xs
xsm
sm
md
lg

สรุปข่าวเด่นในรอบสัปดาห์ 20-26 ส.ค.2566

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



1."ทักษิณ" กลับไทยแล้ว เข้าเรือนจำไม่ทันข้ามวัน ออกมานอน รพ.ตำรวจ ราชทัณฑ์บอก เจ้าตัวแน่นหน้าอก-ความดันขึ้น "ศรีสุวรรณ" ยื่น ป.ป.ช.สอบราชทัณฑ์ช่วยทักษิณหรือไม่!

เมื่อวันที่ 22 ส.ค. นายทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกฯ ที่หลบหนีคดีไปต่างประเทศตั้งแต่ปี 2551 ได้เดินทางกลับประเทศไทยด้วยเครื่องบินส่วนตัว จากสิงคโปร์ มาถึงสนามบินดอนเมือง ที่อาคารผู้โดยสารอากาศยานส่วนบุคคล (MJETS) เมื่อเวลาประมาณ 08.55 น.

หลังจากนั้น นายทักษิณได้ออกมากราบพระบรมฉายาลักษณ์พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว และสมเด็จพระนางเจ้าพระบรมราชินี หน้าอาคาร MJETS แล้วโบกมือทักทายแกนนำและสมาชิกพรรคเพื่อไทย รวมทั้งคนเสื้อแดงที่มาต้อนรับ โดยมี น.ส.แพทองธาร น.ส.พินทองทา และนายพานทองแท้ ชินวัตร บุตรทั้ง 3 คน ยืนอยู่ข้างๆ

ต่อมา พ.ต.อ.คมวุฒิ จองบุญวัฒนา ผู้กำกับการด่านตรวจคนเข้าเมือง ท่าอากาศยานกรุงเทพ กองบังคับการตรวจคนเข้าเมือง 2 ได้นำนายทักษิณ บุคคลตามหมายจับ 3 คดี เดินทางไปส่งตัวให้ศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง

ด้านศาลได้รับตัวนายทักษิณ ในฐานะจำเลยไว้ พร้อมแจ้งให้จำเลยทราบถึงโทษใน 3 คดี คือ 1.คดีที่นายทักษิณสั่งให้ธนาคารเพื่อการส่งออกและนำเข้าแห่งประเทศไทย (เอ็กซิมแบงก์) ปล่อยกู้ให้รัฐบาลพม่าเอื้อประโยชน์แก่บริษัทในเครือชินคอร์ปฯ ซึ่งศาลลงโทษจำคุก 3 ปี 2.คดีที่นายทักษิณกับพวกรวม 47 คน ออกหวยบนดินโดยไม่มีกฎหมายรองรับ ซึ่งศาล ลงโทษจำคุก 2 ปี และ 3.คดีที่นายทักษิณแก้ไขสัมปทานโทรคมนาคมเอื้อประโยชน์ให้ชินคอร์ปฯ ซึ่งศาลลงโทษจำคุก 5 ปี

ทั้งนี้ แม้จะมีโทษจำคุก 3 คดี แต่เนื่องจากบางคดี ไม่ได้นับโทษต่อ จึงมีเพียง 2 คดีที่นับโทษต่อ คือ 3 ปี และ 5 ปี รวมจำคุก 8 ปี หลังจากนั้นเจ้าหน้าที่ตำรวจได้คุมตัวนายทักษิณ เตรียมเดินทางไปยังเรือนจำพิเศษกรุงเทพฯ

มีรายงานว่า ขบวนรถเจ้าหน้าที่ตำรวจที่คุมตัวนายทักษิณไปยังเรือนจำ มีทั้งรถจักรยานยนต์นำขบวน รถจากสำนักงานตำรวจแห่งชาติ รถหุ้มเกราะ รถพยาบาล ประมาณ 13-14 คัน ก่อนเลี้ยวเข้าไปภายในเรือนจำพิเศษกรุงเทพฯ จากนั้น เจ้าหน้าที่ตำรวจได้ปิดประตูรั้วทันที โดยมีมวลชนคนเสื้อแดงให้กำลังใจเป็นจำนวนมาก และปักหลักหน้าเรือนจำฯ

หลังนายทักษิณเดินทางเข้าเรือนจำฯ ได้ไม่นาน นายสหการณ์ เพ็ชรนรินทร์ รองปลัดกระทรวงยุติธรรม พร้อมด้วยนายอายุตม์ สินธพพันธุ์ อธิบดีกรมราชทัณฑ์ และคณะ ได้แถลงข่าว โดยนายอายุตม์ กล่าวว่า หลังรับตัวนายทักษิณ กรมราชทัณฑ์ได้ดำเนินการตามนโยบาย 3 ประการ คือ 1.ดูแลเรื่องความปลอดภัยของนายทักษิณ เพราะภายในเรือนจำมีผู้ต้องขังจำนวนมาก อาจเกิดความไม่ปลอดภัย จึงต้องแยกคุมขังคนเดียว 2.การเยี่ยมญาติ เนื่องจากเป็นบุคคลสำคัญ อาจมีครอบครัว องค์กรสิทธิฯ ทั้งในและต่างประเทศมาเข้าพบ ซึ่งจะจัดเตรียมสถานที่ให้เหมาะสม และ 3.นายทักษิณเป็นผู้สูงอายุ ต้องดูแลเรื่องสุขภาพเป็นหลัก เพราะประวัติข้อมูลมีหลายโรค ป้องกันไม่ให้มีการเจ็บป่วย ระหว่างถูกคุมขัง

