาคารเพื่อการอนุรักษ์พลังงาน

สำหรับประโยชน์ที่คาดว่าจะได้รับ ในมิติผู้ประกอบการมีความสามารถในการแข่งขันทางธุรกิจเพิ่มขึ้น ลดต้นทุนทางด้านพลังงาน และช่วยสร้างสิ่งแวดล้อมที่เป็นมิตรต่อสังคม และในมิติประเทศจะช่วยสนับสนุนเป้าหมายการลดความเข้มพลังงาน (Energy Intensity: EI) ภายใต้แผนการอนุรักษ์พลังงาน (Energy Efficiency Plan: EEP) ของประเทศ และเป้าหมายการบรรลุ Carbon Neutrality ภายในปี ค.ศ. 2050 และ Net Zero Emission ภายในปี ค.ศ. 2065 ทำให้ประเทศเกิดความมั่นคงด้านพลังงานและความยั่งยืนในอนาคต ซึ่งในปัจจุบัน พพ. ได้ดำเนินการขึ้นทะเบียนเป็นผู้ตรวจประเมินในการออกแบบก่อสร้างหรือดัดแปลงอาคารเพื่อการอนุรักษ์พลังงานแล้วไม่น้อยกว่า 500 คน


กำลังโหลดความคิดเห็น