การตลาด – ตลาดการบิน ท่องเที่ยว เริ่มฟื้นตัวดีขึ้นในทิศทางบวก ธุรกิจการบินโงหัวขึ้น เปิดแผน “ไทย แอร์เอเชีย” กางปีกบิน รับตลาด เร่งเปิดเส้นทางบินใหม่ ทยอยเพิ่มไฟล์ทบินให้กลับมาเท่าเดิม พร้อมเตรียมเพิ่มฝูงบินรับตลาด มั่นใจสิ้นปีนี้รายได้ทะลุ 42,000 ล้านบาท พร้อมเป้าหมายขนส่งผู้ํโดยสารรวม 20 ล้านคน
“บริษัทฯยังมีความมั่นใจในเป้าหมายผลการดำเนินงานว่า ภายในสิ้นปี2566 นี้ สายการบินไทย แอร์เอเชีย จะสามารถทำตัวเลขผู้โดยสารได้่รวมมากถึง 20 ล้านคน และมีรายได้รวมมากกว่า 42,000 ล้านบาท ได้แน่นอน ซึ่งช่วงครึ่งปีแรกนี้ก็สามารถทำยอดผู้โดยสารได้แล้วประมาณ 9.2 ล้านคน”
นี่คือคำกล่าวอย่างหนักแน่นของ นายสันติสุข คล่องใช้ยา ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร สายการบินไทย แอร์เอเชีย
พร้อมกับย้ำต่อด้วยว่า ไตรมาสที่3และไตรมาสที่4ของปีนี้ ซึ่งเฺป็นช่วงไฮซีซั่นของการท่องเที่ยวด้วย คาดว่าภาพรวมของอุตสาหกรรมการบิน จะมีแนวโน้มเติบโตที่ดีอย่างต่อเนื่อง เช่นเดียวกับภาพรวมของอุตสาหกรรมการท่องเที่ยว ของไทยที่เริ่มฟื้นตัวในทางที่ดีขึ้นตามลำดับ ด้วยเป้าหมายภาพรวมที่ทางการท่องเที่ยวแห่งประเทศไทยได้ประเมินไว้ว่าสิ้นปี2566นี้จะมีนักท่องเที่ยวต่างชาติเข้ามาท่องเที่ยวในไทย 25-30 ล้านคน
เมื่อทิศทางไปในทางบวก ผนวกกับแผนการตลาดของไทย แอร์เอเชีย ที่วางไว้ ในเชิงรุกทั้งปีนี้ที่เหลืออีก 4 เดือน กับแผนรุกปีหน้าย่อมน่าจับตามอง
**** เปิดแผนเพิ่มฝูงบิน-เส้นทางบินใหม่
ทั้งนี้ไทย แอร์เอเชีย มีแผนจะเพิ่มจำนวนเครื่องบินสำรองอีก 5-7 ลำ ในช่วง 4 เดือนท้ายนี้ และแผนการเพิ่มความถี่ของเที่ยวบินต่อสัปดาห์ให้มากขึ้น โดยเฉพาะเส้นทางประเทศจีน เส้นทางบินใหม่ และเส้นทางบินเดิมที่จะพยายามกลับมาเปิดบริการให้ถึงจุดความถี่ของจำนวนไฟล์ทบินต่อสัปดาห์ให้เท่ากับของเดิมเมื่อก่อนช่วงเกิดโควิด-19ระบาด ให้มากที่สุด
ปัจจุบัน ไทย แอร์เอเชีย มีฝูงบินจำนวน 54 ลำ จากเดิมก่อนช่วงเกิดสถานการณ์โควิด-19 ระบาด มีจำนวน 63 ลำ โดยได้ทำการคืนเครื่องบินไป 9 ลำ เพราะโดนพิษโควิดเล่นงาน ซึ่งปัจจุบันมีเครื่องบินใช้แล้ว จำนวน 47 ลำ ซึ่งคาดว่ายังมีเหลือเพียงพอในการรองรับนักท่องเที่ยว แต่ถ้าหากตลาดบูมขึ้นมาอย่างรวดเร็วก็มีแผนสำรองแล้วเช่นกัน ประมาณ 5-7ลำ โดยมีการเจรจากับทางแอร์เอเซีย ที่มาเลเซียแล้วว่าจะมีการสนับสนุนเครื่องบินให้เข้ามาเสริมทัพที่ไทยให้อย่างทันท่วงที