นายอายุตม์ กล่าวด้วยว่า “หลังนายทักษิณก้าวเข้าสู่เรือนจำได้ใส่เสื้อสีขาว กางเกงสีกรมท่า เดินไปจุดทำประวัติ พบอาการยังเป็นปกติ ไม่มีสีหน้ากังวลแต่อย่างใด ส่วนการตัดผมเป็นตามระเบียบ แต่ไม่ถึงต้องกล้อนผม เพราะนายทักษิณเป็นผู้สูงอายุ”

ด้านนายสิทธิ กล่าวว่า ตรวจสุขภาพนายทักษิณ เบื้องต้นพบว่าเป็นกลุ่มเปราะบางอายุเกิน 70 ปี ดูจากประวัติการรักษา พบว่ามีโรคประจำตัวต้องเฝ้าระวังและรักษาอย่างต่อเนื่อง โดยได้แยกขังเดี่ยวอยู่แดน 7 ซึ่งเป็นสถานพยาบาล 2 ชั้น แยกซอยเป็นห้องๆ ลูกกรง ติดพัดลม และเฝ้าระวัง 24 ชั่วโมง และว่า ขั้นตอนการทำเรื่องอภัยโทษ ผู้ต้องขังสามารถยื่นเรื่องได้ทันทีภายหลังเข้าเรือนจำ

ขณะที่ นพ.วัฒน์ชัย เผยว่า จากการตรวจสุขภาพนายทักษิณ พบประวัติเป็น 4 โรค คือ 1.โรคกล้ามเนื้อหัวใจขาดเลือด ต้องทานยาละลายลิ่มเลือด 2.โรคปอดอักเสบรุนแรง จากการเคยเป็นโควิด-19 แม้รักษาหายแล้วแต่เป็นพังผืดในปอด 3.ความดันโลหิตสูง ต้องรักษาโดยการรับประทานยา และ 4.ภาวะเสื่อมตามอายุ ซึ่งปัจจุบันนายทักษิณมีอายุ 74 ปี มีภาวะกระดูกสันหลังเสื่อม และมีการกดทับเส้นประสาท ทำให้การเดินทรงตัวผิดปกติ แต่สามารถช่วยเหลือตัวเองได้ จึงเข้าข่ายเป็นกลุ่มเปราะบาง จำเป็นต้องอยู่ในพื้นที่เฝ้าระวัง

เป็นที่น่าสังเกตว่า ช่วงเช้าวันต่อมา (23 ส.ค.) นายสิทธิ สุธีวงศ์ รองอธิบดีกรมราชทัณฑ์ในฐานะโฆษกประจำกรมราชทัณฑ์ เผยว่า กรมฯ ได้รับรายงานจากเรือนจำพิเศษกรุงเทพฯ ว่า เมื่อเวลา 23.59 น. ของวันที่ 22 ส.ค. พัศดีเวรได้รายงานว่า นายทักษิณมีอาการนอนไม่หลับ แน่นหน้าอก วัดความดันโลหิตสูง ระดับออกซิเจนปลายนิ้วต่ำ ซึ่งโรงพยาบาลราชทัณฑ์ยังขาดเครื่องมือทางการแพทย์ที่มีศักยภาพ จึงเห็นควรส่งตัวไปโรงพยาบาลตำรวจที่มีความพร้อมสูงกว่า เนื่องจากมีโรคที่ต้องเฝ้าระวังเป็นพิเศษคือ โรคหัวใจ

ทั้งนี้ การระบุว่านายทักษิณมีอาการป่วยหลายโรค และอาการกำเริบ จำเป็นต้องย้ายจากเรือนจำไปรักษาที่โรงพยาบาลภายนอก ทั้งที่เพิ่งเข้าเรือนจำวันแรก ได้เกิดกระแสวิพากษ์วิจารณ์นายทักษิณอย่างกว้างขวาง เนื่องจากก่อนหน้านี้ขณะที่อยู่ต่างประเทศ นายทักษิณเคยโชว์ความแข็งแรงด้วยการออกกำลังกายหลายประเภท เช่น ว่ายน้ำ เตะเป้า ยกดัมเบลล์ ขณะที่ก่อนหน้านี้ น.ส.แพทองธาร ก็เคยโพสต์ยืนยันหลังนายทักษิณตรวจสุขภาพพบว่า แข็งแรงดี จึงย้อนแย้งกับการป่วยหลังเข้าเรือนจำไม่กี่ชั่วโมง