เป้าหมายหลักของไทย แอร์เอเชีย คือ เส้นทางบินไทยกับประเทศจีนในแต่ละเมือง จากปัจจุบันมีประมาณ 70 เที่ยวบินต่อสัปดาห์ เพื่อรองรับทิศทางของตลาดผู้โดยสารชาวจีนที่คาดว่าจะกลับมาสูงขึ้นในช่วงปลายปีนี้ แม้ว่าขณะนี้จำนวนนักท่องเที่ยวจีนจะมีปริมาณไม่มากเทียบเท่ากับจำนวนที่มากเหมือนในอดีต หลังจากที่เปิดประเทศอย่างเต็มรููปแบบ
“ในปีหน้าอาจจะมีความเป็นไปได้ว่า เราจะมีฝูงบินรวมมากถึง 60 ลำ เพราะตอนนี้ทุกประเทศก็ดีขึ้นแล้ว จึงทำให้การเดินทางท่องเที่ยวกลับไปสู่จุดที่เติบโต ทุกสายการบินตอนนี้ก็ถือว่าใช้เครื่องบินกันเต็มที่หมดแล้ว อีกทั้งกรุงเทพ ประเทศไทย ของเราถือเป็นจุดหมายปลายทางของนักท่องเที่ยวทั่วโลก ปีหน้าสถานการณ์ยิ่งดีกว่าปีนี้แน่นอน เราจึงต้องเตรียมการไว้” บอสใหญ่ ไทย แอร์เอเชีย กล่าว
ตัวเลขของนักท่องเที่ยวจีนที่เข้ามาในไทยครึ่งปีแรกนี้ มีประมาณ2 ล้านราย และจากนี้น่าจะมีการเดินทางเพิ่มขึ้นเฉลี่ยไม่ต่ำกว่า 1.5 หมื่นรายต่อวัน และผลักดันให้เป็นไปตามเป้าหมายที่วางไว้ 4-5 ล้านราย ปีนี้
แผนรุกไทย แอร์เอเชีย ในเรื่องของฝูงบินนี้มีความชัดเจน อยู่ที่ว่าจะเริ่มเมื่อไรเท่านั้นเอง
โดย ไทย แอร์เอเชีย พยายามที่่จะเปิดเส้นทางบินจีนให้ครบเป็น 138 เที่ยวบิน ซึ่งเป็นจำนวนเท่ากับช่วงก่อนเกิดสถานการณ์โควิด-19 ระบาด (ในปี2562) ภายในช่วงปลายปีนี้ให้ได้ จากปัจจุบันมีเที่่ยวบินไปจีนอยู่ที่ 108 เที่ยวบิน โดยมีเส้นทางบินตรงจากกรุงเทพฯ (สนามบินดอนเมือง) สู่ 11 เมือง ของจีน ด้วยจำนวน 18 เส้นทางบิน เช่น กวางโจว ฉงชิ่ง เสิ่นเจิ้น คุนหมิง หางโจว นานจิง ฉางซา มาเก๊า ซีอาน เป็นต้น
อีกตลาดหนึ่งที่ใหญ่และมองข้ามไม่ได้คือ อินเดีย ซึ่ื่งล่าสุดขณะนี้มีบริการ 8 เส้นทางบิน รวม 70 ไฟล์ท ต่อสัปดาห์ และเตรียมที่จะเปิดเส้นทางบินใหม่ในอินเดีย ไปยังเมือง 'อาห์เมดาบัด' ในปลายปีนี้
นางสาวธันย์สิตา อัครฤทธิรมย์ ผู้อำนวยการฝ่ายการพาณิชย์ กล่าวว่า สายการบิน ไทย แอร์เอเชีย เตรียมแผนที่จะเปิดเส้นทางบินใหม่ไปยัง ปักกิ่ง ในเดือนตุลาคม ปีนี้ ซึ่งถือเป็นอีกเส้นทางหนึ่งที่มีศักยภาพอย่างมาก ส่วนเส้นทางไหนที่มีศักยภาพเพียงพอเราก็พร้อมที่จะเปิดใหม่เช่นกัน
ขณะเดียวกัน หากปีหน้าเราได้เครื่องบินแอร์บัส 321 เข้ามาเพิ่มอีก 1 ลำ จากเดิมที่มีอยู่แล้ว 2 ลำ ก็จะยิ่งทำให้เราสามารถเพิ่มเที่ยวบินไปญี่ปุ่่นที่มีระยะทางไกลขึ้นไปอีกได้อีกอย่างน้อย 2เส้นทาง เช่น โอกินาว่า ฮิโรชิม่า จากเดิมที่มีเพียงฟูกูโอกะ
ส่วนตลาดในประเทศก็จะขยายตลาดควบคุ่กันไป โดยเฉพาะเส้นทางบินใหม่ๆเพื่อเพิ่มโอกาสในการทำตลาดมากขึ้น เช่นมีแผนที่จะเปิดเส้นทางบินเพิ่มในจังหวัดเลย และ ชุมพร ในไตรมาส3 ของปีนี้
หัวเรือใหญ่ของ ไทย แอร์เอเชีย สำทับด้วยว่า “เงินเยนอ่อนขนาดนี้ ผมลุยตลาดญี่ปุ่นเต็มที่แน่นอน”
*** “จีน-อินเดีย” ตลาดใหญ่แต่ปัญหาท้าทาย
อย่างไรก็ตาม แม้ว่า จีน กับ อินเดีย เป็นตลาดที่ใหญ่ แต่ในอีกมุมหนึ่งก็มีปัญหาเช่นกันในวลานี้ ซึ่งก็อาจจะไม่ใช่เรื่องง่ายนัก ในการดึงนักท่องเที่ยวจีนและอินเดีย กลับมาในเร็ววัน เพราะขณะนี้ จีนเอง ก็ประสบกับปัญหาการชะลอตัวของภาวะเศรษฐกิจอย่างหนัก ส่งผลต่อกำลังซื้อที่ลดลงด้วย ประกอบกับทางการจีนเองก็รณรงค์ให้คนจีนหันมาเที่ยวในประเทศจีนกันเองมากขึ้นเพื่อสร้างการหมุนเวียนในระบบ
ล่าสุดนี้ก็มีธุรกิจยักษ์ใหญ่ด้านอสังหาริมทรัพย์ของเอกชน ต้องเข้าสู่แผนฟื้นฟู ยิ่งสร้างผลกระทบหนักขึ้นไปอีก รวมไปถึงข่าวที่ในแง่ลบต่างที่ๆเกิดขึ้นมาก่อนหน้านี้ ทำให้คนจีนขาดความเชื่อมั่นมาไทย อย่างไรก็ตามในช่วงที่ผ่านมาหน่วยงานที่เกี่ยวข้องของภาครัฐ ได้เข้ามาแก้ไขปัญหาและสถานการณ์ให้ดีขึ้น เช่น แคมเปญเที่ยวไทยปลอดภัย เป็นต้น
รวมถึง ประเด็นเกี่ยวกับการพิจารณายกเว้นการเก็บค่าธรรมเนียมวีซ่า ณ ด่านตรวจคนเข้าเมือง (Visa on Arrival) เป็นการชั่วคราว (ระยะเวลา 6 เดือน) ให้กับนักท่องเที่ยวชาวจีน เพื่อกระตุ้นให้มีการเดินทางมายังประเทศไทยเพิ่มมากขึ้น โดยปัจจุบันมีค่าธรรมเนียม 2,000 บาทต่อคน
ขณะที่ทางด้านตลาดอินเดียนั้น. ก็ยังมีข้อจำกัดในประเด็นของ การขยายสิทธิการบิน การขนส่งอากาศไทย – อินเดีย ซึ่งหากมีการแก้ไขให้สามารถเพิ่มความถี่ในการขนส่งทางอากาศในตลาดเอเชียใต้ และ 6 เมืองหลักของอินเดีย ประกอบด้วย นิวเดลี มุมไบ บังกาลอร์ โกลกาตา เชนไน ไฮเดอราบาด ก็จะเป็นการดี ซึ่งนักท่องเที่ยวชาวอินเดียเป็นหนึ่งในตลาดสำคัญของการท่องเที่ยวไทยด้วย
*** ชงรัฐ 3 ข้อเสนอฟื้นตลาด
อย่างไรก็ตาม เรื่องนี้เป็นปัญหาที่เอกชนไม่สามารถดำเนินการได้เอง จึงเป็นเรื่องที่ต้องให้ภาครัฐเข้ามาจัดการ ซึ่งทางวงการธุรกิจการบินขอเสนอที่จะให้รัฐบาลชุดใหม่เข้ามาช่วยดูแลแก้ไข เพื่อให้อุตสาหกรรมการบิน การท่องเที่ยวของไทยไปในทิศทางที่ดีขึ้นต่อเนื่อง โดยสรุป 3 ประเด็นคือ
1. การสนับสนุนนโยบายและเเคมเปญกระตุ้นการท่องเที่ยวไทยต่อเนื่อง เช่น การออกเแคมเปญส่งเสริมการท่องเที่ยวภายในประเทศ ลดต้นทุนการท่องเที่ยวให้กับนักท่องเที่ยวภายในประเทศ หรือโครงการส่งเสริมการท่องเที่ยวเมืองรอง เพื่อกระจายเศรษฐกิจให้เติบโตทั่วภูมิภาค