นอกจากนี้ยังมีรายงานว่า การเข้ารักษาตัวใน รพ.ตำรวจ นายทักษิณได้อยู่ห้องวีไอพี ชั้น 14 มองเห็นทัศนียภาพภายนอกที่สวยงาม อย่างไรก็ตาม ในเวลาต่อมา พล.ต.ท.โสภณรัชต์ สิงหจารุ นายแพทย์ใหญ่ รพ.ตำรวจ ได้ออกมาระบุว่า ห้องชั้น 14 ที่นายทักษิณอยู่ เดิมชั้นดังกล่าวใช้เป็นพื้นที่กักตัวผู้ป่วยโควิด-19 ปัจจุบันเครื่องปรับอากาศใช้งานไม่ได้ ต้องใช้พัดลม 2 ตัวระบายอากาศแทน และห้องพักของนายทักษิณก็ไม่ได้อยู่ฝั่งที่มองเห็นทัศนียภาพภายนอก เนื่องจากฝั่งดังกล่าวติดกระจก อากาศร้อน

"แพทย์ได้ทำการรักษาด้วยการให้น้ำเกลือ พร้อมระดมทีมแพทย์ตั้งเป็นคณะรักษารวม 6 ท่าน มีหมอเชี่ยวชาญด้านหัวใจ ปอด และโควิด-19 อยู่ในทีมดังกล่าว ซึ่งนายทักษิณไม่ได้ใส่เครื่องพันธนาการ เนื่องจากตามกฎหมายผู้ป่วยต้องโทษที่มีอายุน้อยกว่า 16 ปี หรือมากกว่า 70 ปีขึ้นไปไม่ต้องใส่เครื่องพันธนาการ เพราะจะทำให้การรักษาเกิดความยุ่งยาก"

ทั้งนี้ วันต่อมา (24ส.ค.) เครือข่ายนักศึกษาประชาชนปฏิรูปประเทศไทย (คปท.) นำโดย นายพิชิต ไชยมงคล พร้อมมวลชนจำนวนมาก ได้เดินทางไปยื่นหนังสือถึงนางพงษ์สวาท นีละโยธิน ปลัดกระทรวงยุติธรรม เพื่อขอให้ตรวจสอบการดำเนินการเกี่ยวกับการควบคุมตัวนายทักษิณ ของนายอายุตม์ สินธพพันธุ์ อธิบดีกรมราชทัณฑ์ เนื่องจากมีข้อสงสัยหลายประการ ซึ่งเป็นการอำนวยความสะดวกให้นายทักษิณ ไม่ต้องปฏิบัติตัวตามระเบียบการควบคุมตัวเหมือนกับนักโทษรายอื่นๆ ทำให้เกิดความเหลื่อมล้ำไม่เท่าเทียมกัน

"คปท.เห็นว่า อาการป่วยของนักโทษชายทักษิณ อาจไม่ได้เกิดขึ้นจริง หรือมีอาการรุนแรงตามถ้อยแถลงของกรมราชทัณฑ์ ...นักโทษสูงวัยรายอื่นๆ กรมราชทัณฑ์จะจัดการดูแลอย่างเท่าเทียมกันทุกรายหรือไม่ หรือจะให้อภิสิทธิ์เยี่ยงนี้เกิดขึ้นเฉพาะราย จนเกิดคำกล่าวขานว่า “คุกมีไว้ขังเฉพาะคนจน”

วันเดียวกัน นายศรีสุวรรณ จรรยา ผู้นำองค์กรรักชาติ รักแผ่น ได้ยื่นหนังสือเรียกร้องให้คณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) ตรวจสอบการทำหน้าที่ของผู้บริหารกรมราชทัณฑ์ว่า เป็นการช่วยเหลือนายทักษิณ เป็นกรณีพิเศษหรือไม่ หลังส่งตัวนายทักษิณจากเรือจำกลางพิเศษกรุงเทพฯ ไปรักษาที่โรงพยาบาลตำรวจ และเป็นการเลือกปฎิบัติต่อนายทักษิณหรือไม่

2.“เศรษฐา" ผ่านฉลุย รัฐสภาโหวตเห็นชอบเป็นนายกฯ คนที่ 30 ให้คำมั่นหลังโปรดเกล้าฯ จะทุ่มเททำงานด้วยความซื่อสัตย์โดยไม่รู้จักเหน็ดเหนื่อย!


เมื่อวันที่ 22 ส.ค. ได้มีการประชุมร่วมกันของรัฐสภา เพื่อโหวตเลือกนายกรัฐมนตรี ตามมาตรา 272 ของรัฐธรรมนูญ โดย นพ.ชลน่าน ศรีแก้ว ส.ส.น่าน และหัวหน้าพรรคเพื่อไทย ได้ลุกขึ้นเสนอชื่อนายเศรษฐา ทวีสิน แคนดิเดตนายกรัฐมนตรีจากพรรคเพื่อไทย โดยไม่มีผู้ใดเสนอชื่อแข่ง หลังจากนั้น นายวันมูหะมัดนอร์ มะทา ประธานรัฐสภา ได้เปิดให้สมาชิกได้อภิปรายคุณสมบัติของนายเศรษฐา ก่อนที่จะให้มีการลงมติในเวลาประมาณ 15.00 น.

หลังลงมติโหวตนายกฯ ด้วยวิธีการขานชื่อสมาชิกรัฐสภาเรียงตามตัวอักษรจนแล้วเสร็จ ผลปรากฏว่า นายเศรษฐาได้รับความเห็นชอบด้วยคะแนน 482 ต่อ 165 เสียง งดออกเสียง 81 เสียง เป็นอันว่า นายเศรษฐาได้รับคะแนนเสียงเกินกึ่งหนึ่งของจำนวนสมาชิกที่มีอยู่ของรัฐสภา ถือว่ามติที่ประชุมรัฐสภาเห็นชอบให้นายเศรษฐาดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรี ตามรัฐธรรมนูญฯ มาตรา 272 หลังจากนั้นประธานได้สั่งปิดการประชุม

ต่อมา นายเศรษฐา ทวีสิน ว่าที่นายกรัฐมนตรี ได้แถลงที่พรรคเพื่อไทยว่า วันนี้ตนรู้สึกเป็นเกียรติอย่างยิ่งที่ได้รับเลือกเป็นนายกฯ คนที่ 30 ตนอยากขอขอบคุณประชาชนคนไทยทุกคน พรรคร่วมรัฐบาล สส. สว. ทุกท่านที่ร่วมในการโหวตในวันนี้ ตนพยายามทำหน้าที่ให้ดีที่สุด จะลืมความเหน็ดเหนื่อยที่ผ่านมา ยกระดับความเป็นอยู่ของประชาชนคนไทยทุกคน และว่า ขั้นตอนต่อไปต้องรอพระบรมราชโองการโปรดเกล้าฯ ก่อน อย่างไรก็ตาม ขณะนี้ได้มีพรรคร่วมรัฐบาลโทรศัพท์มาแสดงความยินดีแล้ว

มีรายงานว่า คะแนนเสียงเห็นชอบให้นายเศรษฐาเป็นนายกฯ 482 เสียง เป็นเสียงของพรรคร่วมรัฐบาล 11 พรรค ที่ลงมติไปในแนวทางเดียวกันอย่างพร้อมเพรียง ไม่มีใครแตกแถว ยกเว้น พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ ส.ส.บัญชีรายชื่อ หัวหน้าพรรคพลังประชารัฐ ที่ไม่ได้มาร่วมประชุม และ ร.ต.อ.เฉลิม อยู่บำรุง ส.ส.บัญชีรายชื่อ พรรคเพื่อไทย ที่แจ้งขอลาป่วย ขณะที่กลุ่ม สว. อีก 152 คน ที่เห็นชอบนายเศรษฐา เป็นนายกฯ ส่วนใหญ่เป็น สว.สายทหารในฝั่งของ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และ รมว.กลาโหม ส่วนกลุ่มไม่เห็นชอบให้นายเศรษฐาเป็นนายกฯ เป็น ส.ส.พรรคก้าวไกล สำหรับคะแนนงดออกเสียง 81 เสียง ส่วนใหญ่เป็นของ สว.บางส่วน และพรรคไทยสร้างไทย

ทั้งนี้ ช่วงเย็นวันเดียวกัน (23 ส.ค.) ได้มีพิธีรับสนองพระบรมราชโองการโปรดเกล้าฯ แต่งตั้งนายเศรษฐา ทวีสิน เป็นนายกรัฐมนตรี ที่พรรคเพื่อไทย โดยมี สส.พรรคเพื่อไทย และตัวแทนจากพรรคร่วมรัฐบาล เข้าร่วมพิธี

หลังจากพิธีรับสนองพระบรมราชโองการฯ เสร็จสิ้น นายเศรษฐา นายกรัฐมนตรี กล่าวว่า “ในโอกาสที่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว มีพระบรมราชโองการโปรดเกล้าโปรดกระหม่อม ให้กระผมดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรี นับเป็นศุภสิริมงคลแก่ชีวิตและขวัญกำลังใจอันสูงสุด แก่กระผมและครอบครัวอย่างหาที่สุดมิได้

“กระผมมีความปลื้มปีติและน้อมสำนึกในพระมหากรุณาธิคุณเป็นล้นพ้น และขอเทิดทูนไว้เหนือเกล้าเหนือกระหม่อม ทั้งจักมุ่งมั่นปฏิบัติหน้าที่อย่างเต็มกำลัง ด้วยความซื่อสัตย์สุจริต
เพื่อประโยชน์สุขของประชาชนและความวัฒนาสถาพรของประเทศชาติ สนองพระราชปณิธานตามพระปฐมบรมราชโองการ และตามเจตนารมณ์ของรัฐธรรมนูญทุกประการ...