2.การพิจารณายกเว้นการเก็บค่าธรรมเนียมวีซ่า ณ ด่านตรวจคนเข้าเมือง (Visa on Arrival) เป็นการชั่วคราว (ระยะเวลา 6 เดือน) ให้กับนักท่องเที่ยวชาวจีน เพื่อกระตุ้นให้มีการเดินทางมายังประเทศไทยเพิ่มมากขึ้น โดยปัจจุบันมีค่าธรรมเนียม 2,000 บาทต่อคน
3. การขยายสิทธิการบิน การขนส่งอากาศไทย – อินเดีย ให้สามารถเพิ่มความถี่ในการขนส่งทางอากาศในตลาดเอเชียใต้ และ 6 เมืองหลักของอินเดีย ประกอบด้วย นิวเดลี มุมไบ บังกาลอร์ โกลกาตา เชนไน ไฮเดอราบาด
**** ผลประกอบการเชิดหัวขึ้น
นายไพรัชล์ พรพพัฒนนางกูร ประธานเจ้าหน้าที่บริหารการเงิน กล่าวว่า สำหรับผลประกอบการของ ไทย แอร์เอเชีย ไตรมาสที่2ปี2566 ล่าสุด มีผู้โดยสารรวม 4.64 ล้านคน มีอัตราขนส่งผู้โดยสาร 89% (โดยอัตราการขนส่งผู้โดยสาร (Load Factor)เที่ยวบินระหว่างประเทศ เฉลี่ย 83% และ Load Factor ผู้โดยสารเที่ยวบินในประเทศอยู่ที่ 94% ซึ่งเป็นจำนวนผู้โดยสารที่กลับมามากกว่าช่วงโควิดแล้ว) และใช้เครื่องบินปฎิบัติการรวม 45 ลำ มีรายได้รวม 10,398 ล้านบาท มีEBITDA 1,817 ล้านบาท ขาดทุน 1,013 ล้านบาท
ส่วนไตรมาสที่1ปี2566 มีจำนวนผู้โดยสารรวม 4.58 ล้านคน มีอัตราขนส่งผู้โดยสาร 92% ใช้เครื่องบินปฎิบัติการ 45 ลำ มีรายได้รวม 9,815 ล้านบาท มีEBITDA 1,741 ล้านบาท กำไร 359 ล้านบาท
โดยไตรมาส2ปี2566 สรุปภาพสำคัญ คือ มีส่วนแบ่งทางการตลาด 37% และในช่วง 3 ไตรมาสย้อนหลังพบว่ามีEBITDAเป็นบวกติดต่อกัน มีส่วนแบ่งการตลาดอันดับ1ในแง่ของการขนส่งผู้โดยสารเส้นทางไทย-จีน จำนวน 3.2 แสนคน มีอัตราการขนส่งผู้โดยสารเที่ยวบินภายในประเทศ 94% ในครึ่งปีแรกขนส่งผู้โดยสารได้แล้วทั้งหมด9.2 ล้านคน จากเป้าหมายทั้งปี2566ที่วางไว้ประมาณ 20 ล้านคน
นายสันติสุข กล่าวสรุปว่า ครึ่งปีหลัง 2566 นี้เป็นโอกาสที่ดีของอุตสาหกรรมท่องเที่ยวเเละการบิน เนื่องจากธุรกิจเริ่มมีเสถียรภาพที่ชัดเจน สร้างผลกำไรเเละการดำเนินงานที่เป็นบวกต่อเนื่อง สำหรับแอร์เอเชียในช่วงที่ผ่านมา เรามีตลาดภายในประเทศที่เเข็งเเกร่งมาก โดยไตรมาสที่ 2/2566 มีส่วนเเบ่งทางการตลาดสูงสุดอยู่ที่ร้อยละ 37 มีอัตราขนส่งผู้โดยสารเฉลี่ยร้อยละ 94 ถึงแม้จะเริ่มเข้าสู่นอกฤดูกาลท่องเที่ยวเเล้วก็ตาม สำหรับตลาดต่างประเทศ ปัจจุบันสามารถฟื้นตัวได้ดีตามลำดับ โดยเฉพาะในตลาดอาเซียนเเละอินเดีย ที่กลับมาให้บริการได้ครบทุกเส้นทางเเล้ว ในขณะที่ตลาดจีนยังทยอยกลับมาเติบโต เนื่องด้วยสภาพเศรษฐกิจและปัจจัยเเวดล้อม