“พี่น้องประชาชนคนไทยที่เคารพ ผมขอยืนยันว่า ผมจะทุ่มเททำงานตามมาตรฐานจริยธรรมด้วยความซื่อสัตย์สุจริต ยึดถือผลประโยชน์ของประเทศชาติและประชาชนเป็นสำคัญ ผมมั่นใจว่า 4 ปีต่อจากนี้ จะเป็น 4 ปีแห่งการเปลี่ยนแปลง

“ประเทศไทยวันนี้อยู่ท่ามกลางจุดเปลี่ยนสำคัญ เรามีวิกฤตและปัญหาที่ต้องการทางออกอย่างเร่งด่วน
...ผมมีความประสงค์ที่จะดำเนินนโยบายต่างๆ ที่ได้เตรียมไว้เพื่อแก้ไขวิกฤต บรรเทาปัญหา สร้างการพัฒนา การเปลี่ยนแปลงในระดับมหภาค ไปจนถึงในภาคของครัวเรือน ...ผมมีความตั้งใจที่จะประสานประชาชนคนไทยทุกภาคส่วน สร้างสังคมที่เคารพอัตลักษณ์ เคารพความแตกต่างทางความคิด และเคารพกฎกติกาในกรอบระเบียบและกฎหมาย...

“ผม นายเศรษฐา ทวีสิน จะขอทำหน้าที่นายกรัฐมนตรีที่ไม่รู้จักคำว่าเหน็ดเหนื่อย เป็นรัฐบาลที่จะทุ่มเท ทำงานหนัก รับฟังเสียงของประชาชน นำความสามัคคีกลับคืนสู่คนในชาติ นำพาประเทศไทยไปข้างหน้า และสร้างอนาคตที่ดีกว่าให้กับลูกหลานของพวกเราทุกคน นับจากวันนี้เป็นต้นไป”

3. "เศรษฐา-บิ๊กตู่" สร้างประวัติศาสตร์ 2 นายกฯ พบปะก่อนรับไม้ต่อ สุดชื่นมื่น "เศรษฐา" ชม "บิ๊กตู่" เป็นผู้ใหญ่ที่น่าเคารพ เผย "บิ๊กตู่" ฝากดูแลชาติ-ศาสน์-กษัตริย์!



เมื่อวันที่ 23 ส.ค. พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม ได้กล่าวหลังการประชุมคณะรัฐมนตรี โดยแสดงความยินดีกับนายเศรษฐาที่ได้รับเสียงโหวตจากที่ประชุมรัฐสภาให้เป็นนายกรัฐมนตรี "ก็คงต้องแสดงความยินดีกับคุณเศรษฐาอีกครั้งหนึ่ง และขอให้ประสบความสำเร็จในการบริหารราชการแผ่นดินในโอกาสต่อไป..."

ผู้สื่อข่าวถามว่า จะมีประเพณีใหม่ในการเชิญนายกรัฐมนตรีคนใหม่มาหารือ ก่อนที่จะส่งมอบงานหรือไม่ พล.อ.ประยุทธ์ กล่าวว่า เดี๋ยวดูสถานการณ์ก่อน วันนี้ก็แสดงความยินดีแล้ว ในนามของ ครม.ด้วย

วันต่อมา (24 ส.ค.) นายเศรษฐา นายกรัฐมนตรีคนที่ 30 ได้เข้าพบ พล.อ.ประยุทธ์ ที่ทำเนียบรัฐบาล โดย พล.อ.ประยุทธ์ ได้กล่าวทักทายนายเศรษฐา รวมทั้งได้พานายเศรษฐาเยี่ยมชมบริเวณภายในตึกไทยคู่ฟ้าอย่างอารมณ์ดีและยิ้มแย้มแจ่มใสทั้งสองคน หลังพบกันเกือบ 1 ชม. พล.อ.ประยุทธ์ ยังได้เดินออกมาส่งนายเศรษฐา เพื่อขึ้นรถบริเวณประตูด้านหน้าตึกไทยคู่ฟ้าด้วย โดยนายเศรษฐาได้ยกมือไหว้ขอบคุณ พล.อ.ประยุทธ์ และ พล.อ.ประยุทธ์ ได้ยกมือรับไหว้ ด้วยสีหน้ายิ้มแย้มแจ่มใสทั้งสองฝ่าย

หลังเดินทางเข้าพรรคเพื่อไทย นายเศรษฐาให้สัมภาษณ์ถึงการเข้าพบ พล.อ.ประยุทธ์ว่า เป็นการไปเยี่ยมเยือนและเป็นการเคารพตามมารยาท และ พล.อ.ประยุทธ์ ฝากความเป็นห่วงบ้านเมือง ตนในฐานะเป็นผู้น้อย และเพิ่งได้รับการแต่งตั้ง จึงเข้าไปพบ เพื่อปรึกษาหารือว่า พล.อ.ประยุทธ์ จะมีอะไรฝากฝังหรือไม่ ซึ่ง พล.อ.ประยุทธ์ ก็น่ารักที่พาชมทำเนียบฯ ด้วย

เมื่อถามว่า พล.อ.ประยุทธ์ ฝากฝังประเด็นอะไรเป็นพิเศษในการบริหารบ้านเมือง นายเศรษฐา กล่าวว่า “ท่านบอกว่า ผมมาจากภาคเศรษฐกิจ วิธีการบริหารก็อาจจะแตกต่างกับการบริหารบ้านเมือง ก็มีหลายภาคส่วนที่ต้องคำนึงถึง ให้ระวังด้วย ให้มีความใจเย็น ให้มีความอดทน ดูแลเรื่องชาติ ศาสน์ กษัตริย์ และนโยบายอะไรดีๆ ที่ท่านทำไว้ก็ฝากดูแลต่อด้วย ซึ่งผมก็จะไปพบปะกับคนที่ทำงานให้ท่านมาด้วย โดยจะมีการนัดกันอย่างต่อเนื่อง อะไรที่คิดว่ามีความเหมาะสม เราก็จะทำต่อ”

เมื่อถามว่า มีการปรึกษาหารือกันถึงตำแหน่งรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหมหรือไม่ นายเศรษฐา กล่าวว่า ไม่มี ก็เป็นการพูดคุยกันธรรมดา เป็นเรื่องที่ทำให้บ้านเมืองเดินต่อไป แล้ววันนี้ต้องก้าวข้ามความขัดแย้ง และมาดูแลบ้านเมืองให้ดี ซึ่ง พล.อ.ประยุทธ์ ได้เน้นย้ำถึงเรื่องนี้

เมื่อถามว่า เจอกันครั้งแรกกับ พล.อ.ประยุทธ์ ท่านเป็นอย่างไรบ้าง นายเศรษฐา กล่าวว่า “เป็นผู้ใหญ่ที่น่าเคารพครับ ไม่มีอะไร ก็คุยกันดีแบบผู้ใหญ่”

เมื่อถามว่า เป็นความตั้งใจนายเศรษฐาหรือไม่ ที่ตั้งใจจะเข้าไปพบปะ พล.อ.ประยุทธ์ อย่างเป็นทางการ หลังรับตำแหน่งนายกรัฐมนตรีอย่างเป็นทางการ นายเศรษฐา กล่าวว่า ใช่ และ พล.อ.ประยุทธ์ ก็บอกว่า เป็นครั้งแรก เป็นประวัติศาสตร์ที่นายกรัฐมนตรีสองคนมาพูดคุยแลกเปลี่ยนไอเดียกัน ฝากฝังบ้านเมืองกัน ซึ่งตนถือว่าเป็นเรื่องที่ดี

เมื่อถามว่า มองว่า ภาพที่เกิดขึ้นวันนี้ จะสามารถลบภาพความขัดแย้งที่เกิดขึ้นในอดีตได้หรือไม่ นายเศรษฐา กล่าวว่า คิดว่าคงลำบาก เรื่องความขัดแย้งที่มีอยู่ ซึ่งตนคิดว่าไม่ใช่พบปะกันหนเดียวแล้วจะจบกันไป ต้องให้เวลาและการกระทำเป็นตัวพิสูจน์ แต่อย่างน้อย ตนก็ทราบเจตนารมณ์ของ พล.อ.ประยุทธ์ ว่า ท่านอยากจะก้าวข้ามความขัดแย้ง และมีความเป็นห่วงบ้านเมืองด้วยความจริงใจ เราต้องทำงานร่วมกันต่อไป

ด้าน พล.อ.ประยุทธ์ ได้ให้สัมภาษณ์ผู้สื่อข่าวหลังประชุมสภากลาโหมถึงกรณีนายเศรษฐาเข้าพบช่วงเช้าวันเดียวกันว่า ฝากดูแลทุกอย่าง ซึ่งท่านก็รับไป ซึ่งตนก็ไม่ได้ไปก้าวล่วงอำนาจ ตนพร้อมส่งมอบงานและข้อมูลต่างๆ เพื่อเป็นแนวทางปฏิบัติในการบริหารราชการต่อไป

เมื่อถามว่า มีงานที่คั่งค้างและฝากนายกฯ คนใหม่หรือไม่ พล.อ.ประยุทธ์ กล่าวว่า ไม่มี ท่านก็คงนำไปพิจารณาและทำต่อ อะไรที่ต้องปรับ ก็ปรับ ส่วนเรื่องสถาบันฝากแล้ว

เมื่อถามว่า ถือเป็นนิมิตหมายที่ดีที่นายกฯ ทั้งสองคนมาเจอกันเพื่อสลายขั้ว สร้างความสามัคคี หรือไม่ พล.อ.ประยุทธ์ กล่าวว่า อย่าไปมองว่าสีไหนเป็นสีไหน เลิกแบ่งสีได้แล้ว วันนี้บ้านเมืองเดินไปข้างหน้า มีรัฐบาลใหม่มา

เมื่อถามว่า มีการตั้งข้อสังเกตว่า กรณีที่นายเศรษฐาได้เป็นนายกฯ เพราะได้รับการสนับสนุนจาก พล.อ. ประยุทธ์ นายกฯ กล่าวว่า ก็อย่าไปมองอย่างนั้นสิ รัฐบาลมาตามขั้นตอนและกระบวนการ เรื่องต่างๆ ในสภาก็เป็นเรื่องของรัฐสภา ตอนนี้อย่าไปสร้างประเด็น หรือคิดเอาเองกัน เขียนออกมาก็ต้องระมัดระวังด้วย วันนี้ขัดแย้งกันไม่ได้แล้ว แต่ทุกอย่างต้องเป็นไปตามกระบวนการ

4. ศาลพิพากษาจำคุก “ปริญญ์ พานิชภักดิ์” 2 ปี 8 เดือน ไม่รอลงอาญา คดีอนาจาร นศ.สาว ด้าน "ทนายษิทรา" เหน็บ อย่าเพิ่งรีบตาย ยังมีอีกหลายคดีรออยู่!



เมื่อวันที่ 22 ส.ค. นายโกศลวัฒน์ อินทุจันทร์ยง รองโฆษกสำนักงานอัยการสูงสุด เผยว่า ได้รับแจ้งจาก น.ส.พัชรา อิสราภรณ์ อัยการฝ่ายคดีอาญากรุงเทพใต้ 3 เจ้าของสำนวนคดีว่า เมื่อวันที่ 10 ส.ค. ศาลอาญากรุงเทพใต้ ได้อ่านคำพิพากษาคดีที่พนักงานอัยการฝ่ายคดีอาญากรุงเทพใต้ 3 เป็นโจทก์ยื่นฟ้องนายปริญญ์ พานิชภักดิ์ อดีตรองหัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ เป็นจำเลย ในความผิดฐานกระทำอนาจารนักศึกษาหญิงรายหนึ่ง โดยพิพากษาจำคุกเป็นเวลา 2 ปี 8 เดือน ไม่รอลงอาญา

จากกรณีเมื่อปี 2564 จำเลยได้ก่อเหตุกระทำอนาจารนักศึกษาสาววัย 18 ปี โดยใช้อุบายหลอกมาคุยเรื่องงานและสอนเรื่องหุ้นที่ร้านอาหารชั้นดาดฟ้าในซอยสุขุมวิท 11 แต่นักศึกษาสาวผู้เสียหายมาร้องทุกข์กับพนักงานสอบสวน สน.ลุมพินี เมื่อเดือน เม.ย. 2565 ซึ่งเป็นคดีแรก หลังจากนั้นก็มีหญิงสาวผู้เสียหายอีกหลายรายเข้ามาแจ้งความเพิ่มเติมอีกหลายคดี

นายโกศลวัฒน์ กล่าวอีกว่า ในวันที่ 25 ก.ย.นี้ ศาลอาญากรุงเทพใต้ยังได้นัดฟังคำพิพาพากษาคดีที่อัยการฝ่ายคดีอาญากรุงเทพใต้ 3 ยื่นฟ้องนายปริญญ์ เป็นจำเลยฐานกระทำอนาจารหญิงสาวอีกคดี ส่วนคดีที่เหลือยังอยู่ระหว่างการสืบพยานในชั้นศาล

วันเดียวกัน (23 ส.ค.) เพจ “ษิทรา เบี้ยบังเกิด เลขาธิการมูลนิธิทีมงานทนายประชาชนฯ” หรือทนายตั้ม ได้โพสต์ถึงกรณีดังกล่าวโดยระบุข้อความว่า “วันนี้ผมมาอัปเดตคดีนายปริญญ์ อดีตรองหัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์นะครับ ศาลพิพากษาให้จำคุก 2 ปี 8 เดือน แบบไม่รอลงอาญา ขอบคุณศาลที่ให้ความเป็นธรรมกับเหยื่อทุกคน และไม่ให้คนกระทำผิดลอยนวล ยังมีอีกหลายคดีรออยู่นะครับคุณปริญญ์ อย่าเพิ่งรีบตาย”

5. ศาลฎีกานักการเมืองชั้นอุทธรณ์พิพากษายืนยกฟ้อง "สุเทพ" กับพวก คดีทุจริตโครงการก่อสร้างโรงพัก-แฟลตตำรวจ ถือว่าคดีเป็นอันสิ้นสุด!



เมื่อวันที่ 22 ส.ค. ศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง ได้นัดอ่านคำพิพากษาชั้นอุทธรณ์ คดีฮั้วประมูลก่อสร้างโรงพักและแฟลตที่พัก ที่คณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) เป็นโจทก์ฟ้องนายสุเทพ เทือกสุบรรณ อดีตรองนายกรัฐมนตรี, พล.ต.อ.ปทีป ตันประเสริฐ อดีตรักษาราชการแทนผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ, พล.ต.ต.สัจจะ คชหิรัญ, พ.ต.ท.สุริยา แจ้งสุวรรณ์, บริษัท พีซีซี ดีเวลล็อปเม้นท์ แอนด์ คอนสตรัคชั่น จำกัด และนายวิศณุ วิเศษสิงห์ พร้อมพวก เป็นจำเลยที่ 1-6 ในความผิดฐานร่วมกันกระทำผิดต่อหน้าที่ราชการในการจัดจ้างโครงการก่อสร้างสถานีตำรวจทดแทน และโครงการก่อสร้างอาคารที่พัก หรือแฟลตตำรวจ จำนวน 396 แห่ง เป็นเหตุให้สำนักงานตำรวจแห่งชาติได้รับความเสียหาย เป็นเงิน จำนวน 1,728 ล้านบาท

โดยก่อนหน้านี้เมื่อวันที่ 20 ก.ย.65 ศาลฎีกาฯ พิเคราะห์เเล้วเห็นว่า จำเลยทั้ง 6 ราย ไม่มีความผิด จึงพิพากษายกฟ้อง ต่อมา ป.ป.ช.โจทก์ ได้ยื่นอุทธรณ์ ขอให้ศาลพิพากษาลงโทษจำเลย

ด้านนายสุเทพ เทือกสุบรรณ อดีตรองนายกรัฐมนตรี ได้ให้สัมภาษณ์ก่อนเข้ารับฟังคำพิพากษาศาลฎีกาฯ ชั้นอุทธรณ์ว่า ในศาลฎีกาชั้นต้น ศาลมีคำพิพากษาว่าไม่มีความผิดตามที่ ป.ป.ช.กล่าวอ้าง และว่า เดิมทีเมื่อศาลฎีกาแผนกคดีอาญาฯ มีคำพิพากษา ถือว่าคดีความสิ้นสุด แต่มีการแก้กฎหมายให้สามารถยื่นอุทธรณ์ได้

ซึ่งวันนี้จะเป็นศาลสุดท้ายแล้ว ต้องรอฟังว่า คำพิพากษาของศาลจะเป็นอย่างไร ส่วนตัวไม่มีความกังวลและมั่นใจ เนื่องจากที่พวกตนออกมาเดินขบวน เพราะต่อต้านการคอรัปชั่น ยืนยันว่าไม่ประพฤติปฏิบัติอะไรที่เป็นการทุจริตคอรัปชั่นแน่นอน แต่หากผลการพิจารณาคดีเป็นอย่างไร ก็นึกถึงคำพระอย่างเดียวว่า "ตถตา มันเป็นอย่างนั้นเอง"

ขณะที่นายสวัสดิ์ เจริญผล ทนายความของนายสุเทพ กล่าวว่า คดีชั้นอุทธรณ์ของศาลฎีกาฯ ถือว่าเป็นชั้นสุดท้ายแล้ว ส่วนความมั่นใจนั้นทั้งทีมทนายและนายสุเทพ ก็มั่นใจ ไม่มีความกังวล ไม่มีความตื่นตระหนก เพราะกระบวนการต่างๆ ได้ผ่านมาหมดแล้ว ทุกอย่างขึ้นอยู่กับพยานหลักฐานที่ได้นำเสนอต่อศาลไปหมดแล้วและได้ต่อสู้คดีอย่างเต็มที่ หลังรอคอย ป.ป.ช.สอบสวนมานานกว่า 10 ปี วันนี้ทุกอย่างจะเป็นไปตามกระบวนการ และในชั้นนี้ไม่มีการยื่นพยานเพิ่มเติมใดๆ เรายังคงเชื่อมั่นในความยุติธรรมตามที่ได้ต่อสู้มาตั้งแต่แรก

วันนี้จึงถือว่าไม่มีอะไรพิเศษ เป็นเรื่องปกติที่ต้องมาตามกระบวนการของศาล และจากการประสานพูดคุยกับจำเลยทั้งหมด ยืนยันว่าจำเลยจะมาครบทุกคน เพื่อไม่ให้เสียกระบวนการนัดของศาล เว้นแต่จำเลยคนหนึ่งคนใดจะมีเหตุจำเป็นบางอย่างที่ไม่อาจก้าวล่วงได้ แต่ไม่มีการประวิงคดีแน่นอนสำหรับจำเลยในคดีนี้

ทั้งนี้ ศาลฎีกาฯ ชั้นอุทธรณ์พิเคราะห์แล้ว พิพากษายืนยกฟ้องจำเลย ทั้ง 6 คน


กำลังโหลดความคิดเห็น